ไม่พบผลการค้นหา
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เตรียมเปิดประมูลงานก่อสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ 24 เมกะวัตต์ ในปี 2564

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.มีแผนจะเปิดประมูลจัดซื้อและจัดจ้างก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-Floating Solar Hybrid) เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาด 24 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วงปี 2564 เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ได้ภายในปี 66 ซึ่งจะนับเป็นโครงการที่ 2 ต่อจากโครงการโซลาร์ลอยน้ำแห่งแรกของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ที่ได้กลุ่มบมจ.บี.กริม.เพาเวอร์ (BGRIM) ร่วมกับพันธมิตรจีน เป็นผู้ดำเนินการและจะเริ่ม COD ในธ.ค.63

ทั้งนี้ คาดว่าการประมูลงานดังกล่าวสำหรับเขื่อนต่อไป น่าจะได้ราคาที่ถูกกว่าโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสินรินธรที่มีมูลค่าโครงการกว่า 842 ล้านบาท เพราะคาดว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่จะมีต้นทุนถูกลง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยค่าก่อสร้างที่ต่ำลงก็จะป็นประโยชน์ต่อค่าไฟฟ้าเฉลี่ยถูกลงด้วย ขณะที่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) กฟผ.จะดำเนินโครงการโซลาร์ลอยน้ำในพื้นที่เขื่อนต่าง ๆ ของ กฟผ.รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ ใน 9 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนบางลาง เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนสิริกิติ์

"เราต้องการให้ Pilot Project ที่เขื่อนสิรินธรเรียบร้อยก่อน หลังจากนั้นก็จะทำรายละเอียด แก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้การประมูลสำหรับเขื่อนต่อไปให้ดียิ่งขึ้น และราคากลางก็น่าจะถูกอ้างอิงด้วยราคาปัจจุบัน แต่ราคาเป็นจริงเท่าไหร่คงต้องมาดู...ปี 64 ก็คงจะเริ่มร่าง TOR ของโครงการ ปรับปรุงให้ดีกว่าเขื่อนสิรินธร หลังจากนั้นก็น่าจะเปิดประมูลได้"นายเทพรัตน์ กล่าว

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า การจะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาติดตั้ง โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ตามขั้นตอนแล้ว การจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) นั้น กฟผ.จะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกฟผ. พิจารณาอนุมัติ ส่วนการเปิดประมูลจะต้องขอการอนุมัติต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่ง กฟผ. คาดหมายว่า โครงการที่เหลือตามแผน PDP จะพยายามนำเสนอขอการอนุมัติเป็นแพ็กเกจ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการในอนาคตได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของ กฟผ. ตามแผน PDP2018 นั้น ยังเดินหน้าตามเป้าหมาย ทั้งโรงไฟฟ้าน้ำพอง, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ, โรงไฟฟ้าพระนครใต้, โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ซึ่งบางโครงการอยู่ในขั้นตอนจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) พร้อมกับจัดทำร่าง TOR คู่ขนานเพื่อเตรียมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาขออนุมัติจากครม. ภายในปีนี้