กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) เผยแพร่แถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยุติการใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคามฝ่ายค้าน ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานและรับรองความปลอดภัยของนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนโดยทันที เพื่อให้ประชาธิปไตย ความยุติธรรม หลักนิติธรรมฟื้นคืนมาในประเทศไทย
ไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย ไร้อำนาจตรวจสอบทหาร
“ไม่ว่ารัฐบาลทหารชุดก่อนหน้านี้และแนวร่วมต้องการให้คุณเชื่อเช่นไร การเลือกตั้งที่ผ่านไม่ได้นำพาประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่ประเทศไทย ทหารยังคงดำรงไว้ซึ่งอำนาจที่ไม่ได้รับการตรวจสอบเหนือระบบการเมืองไทย และผู้มีอำนาจก็ยังจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง” Maria Chin Abdullah สมาชิก APHR และสมาชิกรัฐสภามาเลเซียกล่าว
ในเดือนนี้สมาชิก APHR ซึ่งรวมถึงสมาชิกและอดีตสมาชิกรัฐสภาจากประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และติมอร์-เลสเตได้พบปะกับตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม สหประชาชาติและพรรคการเมืองไทยหลายพรรค ระหว่างภารกิจค้นหาความจริง (Fact-Finding Mission) ณ ประเทศไทย เพื่อประเมินสถานการณ์ประชาธิปไตยและพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมหลังจากเลือกตั้ง จากภารกิจดังกล่าว APHR ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการโดยทันที เพื่อรับรองการฟื้นคืนของประชาธิปไตยและการเคารพต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทย
จี้นานาชาติใช้ทุกมาตรการ่วมกดดันไทย
APHR ยังเรียกร้องให้ประเทศอาเซียนและประชาคมนานาชาติใช้มาตรการทุกอย่างที่ทำได้เพื่อกดดันรัฐบาลไทยให้ฟื้นคืนประชาธิปไตยและสนับสนุนตัวแสดงทางประชาธิปไตยในประเทศไทย
“หนทางเดียวที่จะเดินหน้าในการฟื้นคืนประชาธิปไตย รับรองหลักการแบ่งแยกอำนาจและรับรองว่าผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งได้แสดงบทบาทในรัฐประชาธิปไตยตามที่ควร คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560” Maria Angelina Lopes Sarmento กรรมการบอร์ด APHR และสมาชิกรัฐสภาติมอร์-เลสเตกล่าว “ไม่มีใครควรเข้าใจผิด วัตถุประสงค์เดียวของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 คือการรับรอง โดยไม่เกี่ยวว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร ว่ารัฐบาลทหารยังสามารถคงไว้ซึ่งอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ”
หยุด'ปิดปาก-คุกคาม'ฝ่ายค้าน ห่วง'อนาคตใหม่'โดนแล้ว 21 คดี
นับตั้งแต่การเลือกตั้งที่บกพร่อง ผู้มีอำนาจยังคงปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคามสมาชิกฝ่ายค้าน ลงโทษทางอาญาต่อความเห็นต่างโดยสงบและติดตามนักกิจกรรม ในความพยายามที่จะปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายค้าน ณ ขณะนี้พรรคอนาคตใหม่เผชิญกับคดีความ 21 คดี สิ่งที่น่าวิตกกังวลอย่างมากอีกอย่างหนึ่งก็คือการที่ความรุนแรงทางกายภาพที่กระทำต่อนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารเข้ามายุ่งกับการเมืองนั้นพุ่งสูงขึ้น
“การใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคามฝ่ายค้าน รวมถึงการจัดการกับกระบวนการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้มีอำนาจไม่พร้อมที่จะโอบรับหลักการประชาธิปไตยและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ถึงเวลาแล้วที่ทหารไทยและผู้มีอำนาจทั้งหลายจะต้องเข้าใจว่า ตราบใดที่ประชาชนยังถูกขัดขวางไม่ให้ได้เลือกผู้นำของตนเองภายใต้กระบวนการที่เป็นอิสระและเปิดเผย ประเทศไทยก็จะยังติดอยู่ในหล่มของความขัดแย้งทางการเมืองและความไม่มั่นคง” Charles Santiago ประธาน APHR และสมาชิกรัฐสภามาเลเซียกล่าว “ประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานได้ถ้าประชาชนหวาดกลัวคุก เพียงเพราะแสดงความคิดเห็นของตน”
อำนาจที่ไม่ได้รับการตรวจสอบของทหารและแนวร่วม การคุกคามและทำร้ายฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมจะสานต่อภาวะถดถอยของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย
“ประเทศไทยต้องการแรงสนับสนุนระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติเพื่อรับรองการกลับสู่ประชาธิปไตย ในขณะที่ยังพอมีพื้นที่ในรัฐสภาเพื่อปฏิรูปกรอบทางกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพและแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ ฝ่ายค้านจะต้องดำรงอยู่และจะต้องได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวย” Santiago กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: