ไม่พบผลการค้นหา
ดีเอสไอตั้งคณะทำงานชี้ขาดเห็นแย้งหรือไม่ คดี 'พานทองแท้และพวกรวม4คน' ฟอกเงินกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดามหานคร ตั้งกรอบให้ทัน 25 เม.ย. นี้ หลังอัยการมีมติเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คดี

นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ตามที่คณะอัยการคดีศาลสูง มีมติเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คดี นายพานทองแท้ ชินวัตร จำเลยคดีร่วมกันฟอกเงิน 10 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยฯ ที่ปล่อยกู้ให้เครือกฤษดามหานคร ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองบริหารคดีพิเศษ พิจารณาเห็นว่า เป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงซับซ้อนเพื่อให้การพิจารณาในชั้นความเห็นแย้งเป็นไปโดยครบถ้วนและรอบคอบ เห็นสมควรพิจารณาในรูปคณะกรรมการ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว จำนวน 5 คน เพื่อมีความเห็นประกอบการพิจารณาคำสั่งของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ 

กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการโดยเร็วและรอบคอบ หากสามารถมีความเห็นกลับไปยังพนักงานอัยการทันภายในวันที่ 25 เม.ย.นี้ ซึ่งครบขยายเวลาอุทธรณ์ก็จะดำเนินการในทันที แต่หากไม่เสร็จก็มีเหตุจำเป็นจะต้องมีหนังสือถึงพนักงานอัยการในฐานะโจทก์ เพื่อขอขยายเวลาอุทธรณ์ต่อศาลต่อไป โดยขอยืนยันว่าการพิจารณาเป็นการดำเนินการในรูปคณะทำงาน มีความโปร่งใส รอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมาย

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษและรองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีหนังสือกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินคดีอาญากับนางเกศินี จิปิภพ, นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ,นายวันชัย หงษ์เหิน และนายพานทองแท้ ชินวัตร รวม 4 คน ในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้สมคบกัน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษที่ 25/2560 

โดยทางคดีทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 ต่อมาพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องต่อศาล โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษายกฟ้อง 

จากนั้นพนักงานอัยการ ในฐานะโจทก์ ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา จำนวน 4 ครั้ง ประกอบด้วย

  • ครั้งที่ 1 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 19 ธ.ค. 2562
  • ครั้งที่ 2 ศาลอนุญาต ถึงวันที่ 25 ก.พ. 2563
  • ครั้งที่ 3 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 มี.ค. 2563 โดยระหว่างนั้น (วันที่ 19 มี.ค. 2563) พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ (อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง)
  • ต่อมา วันที่ 26 มี.ค. 2563 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ (ฝ่ายคดีพิเศษ 4) ส่งสำนวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษามายังอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งหรือไม่ อันเป็นไปตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 34 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และพนักงานอัยการได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา เป็นครั้งที่ 4 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 เม.ย. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :