ไม่พบผลการค้นหา
'พิธา' ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เผยก่อนเข้าไต่สวนพยานบุคคลครั้งแรก มั่นใจแจงปม 'หุ้นไอทีวี' ได้ หลังใช้เวลารวบรวมข้อเท็จจริงตลอด 16 ปี ย้ำ 'ไอทีวี' ไม่ได้เป็นสื่อ รับดีใจได้สื่อสารข้อเท็จจริง

วันที่ 20 ธ.ค. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมาไต่สวนพยานบุคคล คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้องกรณีถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ 

จึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ม.101(6) ประกอบ ม.98(3) หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

โดย พิธา กล่าวว่า รอวันนี้มานานที่จะได้มีโอกาสสื่อสารข้อเท็จจริง หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องรายละเอียดพยานหลักฐานที่นำมาต่อสู้นั้นเก็บไว้ในชั้นศาล แต่สิ่งที่เปิดเผยในสื่อมวลชนคือ ”ไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อ“ และหยุดประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2550 

ส่วนรายได้ของบริษัทนั้นก็มาจากดอกเบี้ย และการลงทุน ดังนั้นหากเทียบกับระบบยุติธรรม หรือคำพิพากษาในอดีต มั่นใจว่า ไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อแต่อย่างใด ดังนั้นจึงพร้อมตอบคำถามอย่างละเอียด ทั้งในแง่บริษัท และเรื่องส่วนตัว 

พิธา ยืนยันว่า ที่ผ่านมาตนได้ทบทวนข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างหนักแน่นแล้ว แม้ทั้งสองเรื่องจะผ่านมา 16 ปี ทั้งเรื่องที่คุณพ่อเสียในปี 2549 และไอทีวียุติกิจการสื่อในปี 2550 จึงขอใช้โอกาสนี้เป็นครั้งแรก และเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ตนรอมานานพอสมควร 

พิธา เปิดเผยอีกว่า วันนี้ได้ใช้กระเป๋ามา 2 ใบ สำหรับการบรรจุหมายเรียกที่ศาลเรียก ผู้ร้องเรียก และผู้ถูกร้อง รวมถึงวัตถุพยานต่างๆ จึงไม่มีข้อกังวล ยอมรับว่า ดีใจที่ได้พูดสื่อสารในมุมของเรา กกต. มีหน้าที่ของ กกต. ตนมีหน้าที่ของตน หากมีข้อสงสัยข้อไหนยินดีตอบให้สิ้นข้อสงสัย 

ทั้งนี้ในการพิจารณาไต่สวนดังกล่าว สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า อนุญาตให้ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และพยานเข้าฟังการพิจารณาได้ โดยไม่ได้อนุญาตให้ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าฟัง  รวมถึงประชาชนจำนวนหนึ่งได้นำดอกทานตะวันมามอบให้แก่ พิธา โดยระบุว่า ”ดอกทานตะวันคือ ดอกไม้แห่งความหวัง ต้องการให้ พิธา กลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส. เพราะต้องการฝ่ายค้านเชิงคุณภาพ“ พร้อมทั้งมีป้ายข้อความตามหาบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)

O__003_0.jpgO__011.jpg


ศาลนัดชี้ชะตา ‘พิธา‘ 24 ม.ค.

พิธา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าไต่สวนพยานบุคคลคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้องกรณีถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ 

จึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ม.101(6) ประกอบ ม.98(3) หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

พิธา.jpg

โดย พิธา กล่าวถึงกระบวนการไต่สวนว่า เป็นตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งมีความพอใจอย่างมาก ส่วนรายละเอียดการไต่สวนเป็นอย่างไรนั้น ไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล และเท่าที่เปิดเผยได้ก็มีเพียงข้อเท็จจริงที่ได้ชี้แจงไปว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่สื่อ รวมถึงสถานะการถือครองหุ้นไอทีวีฯ นั้นก็คือ ผู้จัดการมรดก 

พิธา กล่าวอีกว่า ไม่สามารถประเมินทิศทางหลังจากนี้ได้ แต่โดยรวมมีการตรวจสอบอย่างครบถ้วน ซึ่งจะมีการนัดเพื่อฟังคำวินิจฉัยเลย พร้อมย้ำอีกครั้งว่า ยังคงมีความมั่นใจเหมือนก่อนเข้าไปไต่สวน และได้ทำหน้าที่ผู้ถูกร้องอย่างเต็มที่ มั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรม และความเป็นธรรม 

พิธา ยังยืนยันถึงการถือครองหุ้นไอทีวีในช่วงลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อว่า เป็นการถือแทนในฐานะผู้จัดการมรดก ย้ำว่า เป็นการถือแทนน้องชาย ซึ่งตนได้สละเจตนาก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะพรรคอนาคตใหม่ และมีการปันทรัพย์มรดกกัน แต่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้มากกว่านี้เพราะจะเป็นการชี้นำสังคมซึ่งเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล 

ขณะที่สังคมส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) อาจกลับมาดำเนินกิจการสื่อได้อีกครั้ง พิธา กล่าวว่า ต้องดูที่เอกสารที่ทางประธานไอทีวีเคยประชุมผู้ถือหุ้นในปี 2558, 2560 และ2560 พูดแทนประธานคิมไม่ได้ แต่ตามเอกสารที่ออกมาระบุชัดว่า ยุติการประกอบกิจการสื่อไปตั้งแต่ปี 2550 คลื่นความถี่ไปอยู่ที่สถานีโทรึไทยพีบีเอสแล้ว รวมถึงไม่มีใบอนุญาตแล้ว 

ทั้งนี้ หากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จะกลับมาดำเนินกิจการสื่อต้องมีทั้งเรื่องคดีความกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐ (สปน.) ที่ศาลปกรองสูงสุด รวมถึงใบอนุญาตที่ต้องถามทาง กสทช. 

พิธา กล่าวอีกว่า สำหรับคำพิพากษาผู้จัดการมรดกต้องมาจากศาลแพ่งส่วนที่เหลือเป็นการปันทรัพย์ ที่มีการส่งข้อมูลทางดิจิทัลที่สามารถเห็นได้ ว่าฝ่ายนั้นถูกสร้างขึ้นมาเมื่อไหร่ และเรื่องของแสตมป์อากรก็ได้ชี้แจงไปแล้วครบทุกอย่าง 

สำหรับพยาน 3 ปาก เป็นพยานฝั่งผู้ถูกร้อง 2 คน คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคิมห์ สิริทวีชัย ผู้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวีเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 รวมถึงเป็นผู้ลงนามรับรองในรายงานบันทึกการประชุม ส่วนพยานอีก 1 คน เป็นฝั่งผู้ร้อง คือ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดเข้ารับฟังคำวินิจฉัยในวันพุธ ที่ 24 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น. 



ยินดี 'ชัยธวัช' ได้รับโปรดเกล้าฯ ผู้นำฝ่ายค้าน

พิธา กล่าวแสดงยินดีกับ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 

พิธา กล่าวว่า ชัยธวัช เป็นคนที่มีความเหมาะสมในเรื่องการกำหนดกลยุทธ์ของฝ่ายค้านเพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลรัฐบาล ในการตรวจสอบการทำงานเกี่ยวกับงบประมาณ ผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า และเป็นปากเสียงให้กับประชาชนซึ่งเป็น 3 หลักของการทำงานเป็น สส. 

ทั้งนี้ พิธา ยังให้กำลังใจกับภารกิจที่สำคัญ และกระชั้นชิดขึ้นมา คือการตรวจสอบงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งทั้ง ชัยธวัช และรองหัวหน้าพรรคอีกหลายคนมีประสบการณ์ทำตรงนี้มา 4 ปี จะทำให้ภาษีประชาชนคุ้มค่ามากที่สุด