วันที่ 9 ส.ค. 2566 ที่อาคารรัฐสภา พรรคเพื่อไทยนำแถลงการจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ สืบเนื่องจากที่ได้รวมเสียงกับพรรคภูมิใจไทยเป็นสารตั้งต้น ได้ สส.จำนวน 212 เสียงโดยได้มี 6 พรรคการเมืองมาเพิ่มเติม ได้แก่ พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคท้องที่ไทย ทำให้เวลานี้มีเสียงสนับสนุนเป็น 228 เสียง
โดย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า แถลงว่า วันนี้มีความยินดีที่จะตอบรับคำเชิญในการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ด้วยเหตุผล ประกอบด้วย
1. พรรคเพื่อไทยถือว่าเป็นฝั่งที่มีความชอบธรรมเพราะเป็นพรรคอันดับ 2 เมื่อพรรคอันดับ 1 ไม่สามารถจะตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นหน้าที่พรรคอันดับ 2
2. พรรคเพื่อไทยได้ยืนยันในที่ประชุมกับทุกพรรคการเมืองว่าขณะนี้ได้รวบรวมเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่งอย่างแน่นอน จึงทำให้มั่นใจได้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก
3. การจัดตั้งรัฐบาลที่มาพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะไม่มีนโยบายใดๆที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่อย่างใด
4. แกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีความแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พรรคชาติพัฒนากล้าจึงมีความมั่นใจในนโยบายของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เพราะเคยมีประสบการณ์ และนโยบายเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต
5. ผ่านมาแล้วเกือบ 3 เดือน ที่เรายังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลรักษาการก็มีขีดจำกัดในการบริหารประเทศ ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจรออยู่ไม่ได้ จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศ ลดความกังวลใจของพี่น้องประชาชนว่าเรากำลังจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ได้มีการเลื่อนการโหวตนายกฯ เนื่องจากมีคำสั่งจากศาลรัฐธรรมนูญ หลักการของพรรคประชาชาติคือ หากมีการโหวตในวันนั้น ก็จะโหวตให้นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ตอนนี้รัฐสภามีหน้าที่สำคัญต้องแบกรับภาระจากรัฐธรรมนูญ
ตอนนี้เราตระหนักว่าทั้งพรรคอันดับ 1 และ 2 ต่างมีความชอบธรรม ในภาวะวิกฤตนี้จึงมั่นใจให้พรรคเพื่อไทยรวบรวมเสียงให้เกิน 375 เสียง บทบาทของพรรคประชาชาติเห็นว่า จะขอเดินทางไปถึงพรรคอันดับ 2 เท่านั้น ที่จะเป็นนายกฯ หากเกินไปกว่านั้นจะไม่ใช่หลักประชาธิปไตย ส่วนตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้มีการพูดคุยเลย เพราะอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า มีความเข้าใจผิดกันว่า เมื่อครั้งหาเสียงเคยพูดไว้ต้องยึดมั่นละเมิดไม่ได้ แต่ในการหาเสียงก็ต้องการคะแนนเสียง ไม่ใช่ถือเป็นนโยบาย หากเสนอนโยบายแล้วไม่ทำจึงถือว่าผิดสัญญา เมื่อหาเสียงได้แล้วก็ถือว่าจบ
"ลองไปดูสามก๊ก หรือประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยก่อน กษัตริย์ทำศึกสงคราม ฆ่าแม่ทัพไปแล้ว พลไพร่จะเอามาเลี้ยงดูปลูกข้าวทำนาต่อไปหรือไม่ หรือฆ่าทิ้งให้หมด
"พรรครวมไทยสร้างชาติ คุณประยุทธ์เขาไปแล้ว ไม่มีแม่ทัพแล้ว เราควรจะเอาไหม บางคนบอกว่าไม่ได้ แต่เราเห็นว่าควรจะเลี้ยงดูไว้ พรรคพลังประชารัฐ แม่ทัพยังอยู่ แต่ก็ยอมแพ้ไปแล้ว เราจะเอาพลไพร่ต่างๆ มาเลี้ยงดูไหม ก็ฝากเป็นข้อคิดให้พี่น้องประชาชน ขอให้เปิดใจให้กว้างเพื่อสนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามว่า หากได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว จะมีพรรคใดอีกบ้าง โดยระบุว่า ขณะนี้มี 228 เสียง ส่วนการดำเนินการต่อไปเป็นอย่างไรนั้น จะแถลงต่อประชาชนโดยเร็วที่สุด และคาดว่าจะจบได้ภายในสัปดาห์นี้
ขณะกระแสข่าวว่า สส.พรรคเพื่อไทยบางส่วนไม่พอใจกับการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เราได้เปิดเวทีให้ สส.เพื่อไทย ได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ มีข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบจริง แต่ไม่มี สส.ท่านใดแสดงความไม่พอใจถึงขั้นจะออกจากพรรคตามที่ปรากฏเป็นข่าว
"ผมสงสาร สส.เพื่อไทย มาก เพราะเขาก็รับภาวะกดดันพอสมควรจากพื้นที่ แต่ก็มีกำลังใจชี้แจงต่อประชาชนว่า จะพยายามทำเต็มที่เพื่อแก้วิกฤตความขัดแย้งให้ได้" นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน ยังยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย พร้อมย้ำว่า ไม่มี 'ถ้าไม่ผ่าน' เพราะการเสนอชื่อครั้งนี้ต้องผ่าน
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ จะมาโหวตให้เป็นรายบุคคลหรือไม่นั้น นพ.ชลน่าน ระบุว่า เราแสวงหาความร่วมมือจากทุกพรรค ทุกฝ่ายทั้งในแง่องค์กรและตัวบุคคล แต่พรรคต่างๆ ดังกล่าวยังไม่ได้พูดคุยกันในเรื่องของการร่วมรัฐบาล
เรามีข้อจำกัดอย่างมากกับการร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมาเราสนับสนุนพรรคก้าวไกลถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบ เมื่อเราได้ส่งมอบภารกิจ ก็ยังเคารพเอกสิทธิ์ของพรรคก้าวไกลว่าจะโหวตนายกรัฐมนตรีให้เราหรือไม่ แต่เราก็ปรารถนาเสียงสนับสนุนจากทุกส่วน หากเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วทำให้สถานการณ์ในประเทศเข้าสู่ความเรียบร้อยได้ เราก็ยินดีอย่างยิ่งถ้าก้าวไกลจะมาร่วมกับเราในมุมนั้น
ทั้งนี้ มั่นใจว่าแนวทางของเราไม่ได้ทำให้ สว. มีความกังวล เพราะเราประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับเรา เช่นเดียวกับไม่มีแนวทางการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถึงน่าจะทำให้ สว. มีความ มั่นใจว่า 2 เงื่อนไขนี้ไม่เกิดขึ้น
ต่อประเด็นดังกล่าว ภูมิธรรม เวชชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสริมว่า พรรคเพื่อไทยเอาวาระของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้งตอนนี้เรื่องพูดคุยกับพรรคต่างๆ บ่ายวันนี้จะหารือกับพรรคก้าวไกลและวันพรุ่งนี้จะหารือกับพรรคชาติไทยพัฒนาและต่อไปจะมีอีกหลายพรรค ขอยืนยันว่าเรามีความชอบธรรมที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว
"เราต้องการให้เป็นรัฐบาลพิเศษเริ่มต้นนับหนึ่งจากความขัดแย้ง ตลอดเวลาเกือบ 20 ปี หากคะแนนสนับสนุนมาในลักษณะเป็นบุคคล ถือว่าเป็นคำร้องขอจากเรา ไม่ใช่งูเห่าใดๆ ทั้งสิ้น และยังไม่ได้ทำลายกระบวนการเก่าๆที่เคยมีมา ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถฝ่าวิกฤตไปได้" ภูมิธรรม กล่าว
ภูมิธรรม เน้นย้ำว่า รัฐบาลนี้ไม่สามารถจะทำเหมือนในอดีตได้ วันนี้ต้องใช้ความมีส่วนร่วมจากสมาชิกค่อนข้างเต็มที่ ถ้าเป็นไปตามระบบมาในนามพรรคการเมือง ก็ดำเนินการตามนั้น บางส่วนอาจมาเป็นกลุ่ม ถ้าเข้าใจในจุดหมายร่วมกันก็ไปตามนั้น
ขณะเดียวกัน เรายังต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจในวิกฤตของประเทศครั้งนี้ เราอยากให้สมาชิกทุกท่านใช้เอกสิทธิ์ให้เต็มที่ หลักการนี้จึงไม่มีข้อจำกัด เพราะอาจจะมีบางคน บางกลุ่มมา แต่ทุกคนมาเพื่อแก้วิกฤตของประเทศ
ส่วนกระแสข่าวว่า จาตุรนต์ ฉายแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจต่อแนวทางจับมือข้ามขั้วของพรรค ภูมิธรรม ย้ำว่า จาตุรนต์ ได้ร่วมประชุม สส. เมื่อวาน และเห็นด้วยกับแนวทางของพรรคเพื่อไทย ส่วนเรื่องกระแสข่าวนั้น ต้องไปถาม จาตุรนต์ เอง