ไม่พบผลการค้นหา
'สุดารัตน์' ชมโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน พร้อมผลักดันเป็นนโยบาย ติงรัฐยังไม่เห็นมาตรการแก้ภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม

วันที่ 7 มี.ค. 2563 ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน ต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พร้อมนายชวลิต วิชยสุทธิ์, นางมนพร เจริญศรี, นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ร่วมลงพื้นที่ชมการบรรยายสรุปจาก ด.ต.พิทักษ์ ต่อยอด ซึ่งได้ศึกษาการทำธนาคารน้ำใต้ดินอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือนและเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งของทุกปีรวมถึงฤดูฝนที่มักประสบปัญหาน้ำท่วม

สุดารัตน์ ธนาคารน้ำใต้ดิน.jpg


โดยหลักการดำเนินโครงการ จะขุดบ่อเพื่อรองรับน้ำซึ่งในช่วงก่อนเข้าสู่หน้าแล้ง น้ำจะพัดลงแม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว จึงนำองค์ความรู้และหลักการของธนาคารน้ำใต้ดินจากหลวงพ่อสมานสิริปัญโญ ประธานสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ วัดอาฮงศิลาวาด อ.เมือง จ.บึงกาฬ มาใช้แก้ไขปัญหาและเป็นรากฐานในการส่งเสริมอาชีพตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบันสามารถดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุนธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดไปแล้วในพื้นที่ ต.บ้านผึ้ง จำนวน 18 บ่อ ซึ่งการจัดการก็เป็นไปตามระบบธนาคาร คือ น้ำเมื่อถูกใช้แล้วจะต้องได้รับการเติมเข้าไปทดแทนเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และกลไกของระบบธรณีวิทยา ตามมาตรฐาน American Ground Water Solutions หรือ AGS รวมถึงได้จัดทำงานวิจัยที่จะนำมาสู่การพัฒนาซึ่งใกล้เสร็จสมบูรณ์ จากนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้งจะได้นำมาเป็นคู่มือเพื่อต่อยอดการพัฒนาต่อไป

สุดารัตน์.jpg

สำหรับกระบวนการทำงานจะเริ่มต้นตั้งแต่เก็บข้อมูลพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำชุมชน และสภาพภูมิประเทศ จากนั้นเป็นขั้นตอนการกำหนดทิศทางของน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำระดับชุมชน ต่อด้วยการเจาะสํารวจชั้นดินเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถดำเนินการเติมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นตอนต่อมาเป็นการวางแผนและกำหนดจุดระบบการเติมน้ำลงในแผนที่ของตำบล ต่อด้วยการออกแบบระบบธนาคารน้ำใต้ดิน การกำหนดงานก่อสร้างตามแผนที่กำหนดไว้ การติดตามประเมินผลและเก็บข้อมูลและการสรุปวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคโอกาสและขยายผลเชื่อมกับโครงการอื่นของพื้นที่

สุดารัตน์.jpg

โดยคุณหญิงสุดารัตน์ มองว่า ธนาคารน้ำจะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการน้ำแล้งและน้ำท่วมได้ ทั้งยังมีต้นทุนต่ำ ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนเป็นนโยบาย ให้เกิดธนาคารน้ำใต้ดินอย่างทั่วถึง รวมถึงการผลักดัน นโยบายอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะการละเลิกใช้สารเคมี ซึ่งภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งซึ่งมีความรุนแรงและจะยาวนานมากกว่าปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในภาคอีสานที่ถูกทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งในปีเดียวกัน ผลผลิตจึงมีน้อยและไม่ได้ราคา ก็ยังไม่เห็นมาตรการที่ชัดเจนเห็นแต่เพียงงบที่ตั้งขึ้นเพื่อขุดบาดาล ซึ่งมีความผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริต