ไม่พบผลการค้นหา
มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดตัวต้นแบบ ‘เรือนไม้ประหยัดพลังงาน’ ศาสตร์สถาปัตยกรรมไม้แบบญี่ปุ่น ชูเทคโนโลยีวัสดุ Insulation กันความเย็น-ความร้อน ลดใช้พลังงาน รับเทรนด์บ้าน Eco สู่ความยั่งยืน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม จับมือเครือข่ายมหาวิทยาลัยประเทศญี่ปุ่น ผ่านการจัดตั้ง Wood training center ฝึกอบรม “ทักษะช่างไม้ในงานก่อสร้างแบบญี่ปุ่น” ทั้งรูปแบบหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว Dual Degree เพิ่มโอกาสนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ต่อยอดองค์ความรู้และขยายสู่เส้นทางวิชาชีพ โอกาสร่วมงานกับบริษัทออกแบบและก่อสร้าง ไทย – ญี่ปุ่น พร้อมเปิดตัว "ต้นแบบเรือนไม้ประหยัดพลังงาน - Japanese Tea Pavilion” ภายใต้รูปแบบการก่อสร้างและการเข้าไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ ผสานเข้ากับศาสตร์และนวัตกรรมลดใช้พลังงาน ตอบโจทย์รูปแบบการก่อสร้างและธุรกิจยั่งยืนในอนาคต

อาจารย์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า ขณะเดียวกัน คณะสถาปัตยกรรม ยังได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยจากประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย Sugiyama, มหาวิทยาลัยวาเซดะ, มหาวิทยาลัย Ryukyus เมืองมิตซึเอะ จ.นาระ และภาคเอกชนประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรม “ทักษะช่างไม้ในงานก่อสร้างแบบญี่ปุ่น” อันมีรูปแบบการก่อสร้างและการเข้าไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ ผสานเข้ากับศาสตร์และนวัตกรรมลดใช้พลังงาน ตอบโจทย์รูปแบบการก่อสร้างและธุรกิจยั่งยืนในอนาคต โดยร่วมกันจัดตั้ง Wood training center หลักสูตรระยะสั้นผ่านฝึกปฏิบัติโครงการสหกิจศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 4 เดือน และระยะยาวในรูปแบบ Dual Degree ถือเป็นโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาและผู้ที่สนใจด้านการก่อสร้างอาคารไม้ ในรูปแบบ ของการออกแบบเพื่อประหยัดพลังงาน ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีความเชี่ยวชาญทางทักษะช่างไม้ และการออกแบบสถาปัตยกรรมไม้แบบญี่ปุ่น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะของไม้สนญี่ปุ่น คุณสมบัติ จุดเด่น ข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงทักษะการผลิตชิ้นส่วน อาทิ การเตรียมไม้ การไสไม้ ตลอดจนการออกแบบโครงสร้าง พร้อมกันนี้ยังได้เรียนรู้นวัตกรรมและชิ้นส่วนอุปกรณ์ ที่ชาวญี่ปุ่นติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อลดการใช้พลังงาน ซึ่งสามารถต่อยอดและขยายสู่โอกาสทางวิชาชีพสถาปนิกที่มีทักษะเชี่ยวชาญเฉพาะทางในอนาคตได้อีกด้วย

“ต้นแบบเรือนไม้ประหยัดพลังงาน - Japanese Tea Pavilion นี้ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยศรีปทุม ประกอบด้วย 2 อาคาร คือ อาคารศาลาพักผ่อน ซึ่งสามารถดัดแปลงเป็นบ้านเรือนพักอาศัยได้ และอาคารดื่มน้ำชา เพื่อสะท้อนถึงวัฒนธรรมการดื่มน้ำชาของญี่ปุ่น ที่ถือเป็นวัฒนธรรมสำคัญระดับโลก โดยนำเข้าไม้สนจากประเทศญี่ปุ่นนำมาก่อสร้างทั้งหมด ชื่อว่า “ไม้สุกิ” มีลักษณะพิเศษ คือมีกลิ่นหอมและมีคุณค่าเทียบเท่าไม้สักของคนไทย นอกจากนี้ตัวอาคารยังมีการติดตั้งนวัตกรรมและวัสดุที่น่าสนใจ ประกอบด้วย นวัตกรรมป้องกันแผ่นดินไหว อุปกรณ์ป้องกันปลวก แผ่นป้องกันเสียง ป้องกันความร้อนและความเย็น โดยใช้เทคโนโลยีวัสดุด้าน Insulation ที่ทำงานร่วมกับผนังได้เป็นอย่างดี และป้องกันทุกพื้นผิวตั้งแต่พื้น ผนัง ฝา ตอบโจทย์กระแสความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมก่อสร้างในปัจจุบัน ที่นอกจากความสวยงามของอาคารแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการลดใช้พลังงานตามเทรนด์ผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการใช้ไฟฟ้า” อาจารย์ธีรบูลย์ กล่าว

ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวต่อว่า สำหรับราคาของเรือนไม้หลังนี้อยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 เดือนโดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างช่างไม้ไทยและผู้รับเหมาคนไทย รวมไปถึงมีศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งก้าวต่อไปสำหรับการต่อยอดต้นแบบอาคารประหยัดพลังงานหลังนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาแล้ว ยังเล็งเห็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจอีกด้วย จากการสร้างบุคคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสร้างบ้านด้วยไม้จากเมืองมิซุเอะ เป็นการสร้างโอกาศทางธุรกิจ เรือนไม้หลังนี้เสมือนเป็น Showcase บ้านต้นแบบ ออกแบบให้เหมาะสมกับภูมิอากาศและทักษะช่างในไทย ระแนงไม้หน้าบ้านถูกออกแบบให้เหมาะสมกับแสงและเงาเพื่อกันความร้อนจากแสงแดด มีการใช้ฉนวนกันความร้อนภายในตัววัสดุของผนังบ้านและหลังคา ออกแบบให้สามารถรับลมถูกทิศ และตัวไม้ได้เคลือบสารกันการผุกร่อน และให้น้ำฝนที่ตกมากระทบพื้นไม้สามารถทะลุร่องไม้ที่ออกแบบมาเพื่อให้น้ำฝนไหลผ่านสู่พื้นดินได้สะดวก

นายสหรัฐ พหลยุทธ์ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ควบคุมการก่อสร้างต้นแบบเรือนไม้ประหยัดพลังงาน - Japanese Tea Pavilion กล่าวเสริมว่า ความพิเศษของการออกแบบและก่อสร้างในครั้งนี้ คือการผสานองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการและวิธีการก่อสร้างอาคารไม้ญี่ปุ่นร่วมกับการก่อสร้างแบบไทย โดยเฉพาะวิธีการเข้ารอยต่อไม้โบราณแบบญี่ปุ่น ซึ่งต่างจากของไทยตรงที่สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้ตะปูยึด การปูพื้นไม้ให้ลงล๊อคได้โดยที่ไม่ต้องเลื่อยไม้ทิ้ง ผสมกับนวัตกรรมปัจจุบันที่ชาวญี่ปุ่นนำมาติดตั้ง ซึ่งมีทั้งแผ่นกันชื้น กันความร้อนช่วยลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่แตกต่างสุดขั้วในฤดูหนาวและฤดูร้อน และแผ่นป้องกันปลวกศัตรูสำคัญของบ้านไม้ทั่วโลก ติดตั้งระหว่างคานปูกับพื้นไม้ให้มีช่องว่างอากาศถ่ายเทป้องกันปลวกกินเนื้อไม้ ขณะที่ในเชิงโครงสร้างของอาคาร มีการพัฒนาถึงขั้นทนต่อแรงสั่นสะเทือนเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยติดตั้งอุปกรณ์ Sujikai หลังแผ่นยิปซั่มบอร์ด ซึ่งแม้ว่าในบ้านเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีสร้างแบบเขาทั้งหมด แต่ก็มีเทคนิคที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากันได้ และประยุกต์ออกมาให้สวยงามด้วยรูปแบบการผสมผสานที่ลงตัว

“ช่วงเวลาที่ได้ไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น มีโอกาสได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านแกะสลัก ทำมือ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลวก ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ที่สนุกที่สุดคือการสร้างแบบจำลองและทำโมเดล โดยที่นั่นให้เราเรียนรู้วิธีสร้างบ้านไม้แบบญี่ปุ่นผสานกับการสร้างบ้านไม้แบบไทย นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่การประมูลต้นไม้ รวมถึงติดตามทีมงานขึ้นไปดูการตัดไม้ เลือกไม้ แปรรูปไม้ ก่อนส่งกลับยังมหาวิทยาลัยศรีปทุม นำมาสร้างเรือนไม้ต้นแบบเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงนวัตกรรมการก่อสร้างแบบญี่ปุ่น ซึ่งทุกอย่างเป็นระบบมากๆ และเมื่อกลับมายังประเทศไทยก็มีโอกาสได้เข้ามาช่วยควบคุมดูแลการก่อสร้างและให้คำแนะนำต่างๆ กับช่างก่อสร้างชาวไทย” นายสหรัฐ กล่าว

ด้าน ศ. ชิน มูราคามิ (Prof. Shin Murakami) ผู้อํานวยการบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย Sugiyama กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ ระบุว่า เป็นการผสานองค์ความรู้ทางวิชาการครั้งสำคัญ ซึ่งสถาบันการศึกษาทั้งสองประเทศจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะในด้านทักษะการออกแบบและการใช้ไม้ มาเป็นส่วนประกอบในงานสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะรายละเอียดการออกแบบงานไม้แบบญี่ปุ่นและแบบไทย ซึ่งทั้งสองศาสตร์ถือว่ามีเอกลักษณ์และเทคนิคที่สามารถนำมาประยุกต์เข้ากันได้ ช่วยให้โครงสร้างออกมาสวยงามเหมาะสมกับสภาพอากาศสภาพแวดล้อม ที่น่ายินดีคือเมื่อนักศึกษาที่จบจากโปรแกรมนี้ ยังมีโอกาสในอนาคตสำหรับการเข้าร่วมทำงานกับบริษัทก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

S__32972811.jpgS__32972810.jpgS__32972809.jpgS__32972808.jpgS__32972812.jpgS__32972815.jpgS__32972816.jpgS__32972817.jpgS__32972818.jpg