โดย กรกช เพียงใจ
'สยาม ธีรวุฒิ' ชื่อนี้ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจาก ‘เพียงดิน รักไทย’ ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งได้แพร่กระจายข่าวผ่านช่องทางยูทูบว่า สยามและนักจัดรายการวิทยุใต้ดินชื่อดัง ‘ลุงสนามหลวง’ พร้อมกับผู้ติดตามอีกคนหนึ่งถูกจับกุมตัวที่เวียดนามและถูกส่งตัวกลับไทยแล้วในวันที่ 8 พ.ค.
ความหวาดกลัวว่าผู้ลี้ภัยไทยอาจสูญหายเกิดขึ้น เพราะเคยมีกรณีสูญหายและเสียชีวิตเกิดขึ้นแล้วจริงๆ รายงานข่าวระบุว่า อย่างน้อยมี 2 รายที่สูญหายในช่วงปี 2559-2560 และอย่างน้อย 2 รายที่ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมและพบศพในแม่น้ำโขง ส่วนอีก 1 รายคือ สุรชัย แซ่ด่าน ยังไม่พบตัวจนปัจจุบัน
“แม่แค่อยากรู้ว่าเขาปลอดภัยไหม และอยู่ที่ไหน” กัญญา ธีรวุฒิ ผู้เป็นแม่กล่าว
เธอตระเวนยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ ทั้งตำรวจและทหารต่างปฏิเสธการควบคุมตัว แต่ครอบครัวยังคงกังวลใจเนื่องจากข่าวต้นทางนั้นระบุวันเวลาที่ชัดแจ้งและยังปรากฏภาพพาสปอร์ตปลอมที่มีภาพบุคคลทั้งสามคนอย่างถูกต้อง ที่สำคัญ ตามแบบแผนการปฏิบัติที่ผ่านมา 5 ปี เจ้าหน้าที่ทหารสามารถควบคุมตัวผู้ใดก็ได้ในค่ายทหารโดยไม่ให้ติดต่อโลกภายนอกเป็นเวลา 7 วัน และคำสั่งดังกล่าวยังมีสถานะเป็นกฏหมายอยู่จนปัจจุบัน
“มีเพียงการยืนยันต่อสาธารณะว่านักกิจกรรมทั้งสามถูกควบคุมตัวและได้พบกับญาติและที่ปรึกษาทางกฎหมายเท่านั้นที่ทางการจะระงับความกลัวว่าพวกเขาได้ถูกบังคับให้สูญหาย” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ Human Rights Watch กล่าว
สยามไม่ใช่บุคคลสาธารณะ ไม่เป็นที่รู้จัก เป็นเพียงคนหนุ่มที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และต้องออกจากประเทศตอนอายุ 29 ปี ภายหลังการรัฐประหาร 2557 เพราะมีการรื้อฟื้นทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112
เหตุแห่งคดีคือ ละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ละครย้อนยุคออกแนวตลกโปกฮาซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนบางกลุ่มและพวกเขาได้ทำการแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 ไว้ในปี 2556 ท้ายที่สุดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำละครอย่าง 'ภรณ์ทิพย์ มั่นคง' และ 'ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม' วัย 25 ปีถูกจับกุมตัวและต้องติดคุกอยู่ 2 ปีเต็ม
หากสืบสาวประวัติกลับไปจะพบว่า สยามเป็นคนกระทุ่มเบน จังหวัดสมุทรสาคร เขาทำงานกับครอบครัวซึ่งทำกิจการเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ขณะเดียวกันก็ลงเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
น้องสาวของสยามเล่าว่า สยามเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก เขาอ่านหนังสือการเมืองและประวัติศาสตร์มากมายและมักส่งต่อให้น้องสาวอ่านด้วย หนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันดูจะมีอิทธิพลต่อความคิดของเขา นอกเหนือจากนั้นเขายังสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเขมร ครอบครัวของเขาเล่าว่า เขามีหนังสือภาษาเขมรจำนวนมาก โดยเขาเรียนภาษานี้ด้วยตนเองจากยูทูบพร้อมๆ กับสั่งซื้อดิกชันนารีภาษาเขมรเล่มเขื่องไว้ติดตัว
“ละครบาสัก” สุดยอดอุปรากรขแมร์จากโคชินจีน
“ละครยี่เก” มรดกนาฏดนตรีกัมพูชา
“จะเป็ยดองแวง” มรดกวัฒนธรรมดนตรีกัมปูเจีย
อลังการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จสีหนุ
พระบาทสมเด็จนโรดมสีหนุ เอกอัครศิลปินแห่งกัมพูชา
“กรมงุย” ลำนำกวีขแมร์ ไม่มีวันตาย
ฯลฯ
เหล่านี้คือชื่อบทความที่เขาเขียนใน blogazine ในคอลัมน์ "จุมเรียบซัว: ศิลปะบันเทิงขแมร์ง่ายๆ สบายๆ สไตล์เรา" โดยเขาเขียนบรรยายบล็อกของเขาไว้ว่า
"จุมเรียบซัว เป็นคำทักทายในภาษาเขมร ใช้สำหรับผู้ที่มีอาวุธโสสูงกว่าผู้พูด หรือกล่าวกับบุคคลทั่วไปที่ไม่ทราบลำดับอาวุธโส จะต่างกับคำว่า ซัวซะได ซึ่งเป็นคำทักทายสำหรับผู้มีอาวุธโสอ่อนกว่าผู้พูด หรือบุคคลที่เป็นผู้มีอาวุธโส มีศักดิ์เสมอกับผู้พูด
เช่นนี้ การใช้คำว่า "จุมเรียบซัว" เป็นชื่อบล็อกจึงมีความหมายเป็นการทักทายกับผู้อ่านทั่วๆ ไป อย่างให้เกียรติยศสูงสุด เพราะผู้เขียนถือว่าเกียรติยศสูงสุดของการสร้างงาน คือความเมตตาจากผู้อ่านผู้เสพงานทุกรูปนามไม่ว่าท่านจะเป็นใคร"
แว่นตาหนาเตอะที่เขาใส่ บุคลิกสุภาพ การพูดด้วยเสียงเรียบๆ โทนเดียว คือจุดเด่นของเขา
เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เคยเป็นสมาชิกกลุ่ม “ประกายไฟ” และเคยพบปะพูดคุยกับสยามในช่วงที่ทำกิจกรรมร่วมกันในกลุ่มเล่าถึงสยามว่า เขาเป็นคนสุภาพและมีความรู้มาก โดยเฉพาะเรื่องเขมรที่เขาสนใจจนเข้าขั้นหมกมุ่น สยามเจอเจอสมาชิกกลุ่มประกายไฟในสมัยที่ยังเรียนรามคำแหงเมื่อหลายปีก่อน ด้วยความที่เขาไม่ค่อยมีเพื่อนที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องความรู้ของเขาได้มากนัก จึงอยากเข้าร่วมกลุ่มและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ
กลุ่มประกายไฟก่อตั้งราวปี 2551 ประกอบด้วยคนหนุ่มสาวที่กระตือรือร้น พวกเขาเจอกันก่อนหน้านั้นในช่วงทำกิจกรรมนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการต่อต้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ การต่อต้านสงครามอิรัก ฯลฯ จากนั้นหลังการรัฐประหารปี 2549 หนุ่มสาวเหล่านี้ได้ร่วมต่อต้านการรัฐประหาร แม้ก่อนหน้านี้หลายคนจะเคยชุมนุมร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่��ดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แต่เมื่อปรากฏข้อเรียกร้องมาตรา 7 นายกพระราชทาน พวกเขาก็เลิกเดินร่วมทาง
เก่งกิจเล่าว่า กิจกรรมของประกายไฟนอกเหนือจากต่อต้านรัฐประหาร ส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำกิจกรรมกับแรงงาน หนุ่มสาวเหล่านี้ทำกลุ่มศึกษากับแรงงานตามโรงงานเพื่อให้พวกเขาเข้าใจสิทธิของตนเองและเจรจาต่อรองสิทธิต่างๆ กับนายจ้าง รวมถึงการผลักดันระบบรัฐสวัสดิการในทางการเมือง ในช่วงที่คนงานโรงงานไทรอัมพ์กำลังจะถูกเลิกจ้าง 1,900 คน กลุ่มประกายไฟก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมต่อสู้จนเกิดการชุมนุมประท้วงยาวนานที่กระทรวงแรงงาน
ศรีไพร นนทรีย์ แรงงานนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่อายุ 18 ปีเมื่อครั้งเป็นคนงานในโรงงานเย็บผ้า และร่วมผลักดันระบบสวัสดิการต่างๆ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงบทบาทของสยามว่า
“สยามเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่เคยช่วยเราทำงานกลุ่มศึกษาให้กับคนงาน และเวทีแลกเปลี่ยนกรรมกรนักศึกษา สยามเป็นคนน่ารักช่วยเหลือทุกงาน เดินทางไปทุกที่ที่มีกิจกรรมของคนงาน ไม่ว่าจะไกลหรือยากลำบากขนาดไหน แม้แต่งานศพของคนงานที่สยามไม่เคยรู้จักสยามก็ไป ล่าสุดก็งานศพของพี่ตุลาแถวๆ อ้อมน้อย อยู่ๆ เรามาจากกันเพราะน้องต้องลี้ภัยแต่ก็ยังหวังว่าวันหนึ่งเราจะได้พบกันอีก เมื่อวานเห็นข่าวว่าน้องโดนจับและถูกส่งตัวมาไทย แต่ทางการไทยปฏิเสธการรับรู้ใดๆ สิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้เรานอนไม่หลับ และคิดว่าไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยรอๆๆ แบบไม่รู้ว่าจะได้ยินข่าวว่าสยามปลอดภัย เมื่อไหร่ เลยจะขอบอกกันไว้ตรงนี้เลยว่าพี่จะไม่ยอมให้น้องชายที่พี่รักหายไปเฉยๆ หรอกนะ ไม่มีวันยอม”
ระหว่างเส้นทางการทำกิจกรรมร่วมกับประกายไฟดังกล่าว สมาชิกบางส่วนที่เชี่ยวชาญด้านการละครได้แยกตัวออกไปเน้นงานศิลปวัฒนธรรม เนื่องจากเห็นว่าละครเป็นเครื่องมือที่คนชั้นล่างสามารถใช้ในการเผยแพร่แนวคิดต่างๆ ได้ เก่งกิจเล่าว่า สยามและเพื่อนกลุ่มนี้เริ่มเดินสายจัดเวิร์กชอปการทำละครง่ายๆ ให้กับสหภาพแรงงานต่างๆ
เพื่อนอีกคนหนึ่งในกลุ่มละครเล่าว่า เขาเจอสยามตามวงเสวนาต่างๆ ราวปี 2552 สยามเป็นรุ่นพี่ที่เรียนไม่จบเสียทีและเป็นแฟนคลับ สนนท.จึงชวนมาเข้ากลุ่ม
ในปี 2553 สยามและกลุ่มละครมักไปสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในเวลานั้น
“ทุกคนเข้าใจว่าสยามเป็นสันติบาล เขาชอบถามอะไรเยอะแยะไปหมด เขาไม่ได้ไปม็อบเพราะจะต่อสู้ในแนวทาง นปช.หรืออะไรแบบนั้น แต่เขาชอบรู้จักคน อยากรู้จักชาวบ้าน อยากรู้ว่าชาวบ้านมายังไง นั่งรถอะไรมา มากี่ชั่วโมง มากี่คน มานี่ต้องทิ้งบ้านไว้กับใคร หมาที่บ้านอยู่ยังไง มันถามขนาดนี้เลย ละเอียดอ่อนกับมนุษย์มาก แล้วเขาก็มีความสุขที่ได้กลับมาเล่าให้พวกเพื่อนๆ ฟังเพราะเพื่อนๆ ขี้เกียจไป ร้อน”
“เขาไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ไม่มั่นใจในศักยภาพตัวเอง ทั้งที่จริงๆ เขามีศักยภาพมาก เรื่องภาษาศาสตร์เขาจีเนียสจริงๆ เราเคยสงสัยกันว่าทำไมขนมจีนต้องเรียกว่าขนมจีนวะ แล้วท้ากันว่าสยามจะรู้ไหม พอโทรหา ปรากฏว่าสยามรู้จริงๆ แหละว่าทำไมเรียกขนมจีนแล้วก็อธิบายรากศัพท์ยาวเหยียด และเขายังมีความรู้เรื่องดนตรีไทยสูงมาก ฟังเพลงไทยเดิม”
สำหรับการก้าวสู่วงการละครเวทีครั้งแรกของสยามนั้น เป็นไปเพราะโดนบังคับ
“พอดีนักแสดงขาด เลยไปบังคับให้เขามาเล่น และเราคิดว่าละครจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เขาในการแสดงออกและปฏิสัมพันธ์กับคนมากขึ้น แล้วเขาก็ทำได้ดี”
“เขาไม่มีความคิดรุนแรงเลยในตอนนั้น เป็นคนประนีประนอมสูง เป็นมิตร จริงใจและขี้กลัว ตอนที่มีคนโดนจับเพราะเรื่องละคร เพื่อนห่วงเขามากที่สุดเพราะเขาไม่พร้อมเลยกับการติดคุก เขาไม่พร้อมจะเผชิญกับความเลวร้ายขนาดนั้น เรากลัวเขาโดนซ้อม กลัวเขาตายในคุก” เพื่อนเล่า
สำหรับข่าวคราวของสยามในครั้งนี้ เก่งกิจให้ความเห็นว่าเขารู้สึกเศร้ามาก
“รู้สึกเศร้าในหลายเรื่อง ไม่ใช่สยามคนเดียว คนที่เรารู้จักหลายคนที่ต้องหลบหนี ติดคุก คนหลากหลายรุ่นที่เผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน ถ้ามองจากเคสของสยาม เขาไม่ได้เป็นคนที่มีความคิดรุนแรงตอนที่เราเจอเขา เขาเป็นเพียงคนที่มีความสนใจในประเด็นทางสังคม ต้องการหาความรู้ ต้องการถกเถียง อยากให้สังคมดีขึ้น แต่สถานการณ์ของเผด็จการได้เบียดขับคนจำนวนมากให้ต้องออกไป เขาไม่ได้เกิดมาเป็นภัยกับสังคม แต่บรรยากาศทำให้เขาเป็นภัย เขาไม่ได้อยากออกนอกประเทศ แต่เขาอยู่ไม่ได้เพราะต้องเผชิญกับกฎหมายที่อยุติธรรม ความเจ็บปวด ความยากลำบากที่เขาเจอทำให้เขาวิจารณ์ระบบมากขึ้น อย่างน้อยก็มากกว่าพวกเรา”
“เราควรตั้งคำถามมากกว่าว่า เงื่อนไขทางสังคมอะไรที่ทำให้คนจำนวนมากที่มีศักยภาพต้องอยู่ในคุกบ้าง ต้องออกนอกประเทศบ้าง มันเป็นการทำลายการอยู่ร่วมกันอย่างสิ้นเชิง” เก่งกิจกล่าว
สัปดาห์หน้าครอบครัวของสยามยังคงจะติดตามหาลูกชาย-พี่ชายของพวกเขาต่อไป ด้วยความหวังเพียงว่า สยามและคนอื่นๆ จะยังปลอดภัยและถูกดำเนินคดีตามปกติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: