เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ภายหลังจากลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ณ โรงเรียนวัดผ่องพลอยอนุสรณ์ บางนา พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมติดแฮชแท็ก #สารวัตรเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแคมเปญจับตาการความผิดปกติของการเลือกตั้ง 2562 โดยข้อความระบุว่า
“ผมไปใช้สิทธิมาแล้วที่หน่วยเลือกตั้ง 39 เขตเลือกตั้ง 21 ที่โรงเรียนวัดผ่องพลอยอนุสรณ์ บางนา มีเรื่องร้องเรียน ผมเดินเข้าไปในเต็นท์ใหญ่ที่มีหลายหน่วยย่อย เพื่อนผมยกกล้องขึ้นถ่ายรูป มีนศรด. เดินมาบอกว่าอย่าถ่ายรูป จากนั้นก็ห้ามถ่ายรูปหมด
“เมื่อเดินออกมา หน่วยผมติดหน่วย 38 จนท. ตำรวจในหน่วย 38 ยศระดับร้อยตำรวจเอกบอกว่า ห้ามถ่ายรูปในบริเวณนี้ ทั้งที่เราถ่ายจากนอกเชือกกั้นเข้าไปในหน่วย เขาบอกว่า กฎหมายห้าม เขาไปอบรมมา แล้วกฎหมายแรง ขอความร่วมมือ โดยไม่ได้แจ้งมาตราว่ามาตราไหนห้าม
“จากนั้น มีเจ้าหน้าที่หญิงใส่เสื้อเหลืองเดินมายืนยันว่า เขาห้ามถ่าย ผิดกฏหมาย เท่านั้นยังไม่พอ ยังไปตามเจ้าที่ที่อีกคนมาบอกว่า ขอความร่วมมือ ผมถามว่าพี่ตำแหน่งอะไรครับ เป็นกกต. หรือเปล่า เขาบอกว่าเขาทำงานที่นี่ แล้วก็มองหน้าผม จนมีตำรวจอีกคนเดินมาสวัสดีผม เหมือนจะรู้จักหน้า ผมก็ถามว่า พี่คนนี้เป็นใคร เขาบอกผมว่าเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน
“ในตอนที่ถามนายตำรวจท่านแรกว่า ทำไมถ่ายไม่ได้ ทั้งที่เมื่อเช้าก็รายงานข่าวถ่ายรูปนายกรัฐมนตรีลงคะแนนได้ เจ้าหน้าที่บอกว่า เพราะพวกนั้นเป็นนักข่าวได้รับอนุญาต
“ประเทศนี้เป็นแบบนี้ครับ จะเอาหลักฐานอะไรหล่ะครับ ห้ามถ่ายรูป คนใส่เครื่องแบบสามารถบอกได้ว่าเขาเป็นกฎหมาย ประชาชนที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบข้าราชการไปบ้างก็ได้รับการดูแลเช่นนี้ครับ #สารวัตรเลือกตั้ง ย้ำว่าผมไม่ได้ถ่ายรูปบัตรของผมที่ในคูหา หรือนำไปเผยแพร่แต่อย่างใด
“อีกเรื่องคือ ถ้าห้ามถ่ายควรมีป้ายประกาศห้าม ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่มาบอก เพราะป้ายประกาศห้ามมีแต่ในกล่องที่เราก้มหน้าไปลงคะแนนเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการถ่ายรูปว่า ห้ามผู้ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้ง หรือเซลฟีกับบัตรเลือกตั้งที่ลงทะเบียนเลือกตั้ง และหากกระทำผิดจะถูกดำเนินคดี โดยโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ไม่ได้ข้อกำหนดเรื่องการถ่ายภาพบรรยากาศบริเวณรอบๆ คู่หาเลือกตั้ง โดยเฉพาะจากด้านนอกแนวกั้นของกกต.
นอกจากนั้น บนเว็บไซต์ของไอลอว์ (iLaw) ยังเผยแพร่คู่มือเลือกตั้ง 62: สังเกตการณ์เลือกตั้ง ฉบับง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้ โดยข้อ 2 ระบุว่า ประชาชนทั่วไปสามารถยืนสังเกตการณ์การออกเสียงลงคะแนน และการนับคะแนนได้ด้านนอก ‘สถานที่เลือกตั้ง’ บริเวณป้ายปิดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง และป้ายบอกที่เลือกตั้งได้ แต่จะเข้าไปสังเกตการณ์ด้านใน ‘ที่เลือกตั้ง’ คือรอบบริเวณตั้งแต่ที่ลงลายมือชื่อรับบัตรเลือกตั้ง และคูหาที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ได้
ถ้าใครพบเห็นความไม่ปกติในการจัดการเลือกตั้ง หรือการกระทำที่สงสัยว่าอาจเข้าข่ายการทุจริตการเลือกตั้ง และการโกงการเลือกตั้ง อาจบันทึกไว้ด้วยการถ่ายรูป หรือถ่ายคลิป หรือจดบันทึกไว้ก็ได้ สำหรับคนที่พร้อมช่วยกันเปิดเผยก็สามารถโพสต์ข้อความลงในสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม พร้อมตั้งค่าให้เป็นโพสต์สาธารณะได้เลย เพื่อไม่เป็นการใส่ร้ายใครให้ละเมิดสิทธิของเขา ถ้าหากยังไม่แน่ใจว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจริง อาจโพสต์ข้อความในเชิงการตั้งคำถามว่า สิ่งนั้นเป็นความผิดหรือไม่ หรือตั้งข้อสังเกตต่อการกระทำนั้นพร้อมอธิบายรายละเอียดการกระทำที่พบเห็นเฉพาะส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง โดยอย่าเพิ่งรีบตัดสิน
หากใครยังไม่อยากเปิดเผยตัวตนบนโลกออนไลน์ ก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้ถ่ายภาพหลักฐานเก็บไว้ให้ได้ก่อน แล้วค่อยส่งข้อมูลต่อ โดยไม่เปิดเผยตัวตน
ข้อควรระวังคือ เราสามารถถ่ายภาพหรือวิดีโอได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพ หรือวิดีโอการออกเสียงลงคะแนนของผู้มาใช้สิทธิคนอื่น เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเขา และห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว
ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง และระเบียบ กกต. ไม่มีข้อห้ามการถ่ายภาพบริเวณสถานที่เลือกตั้ง และไม่ได้ห้ามถ่ายภาพการนับคะแนน หากมีเจ้าหน้าที่คนใดเข้าใจผิด หรือมีความไม่มั่นใจว่า สามารถ่ายภาพได้หรือไม่ ก็เพียงชี้แจงกับเจ้าหน้าที่อย่างสุภาพว่า ไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามไว้