วันที่ 14 ธ.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมอบหมายให้ ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียด ท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ปักหลักกดดันรัฐบาลอยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ซึ่งอยู่ใกล้กับตึกสันติไมตรี ทำเนียบฯ ในการหาข้อยุติปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ และไม่รับข้อเสนอของรัฐบาล ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดใช้แดนภาคใต้ (กพต.) เป็นผู้จัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)
'สุพัฒนพงษ์' เชื่อกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น พอใจข้อเสนอ รบ.
ด้าน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตหรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กล่าวถึงความคืบหน้าการหารือแก้ปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ว่า รายละเอียดทั้งหมดจะให้ ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้แจง ซึ่งขณะนี้มีความชัดเจนแล้ว คาดว่าจะเป็นข้อเสนอที่ยอมรับได้ และได้มีผู้ประสานงานออกไปชี้แจง ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้มีการหารือกับกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วและมองว่าไม่จำเป็นจะต้องออกไปชี้แจงด้วยตนเองอีก เนื่องจากได้ชี้แจงกันอยู่ตลอดเวลา
ส่วนจะเปลี่ยนผู้ดูแลโครงการเป็นสภาพัฒน์ฯ หรือไม่นั้น สุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ต้องดูก่อนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นใคร ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมจะพอใจข้อเสนอหรือไม่นั้น สุพัฒนพงษ์ ระบุว่า น่าจะเป็นที่รับได้และพึงพอใจ
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการยื้อเวลาของรัฐบาล สุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า คงไม่ เพราะเรื่องดังกล่าวนี้เป็นความเดือดร้อนของประชาชน และมีข้อเสนอมาจากทุกฝ่าย และเมื่อสักครู่ก็มีกลุ่มผู้สนับสนุนมายื่นเรื่องด้วยเช่นเดียวกัน บางสิ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว แต่อาจจะยังสื่อสารได้ไม่ตรงกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินว่าหน่วยงานใดจะดำเนินการในส่วนใดบ้าง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ทั้งนี้มีข้อห่วงใยในเรื่องของการดำเนินการต่างๆ ของภาครัฐ จึงขอให้รอผลศึกษาของ SEA ให้มีความชัดเจนก่อน
ทั้งนี้ระหว่างที่ สุพัฒนพงษ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน มีรายงานว่ากลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นจะไม่รับข้อเสนอของทางรัฐบาล ที่จะให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดใช้แดนภาคใต้ (กพต.) มามีส่วนร่วมดูแลเรื่องการประเมิน SEA เพราะกพต. มีอำนาจควบคุม ศอ.บต.โดยนายสุพัฒนพงษ์ ระบุว่า คงต้องพูดคุยกัน จริงเท็จอย่างไรก็ต้องไปดู ซึ่งตนยังไม่ได้รับรายงานผลการเจรจา ทั้งนี้ตนคิดว่าเจตนารมณ์ของรัฐบาล ทำเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย พร้อมกับระบุว่าหากจำเป็นต้องออกไปเจรจาด้วยตนเองก็พร้อมไป เพราะตนไม่ขัดข้องอะไร
ครม.โยน กพต.จัดทำ SEA มอบ 'สุพัฒนพงษ์' แจง
ด้าน ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกรณีการแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ว่า มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ เพื่อไปดำเนินการให้ครบถ้วน เป็นไปตามกฎหมาย พร้อมกับระบุว่าทุกประเด็นได้มีการหารือทำความเข้าใจกับกลุ่มที่ออกมาคัดค้านแล้ว และทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ
ธนกรยัง ระบุอีกว่า ขณะนี้เพิ่งมีมติออกไปจากคณะรัฐมนตรี ส่วนในรายละเอียดจะต้องให้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นผู้ชี้แจง ซึ่งขณะนี้กำลังทำความเข้าใจกันอยู่ แต่ในเรื่องของการทำ SEA จะมีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม ซึ่งตนเชื่อว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ได้
ธนกร กล่าวว่า จริงๆแล้วโครงการในพื้นที่เท่าที่ทราบมีเฉพาะในเรื่องของการดำเนินการสาธารณูปโภคต่างๆเท่านั้น แต่ในการก่อสร้างโครงการต่างๆยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเนื่องจากต้องSEA ก่อน
ส่วนการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีที่ จ.ยะลา ในวันที่ 15 ธ.ค. จะเหมือนเดิมหรือไม่ ธนกรระบุว่า ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ไปดูความคืบหน้าของโครงการต่างๆได้ดำเนินการไป
กลุ่มหนุนโครงการจะนะ หนุนเดินหน้านิคมฯ หวังสร้างงานให้ชาวบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ที่บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายประชาชนจะนะอาสา เพื่อพัฒนาถิ่น ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้มีการเดินหน้าโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตหรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
โดยระบุว่า เป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีส่วนได้เสียกับโครงการดังกล่าว ให้นายกรัฐมนตรีเดินหน้าโครงการนี้เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นความหวังของชาวบ้านในพื้นที่ โครงการนี้จะสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้ชาวบ้าน โดยทางกลุ่มฯได้มีการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านมาแล้ว และเนื่องจากที่ผ่านมามีโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ บางส่วนต้องออกไปหางานทำที่ประเทศมาเลเซีย และเนื่องจากไม่อยากให้ลูกหลานไปเสี่ยงอันตราย ถูกดำเนินคดีจากการข้ามประเทศ โครงการดังกล่าวจึงเป็นโอกาศของชาวบ้านที่จะสามารถประกอบอาชีพได้ ต้องการให้รัฐบาลรับฟังความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง