วันนี้ (4 กุมภาพันธ์) เจ เวนเจอร์ส หรือ เจวีซี บริษัทพัฒนาธุรกิจซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน และลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ นำโดย นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แถลงความร่วมมือในการนำโทเคนดิจิทัล 'เจฟินคอยน์’ (JFIN Coin) เข้าไปอยู่ 'สตางค์โปร’ (Satang Pro) ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ให้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป
การร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกมาตรการควบคุมผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ส่งผลให้บริษัทผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหลายบริษัทไม่ผ่านการอนุญาต รวมถึงบริษัทคอยน์ แอสแซท และบริษัทแคชทูคอยน์ อดีตผู้ให้บริการการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เจฟินคอยน์เข้าไปอยู่ด้วย
สำหรับประชาชนที่ถือโทเคนดิจิทัล เจฟินคอยน์ อยู่บนผู้ให้บริการทั้งสองแห่ง สามารถถอนหรือโอนสินทรัพย์ไปยังสตางค์โปรได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 7 และ 14 กุมภาพันธ์ สำหรับคอยน์ แอสแซท และ แคชทูคอยน์ ตามลำดับ
ด้านนายพิสิทธ์ สุชาริจโสภิต คณะกรรมการบริหารของบริษัทสตางค์ กล่าวในงานแถลงข่าวครั้งนี้ถึงบทบาทของสตางค์ในการเป็นแพลตฟอร์มการเเลกเปลี่ยนที่ทั้งปลอดภัย สะดวก ทันสมัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งาน
“ใช้ความโดดเด่นในเรื่องเทคโนโลยี พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการเงิน เรามองว่านี่คือจุดแข็งของบริษัท” นายพิสิทธิ์ กล่าว
การแถลงครั้งนี้ นายธนวัฒน์ ได้กล่าวถึงโครงสร้างการพัฒนาโทเคนดิจิทัล เจฟินคอยน์ ไปใช้ในระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized Digital Lending Platform) ของบริษัทซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานเร่งพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มนำระบบบล็อกเชนมาใช้ได้ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2562
ในขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มสินเชื่อออนไลน์เดิม (Digital Lending Platform) ของบริษัท หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ป๋า” ก็เตรียมปรับโฉมใหม่ พร้อมเน้นทำการตลาดเพิ่มการเข้าถึงแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น โดยเจวีซีมองว่า จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการกู้ยืมเงินสำหรับกลุ่มคนที่ขาดโอกาสเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินจากสถาบันการเงินหลัก
เปิดรายชื่อ 3 ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเห็นชอบให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการที่ยื่นขอใบอนุญาตภายใต้พระราชกำหนดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่มีทั้งหมด 7 ราย และได้รับใบอนุญาต 4 ราย ปฏิเสธคำขอ 2 ราย ขณะที่ 1 รายอยู่ระหว่างการพิจารณา
โดยกลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 4 ราย ประกอบด้วยผู้ได้รับอนุญาตเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 3 รายได้แก่ (1) บริษัท บิทคอยน์ จำกัด (BX) เว็บไซต์ bx.in.th (2) บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB) เว็บไซต์ bitkub.com และ (3) บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Satang Pro) เว็บไซต์ satang.pro และผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าและผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (Broker/Dealer) จำนวน 1 ราย ได้แก่ (4) บริษัท คอยส์ ทีเอช จำกัด (Coins TH) เว็บไซต์ Coins.co.th
กลุ่มที่คำขออนุญาตถูกปฏิเสธจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท แคชทูคอยน์ จำกัด (Cash2coin) เว็บไซต์ cash2coins.com และบริษัท เซาท์อีส เอเชีย ดิจิทัล เอ็กซ์เชนจ์ จำกัด (SEADEX) เว็บไซต์ seadex.io ซึ่งได้ยื่นคำขอใบอนุญาตเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) เนื่องจากระบบงานสำคัญ อาทิ การดูแลรักษาทรัพย์สินและระบบงานในการทำความรู้จักตัวตนลูกค้ายังไม่มีความพร้อมตามมาตรฐานที่ ก.ล.ต. ยอมรับ และไม่สามารถแสดงได้ว่าระบบ IT security และ cybersecurity มีความปลอดภัยเพียงพอ
ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัท Cash2coin และ SEADEX มีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้บทเฉพาะกาล ผลการพิจารณานี้จึงเป็นเหตุให้บริษัทต้องยุติการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ดี เพื่อให้เวลาในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย รวมทั้งแจ้งข้อมูลให้ลูกค้าทราบเพื่อการโอนทรัพย์สินของตนเองคืน หรือโอนไปยังผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นตามความประสงค์ของลูกค้า กระทรวงการคลังจึงอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายดังกล่าว ยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้จนถึงวันที่ 14 มกราคม 2562
และหากบริษัทฯ ยังมีทรัพย์สินของลูกค้าที่รับฝากไว้ ขอความร่วมมือให้บริษัทฯ ดำเนินการโอนหรือส่งคืนทรัพย์สินให้แก่ลูกค้าหรือตามคำสั่งลูกค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินงานให้ ก.ล.ต. ทราบด้วย โดย ก.ล.ต. ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัททั้ง 2 แห่งทราบเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ การปฏิเสธคำขอใบอนุญาตดังกล่าว ไม่ได้ตัดสิทธิในการยื่นขอใบอนุญาตได้อีกในอนาคตเมื่อบริษัทมีความพร้อม
สำหรับผู้ขออนุญาตรายบริษัท คอยน์ แอสเซท จำกัด (Coin Asset) เว็บไซต์ coinasset.co.th ซึ่งยื่นขอใบอนุญาตเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เนื่องจากในระหว่างพิจารณาคำขอ Coin Asset มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารที่มีนัยสำคัญต่อการพิจารณา ขณะนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้การพิจารณาคำขอของบริษัทต้องเลื่อนออกไป โดยในระหว่างนี้บริษัทดังกล่าวยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ภายใต้บทเฉพาะกาล