บุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นประเด็นสุขภาพระดับโลกที่ร้อนแรง หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานว่า ชาวอเมริกันที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ป่วยมากกว่า 400 คน และมีที่ถึงตายไป 6 คน โดยมีอาการตั้งแต่ปอดบวม หายใจไม่ออก ไปจนถึงทางเดินหายใจล้มเหลว นำไปสู่การประกาศว่าจะผลักดันให้มีคำสั่งห้ามผลิตบุหรี่ไฟฟ้าในระดับประเทศของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ขณะที่แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ประกาศแผนสั่งห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบมีรสชาติพิเศษต่างๆ ทุกชนิด นอกเหนือจากรสบุหรี่ธรรมดาและรสเมนธอล เพื่อตอบสนองต่อรายงานการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ แกนนำกลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และผู้เรียกร้องให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จากการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ปัญหาในสหรัฐฯ เกิดจากการนำสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol : THC) หรือสารที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่พบในน้ำมันกัญชา และวิตามินอี ซึ่งใช้เป็นสารประกอบ เพื่อทำละลายจำนวนมาก มาผสมเพื่อใช้งานผ่านบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้เกิดจากอุปกรณ์และส่วนผสมที่ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้นทางแก้คือการ ควบคุมจัดการกับส่วนผสม มิใช่แบนบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเหมารวม
“เมื่อมีการเสียชีวิตบนท้องถนนจากรถยนต์ คุณจะแบนและเอาผิดกับรถยนต์หรือว่าผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ขับโดยประมาท หรือว่าเมาแล้วขับ” เขาตั้งคำถามและเชื่อว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในระดับประเทศ จะนำไปสู่การผลักดันให้ตลาดใต้ดินเติบโต
มั่นใจปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน
มาริษ ยืนยันว่า ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยควรพิจารณาให้ของที่มีอันตรายน้อยกว่า 'ถูกกฎหมาย' เพื่อให้เกิดการควบคุมดูแลที่เหมาะสม
“พวกผมไม่ได้บอกว่ามันปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เรียกร้องให้มีการควบคุม ให้อยู่บนดิน ไม่ใช่ปล่อยให้ใช้กันอย่างที่เป็น”
ตัวแทนกลุ่มลาขาดควันยาสูบ เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการศึกษาและวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เหมือนลักษณะโมเดลกัญชาถูกกฎหมายเพื่อเคลียร์ทุกข้อสงสัย ไม่ปล่อยให้เรื่องคาราคาซังและนำไปสู่การใช้งาน การจับกุม หรือการติดสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ
“งานวิจัยที่พวกผมมี มีแหล่งที่มา เชื่อถือและตรวจสอบได้ทั้งสิ้น ผมพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานรัฐและนักวิชาการในเมืองไทย ขอเพียงเปิดพื้นที่อย่างแท้จริง” เขาบอกและเชื่อว่าขณะนี้มีผู้ใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าทั่วไทยราว 5 แสนคน โดยประเมินจากจำนวนสมาชิกบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มตามโซเชียลมีเดีย
“ไม่คิดเชิญชวนให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เหมือนที่บิดเบือนกัน คนไม่สูบก็ดีอยู่แล้ว แต่เราต้องการทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนเท่านั้น”
มาริษที่สูบบุหรี่มวนมากว่า 20 ปี และบุหรี่ไฟฟ้าอีกเกือบ 10 ปี กล่าวว่า วิธีควบคุมทำได้ง่ายดายและเป็นประโยชน์มากกว่าการปิดกั้นอุปกรณ์ที่มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน
ด้านเพจอายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว เพจให้ความรู้ทางการแพทย์ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.4 แสนคน รายงาน ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับโรคปอดอันเกี่ยวเนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยวารสาร New England Journal of Medicine ลงตีพิมพ์ในวันที่ 7 กันยายน 2562 ระบุว่า จากการศึกษาผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ป่วยจำนวน 53 คน พบว่า มีการผสม THC สารที่อยู่ในกัญชา ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และมีอีก 7 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้บุหรี่เผาไหม้ร่วมด้วย ซึ่งผู้วิจัยตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะเกิดจากตัวทำละลาย หรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน มีการดัดแปลงและผสมเอง (THC) มากที่สุด
สาเหตุรองมาคือ อาจจะเกิดจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและสารสกัดจากกัญชาให้เหมาะสม น่าจะยังมีปัญหา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่า ตัวน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดเรื่อง หรือสารสกัดกัญชาทำให้เกิดเรื่อง หรือเกิดจากไอระเหยของทั้งสองเมื่อผ่านความร้อนของระบบส่งความร้อนของบุหรี่ไฟฟ้าแล้วทำให้เกิดเรื่อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :