นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงในการอภิปรายพ.ร.ก.กู้เงิน 1.1 ล้านล้านบาท ว่า ตอนนี้เรากำลังพูดถึงการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ส่วน พ.ร.ก. อีก 2 ฉบับเป็นสภาพคล่องในระบบอยู่แล้ว ซึ่งเศรษฐกิจในภาพรวมหดตัวตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เริ่มจากที่รัฐบาลเข้ามาทำงาน เนื่องจากสงครามการค้า และจากนั้นก็เป็นการระบาดของโควิด ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบ ประเทศอื่นๆ ในโลกก็ได้รับผลกระทบ
เช่น จีน ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามเงินที่เยียวยาผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งจะส่งผลต่อลูกจ้างและคนตัวเล็ก ซึ่งผูกพันเชื่อมโยงกันหมด รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดูแลเสถียรภาพของทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเสียหายไป เป้าหมายของรัฐบาลต้องการป้องกันไม่ให้วิกฤตสาธารณสุขจากโควิด นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่ลึกและแก้ไขยาก ไม่เหมือนกันวิกฤตต้มยำกุ้งที่เป็นเพียงระดับภูมิภาคและไม่ส่งผลต่อความเป็นความตาย
อย่างไรก็ตาม แนวทางการเยียวยานี้เป็นแนวทางที่ใช้กันทั่วโลก องค์กรการเงินระหว่างประเทศ เช่น IMF หรือ World Bank ก็เสนอแนวทางให้ใช้มาตรการการคลังและการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมตัวสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในขั้นตอนต่อไป พร้อมทั้งเยียวยาประชาชนในกลุ่มเปราะบางก่อน อย่างไรก็ตามที่ ส.ส. หลายคนย้ำว่าต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ตนย้ำว่ารัฐบาลได้ประเมิณงบประมาณทั้งหมดที่มีอยู่แล้ว และการกู้เงินเป็นทางออกสุดท้ายจริงๆ ซึ่งรัฐบาลก็วางกรอบการดำเนินการที่รัดกุม
โดยมีกฎหมาย พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ ทุกวันนี้เข้มงวดกว่าเดิม มีการรายงานรายเดือน และใช้สภาพัฒน์ฯ กับสำนักบริหารหนี้สาธารณะควบคู่กันไป เปรียบเทียบกับ โครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2552 ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์, พ.ร.ก. FIDF3 ปี 2545 และ พ.ร.ก.น้ำ ปี 2555 จะเห็นได้ว่ามีวงเงินตาม พ.ร.ก. ต่อ GDP ไม่ได้สูงที่สุดในประวัติการณ์ การกู้เงินครั้งนี้คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี หรือ 31 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณประเทศ เรามีสัดส่วนการกู้เงินครั้งนี้ไม่ได้กระโดดจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพราะเป็นการกู้เงินในภาวะวิกฤต
นอกจากนี้ การกู้เงินครั้งนี้เราอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายและวินัยการเงินการคลัง ซึ่งในอดีตไม่มีกฎหมายดังกล่าว ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากรอบการบริหารหนี้สาธารณะภายหลังมีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว ณ สิ้นเดือนก.ย.2564 ยังอยู่ในกรอบของกฎหมายแทบทั้งสิ้นผ่านตัวชี้วัดทั้ง 4 ตัว ได้แก่ 1.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 57.96 เปอร์เซ็นต์ จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ 2.สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ 21.2 เปอร์เซ็นต์ จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 35 เปอร์เซ็นต์ 3.สัดส่วนหนี้สาธารณะเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 2.53 เปอร์เซ็นต์ จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10เปอร์เซ็นต์ และ4.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 0.19 เปอร์เซ็นต์ จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ้นต์
"ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉียบพลันจริงๆ ผมเชื่อว่า ส.ส.ก็ไม่ใครคาดคิดได้ก่อนว่าจะมาแรงขนาดนี้ การดำเนินการเยียวยาก็ต้องดำเนินการให้เร็วเช่นกัน ความล่าช้ายอมรับว่าต้องใช้เวลา เพราะเรากำลังใช้งบประมาณแผ่นดินที่ต้องรัดกุม และข้อมูลที่ใช้นั้นข้อมูลประเทศไทยไม่ได้มีความพร้อม ที่จะดำเนินการเยียวยาได้เร็วอย่างที่ควรจะเป็น อย่างผู้ประกอบอาชีพอิสระเราไม่ได้มีข้อมูลว่าเป็นใครที่ไหนบ้าง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องให้มีการลงทะเบียน ครั้นจะจ่ายแบบทุกคน ถ้าทำได้ก็ดี แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในแง่งบประมาณเช่นกัน"
ความห่วงใยรัฐบาลก็มีเมื่อพูดถึงภาระในอนาคต เราไม่ได้นิ่งนอนใจต่อตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ทุกหน่วยงานจะดูแลให้ความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของเรายังคงอยู่และต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศ เรายอมรับว่ามีปัญหาและล่าช้าบ้าง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยดำเนินการเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เรารับฟังทุกด้าน โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานหนักและนำมาปรับวิธีการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ดีที่สุด สำหรับวิกฤตครั้งแรกที่เกิดขึ้นเช่นนี้ แต่ครั้งนี้เราจะมีข้อมูลจำนวนมาก เพื่อเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในอนาคตต่อไป
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า การเปรียบเทียบกับ พ.ร.ก. น้ำ และโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อเอามายกให้การกู้เงินครั้งนี้ดีกว่า ทั้งที่ พ.ร.ก. ที่ยกมาเคยถูกตีตกไปจึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้ ควรถอนออกไป ไม่เช่นนั้นการเอาของที่ไม่มีจริงออกมายกตัวอย่างถือเป็นการพูดเท็จ
ขณะที่นายอุตตม ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ที่แสดงข้อมูล ไม่ได้เปรียบเทียบลักษณะ หรือยกว่า พ.ร.ก. นี้ดีกว่าในอดีต
อ่านเพิ่มเติม