รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ส.ค. 2563 ว่า อนุมัติการใช้เงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ใน 3 โครงการ วงเงินรวม 1,100 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอมาภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย โครงการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จำนวน 2 โครงการ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 โครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.โครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม งบประมาณ 203 ล้านบาท
โดยจะใช้จ่ายจากเงินกู้ในส่วนของค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าลงทุนของโครงการ วงเงินรวม 154.13 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากร วงเงิน 49.83 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากเงินรายได้ของ วว.โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ บัณฑิตและประชาชน จำนวน 250 ราย และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอย่างน้อย 30 ราย
สำหรับประโยชน์ของโครงการ ได้แก่ ทดแทนการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์จากต่างประเทศ เป็นมูลค่าประมาณ 337.50 ล้านบาท, สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภาคการเกษตรและผลผลิตท้องถิ่น รวม 1,875 ล้านปี (เฉลี่ยปีละ 125 ล้านบาทต่อปี), ลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการอาหารได้ 141.75 ล้านบาท และ ลดต้นทุนการแปรรูปของเกษตรกรและวิสาหกจชุมชน 167.06 ล้านบาท
2.โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันตกด้วย BCG โมเดล (Bioeconomy Circular Economy Green Economy : BCG Model) หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม งบประมาณ 115 ล้านบาท
กลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรที่นำเทคโนโลยีและวิธีการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตไปใช้อย่างน้อย 50 ราย เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำที่มีการนำไปใช้ลดต้นทุนการผลิต 5 เทคโนโลยี และพัฒนาปัจจัยการผลิต 5 ผลิตภัณฑ์
สำหรับประโยชน์ของโครงการด้านสังคมและการเกษตร ประกอบด้วย มีพื้นที่เกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการใช้สารชีวภัณฑ์ 33,350 ไร่, ลดต้นทุนการผลิตของเกษตร 172.5 ล้านบาท (ตลอดอายุโครงการ 15 ปี) เฉลี่ย 11.5 ล้านบาทต่อปี และ ลดปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีของเกษตรกร
ส่วนประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ลดการนำเข้าสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช 241.5 ล้านบาท (ตลอดอายุโครงการ 15 ปี) เฉลี่ย 16.1 ล้านบาทต่อปี, ยกระดับศักยภาพด้านการผลิตหัวเชื้อชีวภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชีวภัณฑ์ทางการเกษตร และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ
3.โครงการพัฒนาป่าไม้ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ของกรมป่าไม้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 863 ล้านบาท
ประโยชน์ของโครงการ ได้แก่ สร้างงานสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน จำนวน 7,554 แห่ง ทั่วประเทศ คิดเป็นจำนวนคน 31,148 คน, พื้นที่ป่าไม้ได้รับการป้องกัน รักษา โดยการมีส่วนร่วมในรูปแบบเครือข่ายไฟป่า จำนวน 2,182 เครือข่าย, เพิ่มการผลิตกล้าไม้พันธุ์ดี จำนวน 70 ล้านกล้า, มีเรือนเพาะชำชุมชน จำนวน 40 เรือน พร้อมกล้าไม้พันธุดีไม่น้อยกว่า 200,000 กล้า, มีการพัฒนาข้อมูลการครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 3,000 หมู่บ้าน และชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าชุมชน จำนวน 2,000 แห่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: