ไม่พบผลการค้นหา
ลาลูแบร์ บอกว่า "ชาวสยามจักไม่ปฏิเสธการลักขโมยเลยในเมื่อมีโอกาสที่จะกระทำได้" ส่วนเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสอีกคนพูดแรงกว่านั้น โดยบันทึกไว้ว่าคนสยาม "เปนคนที่โกงและคิดการทุจริตอย่างหาตัวเปรียบไม่ได้เลย"

“บาปกรรม” เป็นเครื่องคุมความประพฤติอย่างหนึ่งที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีต โดยมีศีลข้อห้ามต่างๆ เป็นตัวกำหนด แม้คนในสมัยโบราณจะมีบ้างที่แหกความเกรงกลัวเรื่องนี้ แล้วกระทำความผิดจนรัฐต้องมีบทลงโทษโหดๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “บาปกรรม” สามารถควบคุมสังคมได้ในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นในสมัยอยุธยา มีหลักฐานในเอกสารทั้งไทยและฝรั่งว่า ผู้คนให้ความสำคัญกับการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จนหาโรงเชือดสัตว์ในพระนครแทบไม่ได้


“ขี้โกง” อาจเป็นภาพจำชาวสยามที่ชัดเจนที่สุดของฝรั่ง

ในบรรดาศีล 5 ข้อ การเกรงกลัวบาปกรรมในศีลข้อ 1 ดูจะเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดที่สุดของชาวสยาม หล่อหลอมผู้คนจนแสดงออกในรูปของบุคลิกโอบอ้อมอารี มีเมตตาเป็นพื้นฐาน แต่ในทางกลับกันศีลข้อ 2 เรื่องการลักทรัพย์ ขี้ฉ้อ ขี้โกง ดันกลายเป็นสิ่งที่ฝรั่งจดจำขึ้นใจถึงขนาดต้องบันทึกเอาไว้ในหลายวาระ

เช่น ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช “ลาลูแบร์” (La Loubère) บอกว่า

“ชาวสยามจักไม่ปฏิเสธการลักขโมยเลยในเมื่อมีโอกาสที่จะกระทำได้”

ขณะที่ “มองสิเออร์เซเบเรด์” (Céberet) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสอีกคนพูดแรงกว่านั้น โดยบันทึกไว้ว่าคนสยาม เปนคนที่โกงและคิดการทุจริตอย่างหาตัวเปรียบไม่ได้เลย


นรก


รสชาติที่หอมหวานของการทุจริต

ความขี้โกงที่ฉายชัดทำให้ย้อนคิดว่า หากบาปกรรมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง แล้วเหตุใดผู้คิดทุจริตจึงไม่กลัวบาปกรรมข้อนี้ ซึ่งนี่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์จริง 2 เรื่อง ซึ่งน่าจะทำให้พอเข้าใจเหตุผลคนโกงได้

เรื่องแรกอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เป็นเรื่องของ “พระยาสมบัตยาธิบาล” (นาก) และ “จมื่นราชนาคา” (เลี้ยง) เจ้าพนักงานเบิกจ่ายเหล็ก สองคนนี้น่าจะนับได้ว่าเป็น “ตัวกินเหล็กรุ่นบุกเบิก” ก็ว่าได้ เพราะนำเงินในท้องพระคลังไปชำระบัญชีจ่ายเหล็กปีๆ หนึ่งกว่า 5,000 ชั่ง ทำแบบนี้อยู่หลายปีจนกระทั่งถูกตรวจสอบ พบว่ามีความผิดจริงก็ติดคุกติดตารางไปตามเรื่อง แต่ที่พีคกว่านั้นก็คือ รัชกาลที่ 4 ท่านทรงแต่งตั้งเจ้าพนักงานเบิกจ่ายเหล็กคนใหม่ ซึ่งช่วงนั้นรัฐมีความจำเป็นต้องใช้เหล็กจำนวนมากพอดี แต่ปรากฏว่ามีการเบิกเงินหลวงเพียง 600-700 ชั่งเท่านั้น เรียกได้ว่าน้อยกว่ายอดเบิกเดิมเกือบ 10 เท่า

อีกเรื่องอยู่ในประกาศกระทรวงมุรธาธร วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2464 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 มีเหตุรองอำมาตย์โทผู้เป็นนายทะเบียนและที่ดิน และกรมการตำแหน่งนาจังหวัดธัญบุรี ถูกถอดออกจากยศและบรรดาศักดิ์ แถมต้องติดคุก 2 ปี เพราะทุจริตยักยอกเงิน 1,956 บาท 99 สตางค์ ที่ราษฎรจ่ายเป็นค่ารังวัด ถ้าเทียบกับราคาทองคำยุคนั้นก็ซื้อทองได้เกือบ 7 บาท นับว่าไม่น้อยสำหรับการอยู่ในจังหวัดเล็กๆ

มองจากสองกรณีนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าตำแหน่งจะเล็กหรือใหญ่ หากอำนาจเอื้ออำนวย และผลประโยชน์ยวนใจ ความรู้สึกผิดชอบก็อาจถูกบดบัง

และเมื่อใดที่ปราศจากสามัญสำนึกถ่วงดุล คำว่า “คุ้มค่าเสี่ยง” ก็อาจมีน้ำหนักมากกว่าคำว่า “บาปกรรม” อย่างไม่ต้องสงสัย

สิ่งสำคัญที่สุดจึงไม่ใช่เรื่องของกรรมที่จะทำให้เหล่าคนโลภเกรงกลัว แต่ต้องเป็น “กฎ” ที่แข็งแกร่ง การตรวจสอบที่เข้มข้น และการลงโทษที่สาสม ซึ่งหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ประชาชีก็คงได้แต่ “ปล่อยไปตามเวรตามกรรม”


meditation-17756_1920.jpg



วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog