ไม่พบผลการค้นหา
และแล้ว 'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' รองนายกรัฐมนตรี 'พี่ใหญ่' แห่งบูรพาพยัคฆ์ ก็ได้ฤกษ์เคลื่อนตัวออกจากหลังม่านกองทัพ-หลังม่านการเมืองในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอดช่วง 'รอยต่อ' รัฐบาล 'พล.อ.ประยุทธ์1' กับรัฐบาล 'พล.อ.ประยุทธ์2' อย่างไร้รอยต่อ

จาก “หลังฉาก” จาก “ผู้มีบารมีนอกพรรค-นอกทำเนียบ” ออกมาเล่นบท “หน้าฉาก” ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ภายหลัง “คนใกล้ชิด” พล.อ.ประวิตร ปล่อยข่าวลวง-ข่าวจริง ว่า พล.อ.ประวิตร จะมานั่งเป็น “หัวหน้าพรรค” ในวัย 74 ปี 

ไล่ ๆ มากับการข่าวปล่อย “ปลด” หัวหน้าพรรค-นายอุตตม สาวนายน และเลขาธิการพรรค อย่าง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ โดยให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นหัวหน้าพรรค และ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” เป็นเลขาธิการพรรค เชือดเฉือน-เตะสกัดกันของแกนนำกลุ่มต่าง ๆ ภายในพรรคเพื่อเก้าอี้รัฐมนตรีใน “ครม.ประยุทธ์2/1”

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่ “พล.อ.ประวิตร” จะลงมาเล่นการเมือง-เปิดหน้า-เปิดตัว “สวมหมวก” ประธานยุทธศาสตร์พรรค เพราะที่ผ่านมา-ตั้งแต่รู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เป็น “พล.อ.ประวิตร” ที่เปิด “บ้านป่ารอยต่อ” จัดตั้งรัฐบาล “ในค่ายทหาร” ทันที แม้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจะออกมาปฏิเสธก็ตาม 

ขณะที่ในช่วง “ฟอร์มรัฐบาล” เป็นอีกครั้งที่ “พล.อ.ประวิตร” สวมบท “ผู้จัดการรัฐบาล” ตัวจริง-เสียงจริง จัดสรรโควตา-เก้าอี้รัฐมนตรีให้กับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ พรรคภูมิใจไทย (ภท.)

สมคิด ประยุทธ์ ประวิตร สภา รัฐสภา mplate.jpg

เมื่อหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจเต็ม แต่ต้อง “แบกหน้า” ไปลงนามข้อตกลง-เซ็นเอ็มโอยูกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่ง “คนละคน” กับ “พล.อ.ประวิตร-คนดีล”

ทำให้เกิดภาพงัดข้อภายใน กลายเป็นการระเบิด “ศึกแย่งชามข้าว” ภายในหมู่พรรคพลังประชารัฐ-พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง ที่มี “สารพัดก๊ก” อยู่ในพรรคจน “พรรคแทบแตก”

รวมถึงการ “ต่อรอง” ระหว่าง “พรรคร่วมรัฐบาล” โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีความ “เขี้ยวลากดิน” และไปตกลงกับ “พี่ใหญ่” ไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงทำให้ต้องใช้เวลากว่า 100 วัน กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

พล.อ.ประวิตรยังมี “อำนาจเต็ม” – แสดงบทผู้มากบารมีภายในพรรคพลังประชารัฐ ภายหลัง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำกลุ่มสามมิตร พร้อม ส.ส.30 กว่าชีวิต ตั้งโต๊ะทวงสัจจะ-เก้าอี้เสนาบดี-ขู่ถอนสมอออกจากพรรค 

ภาพประลองกำลังภายใน ‘พลังประชารัฐ’ จนเกิดกระแสข่าว พล.อ.ประวิตรต้องเรียกนายสุริยะกับ ส.ส.30 ชีวิตเข้าบ้านป่ารอยต่อ ทุบโต๊ะ-เช็กกำลังรายตัว ว่า จะอยู่กับพี่ใหญ่ หรือ อยู่กับ 'สุริยะ'


สามมิตร สุริยะ อุตตม สนธิรัตน์ พลังประชารัฐ.jpeg

ตลอด 3-4 เดือนในช่วงก่อร่างขึ้นโครงอำนาจให้กับ “น้องเล็ก-พล.อ.ประยุทธ์” ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 สมัยที่สอง ติดต่อกัน

บทบาทของพี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร คือ ผู้มีอำนาจตัวจริง-เสียงจริงของรัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐ 

โครงสร้างอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร “นั่งหัวโต๊ะ” เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค จึงเป็นการปฏิวัติอำนาจสารพัดมุ้ง-ยึดอำนาจนักการเมือง ที่มีนายอุตตม-หัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์-เลขาธิการพรรค

แกนนำพรรคพลังประชารัฐรายหนึ่ง ระบุว่า โครงสร้างพรรคใหม่จะทำให้การบริหารจัดการพรรคเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ยึดโยงระหว่างพรรค- ส.ส.- ฐานเสียงในพื้นที่มากขึ้น พรรคเป็นเอกภาพมากขึ้น


“เมื่อ พล.อ.ประวิตรเข้ามามีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐเต็มตัว ทุกกลุ่ม ทุกมุ้งจะวิ่งเข้าหา พล.อ.ประวิตร จาก 10 กว่าก๊กก็เหลือเพียงก๊กเดียว คือ ก๊กป่ารอยต่อ”


ปฏิเสธไม่ได้ว่า “รอยร้าวลึก” ที่เกิดขึ้นภายในพรรค เกิดจาก “พล.อ.ประวิตร” ตั้งแต่ไปดีลโควตา-ประเคนเก้าอี้รัฐมนตรี “กระทรวงเกรดเอ” ให้กับ “ต่างพรรค” ทั้งพรรคประชาธิปัตย์-พรรคภูมิใจไทย

จนแกนนำกลุ่ม-ก๊กภายพรรคเหลือเพียง “กระทรวงเหลือขอ”

ขณะที่ 10 พรรคเล็กที่ออกมาขู่ออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล-ตีรวนเพื่อต่อรองตำแหน่ง ก็เป็นเพราะ พล.อ.ประวิตร ไปดีลไว้แล้วไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้ เพราะพูดวันนี้ - วันนี้ลืมไปแล้วว่าตกลงอะไรกับใครเอาไว้

แม้ภาพในวันที่ พล.อ.ประวิตร ปรากฏกายเป็นครั้งแรกที่พรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ จะเต็มไปด้วยดอกไม้-คำพูดหวานหู

ประวิตร-พลังประชารัฐ

ทว่าไม่ใช่ทั้งหมดที่สมยอม-คล้อยตาม แต่จะเป็นการ “ตอกลิ่ม” ความขัดแย้ง-รอยร้าว “ศึกใน” ภายในพรรคพลังประชารัฐให้ลึกลงไปมากขึ้น นอกจาก “ศึกนอก” ที่ต้องสู้รบปรบมือกับ 7 พรรคฝ่ายค้าน

เมื่อภาพของ พล.อ.ประวิตร เข้ามาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค ทำให้ถูกมองว่าอาจเป็นการ “สร้างปัญหา” มากกว่าเข้ามาแก้ปัญหา

เพราะรวบ-ยึดอำนาจจากกลุ่ม-มุ้งต่าง ๆ มาเป็นของตัวเอง พร้อมทั้งบล็อกกลุ่มอำนาจอื่นภายในพรรคไม่ให้โงหัวขึ้นมา

“ลิ่วล้อ” รอบข้าง-รอบตัว “พล.อ.ประวิตร” จะวิ่งหา-พุ่งชนผลประโยชน์ภายในพรรค แย่งชิงความเป็นใหญ่

หลังจากนี้พรรคพลังประชารัฐอาจ “ตกเป็นเป้าโจมตี” ของพรรคฝ่ายค้านอย่างหนักหน่วง จนกระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคพลังประชารัฐที่เคยสร้างไว้ ทำให้ต้นทุนทางการเมืองที่สั่งสม

เพราะการเมือง-อำนาจที่แลกมาด้วยผลประโยชน์ เสถียรภาพรัฐบาลที่ได้มาจากการค้ำยันด้วยอามิสสินจ้างและการต่อรองผลประโยชน์จะเสื่อมสลาย-แตกดับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง