ไม่พบผลการค้นหา
ระบอบเผด็จการเมียนมาประกาศขยายเวลาการบังคับใช้ภาวะฉุกเฉิน ส่งผลให้เกิดการเลื่อนการเลือกตั้งของประเทศยาวนานออกไป หลังจากที่เผด็จการเมียนมาเคยให้สัญญาว่า ตัวเองจะจัดการเลือกตั้งภายในเดือน ส.ค. ทั้งนี้ เมียนมายังคงเกิดการต่อสู้ปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมา กับกองกำลังต่อต้านการทำรัฐประหารทั่วทั้งประเทศ

สื่อของรัฐเมียนมารายงานเมื่อวานนี้ (1 ก.พ.) ว่า มินอ่องหล่ายน์ ผู้นำคณะรัฐประหารเมียนมา ออกมายอมรับว่าพื้นที่เมืองกว่า 2 ใน 3 ของประเทศ ยังคงไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพเมียนมา ทั้งนี้ กองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของ อองซานซูจี ไปตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564 ในขณะที่สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติเมียนมา ได้ประกาศขยายเวลาบังคับใช้ภาวะฉุกเฉินออกไป

เมียนมากำลังประสบกับความบอบช้ำไปทั่วทั้งประเทศ หลังจากเกิดการรบพุ่งกันในหลายพื้นที่ ตลอดจนการปราบปราบผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา ความบอบช้ำจากสงครามยังทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศถอยหลังลงไปยิ่งกว่าเดิม

“ภาวะฉุกเฉินจะถูกขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.” สื่อของรัฐเมียนมารายงานอ้างอิงคำพูดของ มหยิ่นซเว รักษาการประธานาธิบดีเมียนมา ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการเมียนมา ทั้งนี้ การประกาศขยายการใช้ภาวะฉุกเฉิน จะส่งผลให้กำหนดการเลือกตั้งเดิมตามรัฐธรรมนูญของประเทศ ต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดแน่ชัด

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ประณามการขยายเวลาภาวะฉุกเฉิน โดย เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ความพยายามในการยื้อเวลาเป็น “การปกครองที่ไม่ชอบธรรมของกองทัพ และความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นในประเทศ” ทั้งนี้ สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ เพื่อ “ปฏิเสธความน่าเชื่อถือของระบอบการปกครองในระดับสากล” ไพรซ์ยังประณาม “สิ่งที่เรียกว่าการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้ความรุนแรงและความไม่มั่นคงเลวร้ายขึ้น และจะไม่เป็นตัวแทนของประชาชนในประเทศ"

ในขณะเดียวกัน มินอ่องหล่ายน์ ย้ำคำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่เขาย้ำชัดว่ากองทัพจะรักษาบทบาทเด่นของตัวเองเอาไว้ โดย MRTV สื่อของรัฐเมียนมารายงานอ้างคำพูดของ มินอ่องหล่ายน์ ว่า ทหารจะเป็น “ผู้รักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนเสมอ… ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลใดก็ตาม”

การประกาศขยายเวลาภาวะฉุกเฉิน เกิดขึ้นไปพร้อมกันกับการประท้วงเงียบ ด้วยการที่ประชาชนเก็บตัวเงียบอยู่ในบ้าน และปิดร้านค้างดทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดๆ ในวันครบรอบ 2 ปี รัฐประหารเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ชาติตะวันตกหลายชาติได้ประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อเผด็จการเมียนมาเพิ่มเติมอีก ในขณะที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนระบอบเผด็จการเมียนมาเดินขบวนกันในนครย่างกุ้งราว 200 ราย และมีการชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าสถานทูตเมียนมาที่กรุงเทพโดยผู้ชุมนุมราว 400 ราย

มินอ่องหล่ายน์ กล่าวว่า แม้การชุมนุมบนท้องถนนจะยุติลงแล้ว แต่ “ความรุนแรงยังปรากฏอยู่” โดยเผด็จการเมียนมากล่าวหาว่า กลุ่มต่อต้านเผด็จการทหารขัดขวางแผนการเลือกตั้ง “ผู้ก่อการร้ายกำลังก่อความหวาดกลัว ก่อกวน สังหาร และทำลายล้าง” MRTV รายงานอ้างอิงคำพูดของ มินอ่องหล่ายน์

กองทัพเมียนมาอ้างความชอบธรรมในการเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.  2564 โดยอ้างอย่างไม่มีเหตุผลและหลักฐานว่า เมียนมาเกิดการโกงอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐได้รับชัยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย อย่างไรก็ดี ภาวะฉุกเฉินมีกำหนดสิ้นสุดในปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และมีการคาดว่ากองทัพเมียนมาจะประกาศในวันพุธว่าตัวเองมีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง

รายงานเปิดเผยว่า ประชาชนเมียนมามากกว่า 2,900 คนเสียชีวิตจากการปราบปรามผู้เห็นต่าง โดยน้ำมือของกองทัพตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจ และประชาชนมากกว่า 18,000 คนถูกจับกุม นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ เผด็จการเมียนมาได้มีการพิจารณาคดีแบบปิดต่ออองซานซูจี ในวัย 77 ปี โดยเผด็จการทหารได้ตัดสินจำคุกเธอรวมจากคำตัดสินเดิมเป็นเวลากว่า 33 ปีแล้ว ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามว่าเป็นการเล่นละครของเผด็จการ


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2023/feb/02/myanmar-junta-extends-state-of-emergency-delaying-promised-elections?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR1fLSy-DSCPlx9cM_IgXQIkoUVOtzBM2iYokp4JoTpAAYWz8ssGs4c1VyM