'จอร์จ ฟลอยด์' ไม่ใช่ชาวแอฟริกันอเมริกันรายแรกที่เสียชีวิตระหว่างการจับกุมของตำรวจและคลิปวิดีโอที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์บ่งชี้ว่าตำรวจใช้หัวเข่ากดต้นคอด้านหลังของเขาให้คว่ำลงไปกับพื้น จนหมดสติ เป็นเหตุให้คนอเมริกันจำนวนมากประณามว่า นี่เป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
ผู้ประท้วงจำนวนมากออกมารวมตัวบนท้องถนนในเมืองมินนิแอโพลิส เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ฟลอยด์ นำไปสู่การจลาจลในบางพื้นที่ ทำให้ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และประธานาธิบดีประกาศว่า 'กองทัพ' จะอยู่เคียงข้างเจ้าหน้าที่รัฐ
ตำรวจในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินจากเจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่งบนถนนชิคาโก ระบุว่าชายคนหนึ่งซื้อบุหรี่ด้วยธนบัตรปลอม และมีท่าทางมึนเมา ทั้งยังเป็นชายร่างสูงใหญ่เกือบ 2 เมตร
บทบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างผู้แจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งรับเรื่อง ถูกนำมาเผยแผร่ผ่านสื่อภายหลัง บ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่ถามถึงผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนเชื้อชาติไหน ผิวขาว ผิวดำ ฮิสปานิก ชนพื้นเมือง หรือเอเชีย และผู้แจ้งเหตุตอบว่า เป็นคนผิวดำ
หลังจากนั้นตำรวจ 4 นายมุ่งหน้าไปที่เกิดเหตุ และพบกับ 'จอร์จ ฟลอยด์' วัย 46 ปี นั่งอยู่ในรถส่วนตัวที่จอดอยู่บริเวณร้านดังกล่าว
ตำรวจสั่งให้ฟลอยด์ลงจากรถ และหนึ่งในกลุ่มเจ้าหน้าที่ได้จับฟลอยด์คว่ำหน้าลงกับพื้น พร้อมทั้งใช้เข่ากดที่ด้านหลังคอของฟลอยด์ แม้เขาจะร้องบอกว่า 'หายใจไม่ออก' แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ปล่อยตัว หลังจากผ่านไปหลายนาที ฟลอยด์นิ่งไปเพราะหมดสติ และตำรวจเรียกหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินมายังที่เกิดเหตุ
ฟลอยด์ถูกส่งไปโรงพยาบาล และแพทย์วินิจฉัยว่าเขาเสียชีวิตในเวลาราวหนึ่งชั่วโมงต่อมา
การประท้วงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ประท้วงเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของฟลอยด์ โดยกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนมองว่าการปฏิบัติต่อฟลอยด์เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ทำให้ผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจเผชิญหน้ากันในย่านออโตโซน ไม่ไกลจากสถานีตำรวจเขต 3 มินนิแอโพลิส
ช่วงค่ำมีผู้ประท้วงรายหนึ่ง ซึ่งเป็นชายผิวขาวพร้อมหน้ากากป้องกันแก๊สปิดบังใบหน้า ใช้ค้อนทุบกระจกอาคารสถานีตำรวจ หลังจากนั้นสถานีตำรวจและรถตำรวจในบริเวณก็ถูกเผา และมีชายคนหนึ่งถูกตำรวจยิงเสียชีวิต แต่ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นผู้ก่อเหตุจลาจลหรือเป็นผู้ประท้วงที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง
ที่มา: USA Today
ที่มา: The Guardian
ที่มา: The New York Times
ก่อนที่ฟลอยด์จะเสียชีวิต มีประเด็นทางสังคมที่ชาวแอฟริกันอเมริกันมองว่าเป็นการเลือกปฎิบัติและเกิดจากอคติด้านเชื้อชาติและสีผิวมาก่อนแล้ว โดยเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา 'อาห์มัด อาร์เบอรี' ถูกพ่อลูกชายชาวอเมริกันผิวขาว 2 คนยิงเสียชีวิตขณะกำลังวิ่งออกกำลังกาย
ผู้ก่อเหตุทั้งสองคนระบุว่า อาร์เบอรีมีลักษณะคล้ายขโมยที่บุกรุกบ้านของพวกเขา และถูกบันทึกเหตุการณ์ไว้ในกล้องวงจรปิด แต่อาร์เบอรีไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุดังกล่าว ทำให้พ่อลูกทั้งคู่ถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนตาย
ส่วนกลุ่ม Black Lives Matter ระบุว่า เหตุที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าอคติเรื่องสีผิวในสหรัฐฯ ยังคงอยู่อย่างฝังลึก และย้ำว่า 'ชีวิตคนดำก็มีค่า'
จากนั้นในเดือน มี.ค. 'บรีอันนา เทเลอร์' เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยในเมืองหลุยส์วิลล์ เสียชีวิตที่บ้านพักของตนเอง เนื่องจากตำรวจปราบปรามยาเสพติดพยายามบุกเข้าไปในบ้านของเทเลอร์ช่วงตีหนึ่ง เพื่อจับกุมคนรักของเธอ และมีการยิงตอบโต้กันเกิดขึ้น แต่เทเลอร์ซึ่งไม่มีอาวุธ ถูกยิง 8 นัดเสียชีวิต เพราะอยู่ในที่เกิดเหตุพอดี
ครอบครัวของเทเลอร์ตัดสินใจยื่นฟ้องตำรวจที่ค้นบ้าน โดยระบุว่าพวกเขาไม่ได้แจ้งตัวตนให้ทราบ และไม่ได้ติดกล้องตามตัว ซึ่งเป็นกฎระเบียบในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ต้องบันทึกขั้นตอนทั้งหมดว่าเป็นไปตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ครอบครัวของเทเลอร์มองว่าการไม่ติดกล้องขณะบุกค้นบ้าน เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ ทำให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ได้
ส่วนกรณีของฟลอยด์ที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของ 'อีริก การ์เนอร์' ชาวแอฟริกันอเมริกันในนิวยอร์ก ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหาแยกขายบุหรี่ซองที่ไม่มีอากรแสตมป์เมื่อเดือน ก.ค.2557
การ์เนอร์ถูกเจ้าหน้าที่ล็อกคอจากด้านหลังและกดตัวลงกับพื้น ทำให้เขาร้องขอให้ปล่อยตัว โดยระบุว่า 'หายใจไม่ออก' แต่เจ้าหน้าที่ไม่ฟังคำร้องของการ์เนอร์ และเขาเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ
นอกจากนี้ยังมีกรณีของ 'ไมเคิล บราวน์' วัย 18 ปี ซึ่งถูกตำรวจลาดตระเวนในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี เรียกค้นตัวขณะที่เขาและเพื่อนกำลังเดินอยู่ริมถนนเมื่อเดือน ส.ค.2557 แต่บราวน์ขัดขืนต่อสู้เจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นตำรวจผิวขาว และเจ้าหน้าที่ได้ยิงบราวน์เสียชีวิต
ศพของบราวน์ถูกทิ้งไว้บนถนนนาน 4 ชั่วโมง ท่ามกลางความร้อนของพื้นถนนในฤดูร้อน ทำให้ผู้เห็นเหตุการณ์มองว่าเจ้าหน้าที่ไม่เคารพศพผู้ตาย และการตายของบราวน์ ซึ่งไม่ได้กระทำผิดร้ายแรง ทำให้คนจำนวนมากมองว่านี่เป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อ 'คนผิวดำ' นำไปสู่การประท้วงและจลาจลต่อเนื่องหลายวัน
เหตุการณ์ที่เฟอร์กูสัน ทำให้ผู้ว่าการรัฐมิสซูรีสั่งให้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเข้าแทรกแซงสถานการณ์เช่นเดียวกัน แต่ 'บารัก โอบามา' ประธานาธิบดีในสมัยนั้น ออกคำสั่งให้ อีริก โฮลเดอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน เดินทางไปยังที่เกิดเหตุเพื่อเจรจากับผู้ประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่บราวน์ นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง
รายงานสรุปข้อเท็จจริงกรณีของบราวน์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยิงบราวน์เสียชีวิต ไม่มีความผิดฐานฆาตกรรม แต่มีข้อมูลยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองเฟอร์กูสันมีแนวคิด รวมถึงมีพฤติกรรม 'เลือกปฏิบัติ' ต่อชาวแอฟริกันอเมริกันจริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: