ไม่พบผลการค้นหา
ประเด็นสิทธิสตรีในหลายประเทศยังคงเป็นที่ไม่ถูกยอมรับ เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในจอร์แดน หลังสมาชิกสมาผู้แทนราษฎรซัดหมัดใส่กัน จากการถกเถียงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเนื้อหาการเพิ่มสิทธิให้แก่ผู้หญิงในประเทศ

การดวลหมัดในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก ฮัสซาน ริอาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอนุรักษ์นิยม กับ ชาดิ อัดวาน ถกเถียงกันอย่างหนัก ก่อนเริ่มการต่อสู้กันกลางรัฐสภาของประเทศ ถึงแม้ประธานรัฐสภาจะทำการสั่งห้ามแล้วก็ตาม นอกจากทั้งคู่แล้ว ส.ส.หลายคนในที่เกิดเหตุยังมีการต่อยและผลักกันด้วยเช่นกัน

การถกเถียงเกิดขึ้นหลังจากที่ ส.ส.ในรัฐสภานำเสนอประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มสิทธิให้แก่ผู้หญิงในประเทศ โดยปัจจุบัน ผู้หญิงชาวจอร์แดนมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายในประเด็นด้านการสาธารณสุข การศึกษา การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการจ้างงาน อย่างไรก็ดี ผู้หญิงจอร์แดนกลับไม่มีสิทธิด้านสัญชาติเท่าเทียมกับผู้ชาย อาทิ พวกเธอไม่สามารถส่งต่อสัญชาติจอร์แดนให้แก่ลูกหรือคู่ครองต่างชาติได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญของจอร์แดนในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากกษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 ของจอร์แดน ทรงเสนอให้มีการปรับประเทศจอร์แดนให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอย่างหนักบนรัฐสภาของจอร์แดนของพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคอนุรักษ์นิยม โดย โมฮัมหมัด อัล ฟาเยซ ส.ส.ผู้เสนอการแก้ไขกฎหมายระบุว่า สิทธิสตรีเดิมในรัฐธรรมนูญจอร์แดน “ผิดต่อศีลธรรมและความเป็นแม่” อย่างร้ายแรง

กระบวนการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิสตรีหยุดชะงักลง หลัง ส.ส.หลายคนเริ่มตะโกนโจมตีมติดังกล่าว โดย อับดุลมูนิม ออดดัท ผู้พยายามปกป้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ไม่ได้เพิ่มลายลักษณ์อักษรใดลงไปในตัวกฎหมาย แต่เป็นเพียงแค่จุดประสงค์ในการสร้าง “ความเท่าเทียมทางภาษาเท่านั้น”

“เราคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่รัฐธรรมนูญของประเทศจะต้องระบุถึงผู้หญิงในลักษณะที่ชัดเจน” รีม อาบู ฮัสซาน หนึ่งในคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ของจอร์แดนเผยกับสำนักข่าว CNN ว่าเธอและคณะพยายามแก้ไขให้จอร์แดนมีความทันสมัยขึ้น แทนการติดอยู่ในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ของอารบิกตั้งแต่ราวทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา

อาบู ฮัสซาน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในด้านสิทธิสตรีครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายสำคัญไปที่การแก้ไขกฎหมายด้านสัญชาติและการสืบมรดกของพลเมืองหญิงในจอร์แดน และกฎหมายยังจะช่วยให้ผู้หญิงในประเทศมีบทบาททางสาธารณะที่มากขึ้น ในขณะที่กฎหมายการสืบทอดมรดกของผู้หญิงในปัจจุบัน วางอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายชารีอะห์ ที่ทำให้ผู้ชายสืบทอดมรดกได้มากกว่าผู้หญิงสองเท่าตัว

สิทธิสตรียังคงเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงอย่างหนักในจอร์แดน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการต่อต้านจากนักการเมืองและกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยม ที่ต้องการจำกัดบทบาทของผู้หญิงในประเทศ ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคตะวันออกมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด้นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสิทธิสตรีเช่นกัน

ที่มา:

https://edition.cnn.com/2021/12/29/middleeast/jordan-parliament-fight-intl/index.html?utm_medium=social&utm_term=link&utm_source=fbCNNi&utm_content=2021-12-30T00%3A45%3A11&fbclid=IwAR1k6zceHkUYt8-Jqzndh2EFaehjjpH5GKzatvwSieZwGu1Wp4r5mU5Ze-A

https://www.timesofisrael.com/gender-equality-debate-leads-to-brawl-in-jordan-parliament/