ไม่พบผลการค้นหา
ฝ่ายกฎหมาย ‘เพื่อไทย’ มองคำชี้แจงปม 8 ปี ‘ประยุทธ์’ มีแต่ข้อกฎหมาย ไม่มีข้อเท็จจริง เพราะนับจากระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ชัดเจนแล้ว มองศาล รธน.วินิจฉัยจบเร็ว ใน ก.ย. รู้ผล เพราะตีความกฎหมายแค่ 2 มาตรา

วันที่ 2 ก.ย. 2565 สุขุมพงศ์ โง่นคำ คณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นต่อกรณีคณะทำงานด้านกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ทำเอกสารชี้แจงความยาวกว่า 20 หน้ากระดาษ ต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยกรณีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์

สุขุมพงศ์ ระบุว่า สำหรับกรณีนี้นั้น เป็นหน้าที่โดยตำแหน่งของคณะทำงานด้านกฎหมายอยู่แล้ว ถือเป็นเรื่องปกติ พร้อมมองว่าในเอกสารชี้แจงนั้นมีเพียงข้อกฎหมายเพื่อหักล้างคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านเท่านั้น ไม่ได้มีข้อความเห็น เพื่อบ่งชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่เมื่อใด เพราะเหตุใด

“ในเอกสารชี้แจงเป็นข้อกฎหมายล้วนๆ เลย ไม่มีข้อเท็จจริงอะไรหรอก เขารู้กันอยู่แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เมื่อไหร่ เป็นข้อกฎหมายล้วนเลย ข้อเท็จจริงไม่มี เพราะข้อเท็จจริงนั้นยุติไปแล้ว”

สำหรับแนวโน้มการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ สุขุมพงศ์ อธิบายว่า จะเริ่มจากตีความตามข้อกฎหมายก่อน ถ้าข้อกฎหมายไม่ชัด แล้วจึงค่อยตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้ตนมองว่าข้อกฎหมายนั้นชัดแล้ว เพราะมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทเฉพาะกาล 264 ยกเว้นไว้ว่าหากเป็นนายกฯ ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งตามวรรคสอง ที่ระบุว่า กรณีที่พ้นตามวรรคสอง ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นเรื่อง 8 ปี จึงต้องนำการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี มาบังคับใช้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

สุขุมพงศ์ ยังย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องดูข้อเท็จจริงแล้ว เนื่องจากมีความชัดเจนอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นนายกฯ เมื่อใด ด้วยการดูจากพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งแรก ด้วยเหตุนี้จึงไม่จำเป็นต้องดูเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยซ้ำ

ส่วนกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติให้เสนอความเห็นของนักวิชาการหลายท่านเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบการวินิจฉัยนั้น สุขุมพงศ์ กล่าวว่า เนื่องจากมีข่าวปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญจะขอความเห็นจาก มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ กรธ. เนื่องจากเคยให้ความเห็นกรณีดังกล่าวไว้

อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าควรมีความเห็นของนักกฎหมายที่มีความเป็นกลาง จึงได้ส่งความเห็นของ 51 อาจารย์คณะนิติศาสตร์ พร้อมด้วยความเห็นของ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการ ป.ป.ช. รวมเป็น 3 ส่วน เนื่องจากเป็น 3 ส่วนที่เคยให้ความเห็นประเด็นนี้ไว้เช่นกันดังที่ปรากฏตามสื่อมวลชน จึงได้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อค้านกับความเห็นของ กรธ. ทั้ง 2 ท่าน 

“ก่อนที่เราจะยื่นคำร้อง เราก็ดูความเห็นของทุกฝ่ายให้มีความทั่วถึง ไม่ใช่ไปฟังแต่ความเห็นจากนักกฎหมายที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นพวกของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่แล้ว จึงได้ให้มาร่างรัฐธรรมนูญ”

สุขุมพงศ์ ยังมองว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะแล้วเสร็จโดยไม่ล่าช้านัก เพราะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 158 และ มาตรา 264 เท่านั้น ความจริงอาจมีคำตัดสินออกมาแล้วด้วยซ้ำ อีกทั้งคำร้องก็ชัดเจน และผู้ถูกร้องก็ได้ชี้แจงไปแล้ว ไม่มีเหตุให้การวินิจฉัยล่าช้า ภายในเดือน ก.ย. น่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา เพราะศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเตรียมการเรื่องข้อกฎหมายไว้นานแล้ว