วันที่ 21 มิ.ย. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.) ถึงมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจจากสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ว่า จากสถานการณ์นี้จะส่งผลในหลายมิติเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในยุโรปและคาดว่าส่งผลกระทบหนักหน่วงเพราะราคาน้ำในตลาดโลก เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น โดยตนและรัฐบาลก็ติดตามอย่างต่อเนื่องก็กังวลใจไม่น้อยกว่าทุกๆท่าน เลยสั่งการให้มีการหารือประชุมตลอดเวลาเพื่อศึกษาหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ที่สามารถแก้ปัญหาบรรเทาความเดือนร้อน
โดยวันนี้ ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนโดยเร่งด่วน ทั้งมาตรการใหม่และขยายมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.นี้ อาทิ ตรึงราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี 45.59 บาทต่อกิโลกรัม และก๊าซในโครงการเพื่อแท็กซี่ลมหายใจเดียวกันสำหรับแท็กซี่ใน กทม.และปริมณฑล 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือนถึง 15 ก.ย.นี้ รวมทั้งกำหนดกรอบราคาขายปลีกแอลพีจี 408 บาทต่อถัง ( 15 กิโลกรัม ) เป็นระยะเวลา 3 เดือนถึง ก.ย. เป็นต้น พร้อมขอบคุณสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือ
และอีกเรื่องที่คือ ขอให้ช่วยกันประหยัดพลังงานทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งขอให้แต่ละภาคต่างๆออกนโยบายที่เหมาะสมตามสถานภาพของตัวเอง อาทิ เรื่องของการเปิด-ปิดอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้ ลดการใช้อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ใช้ประชุมออนไลน์ เป็นต้น ส่วนภาครัฐได้กำหนดไปแล้วให้ลดการใช้พลังงานลง 20% ซึ่งนี่เป็นแนวทางรัฐบาลที่พยายามทำเต็มที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน
ส่วนการประเมินสถานการณ์ นายกฯ ระบุว่า ตนคาดว่าเรื่องนี้ไม่สิ้นสุดในระยะเวลาอันใกล้ ตนก็ได้ให้ประชุมเพื่อเตรียมรองรับตามสมมติฐานเพราะถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อเราจะทำอะไรได้บ้าง เราจึงต้องเตรียมแผนในอนาคตไว้ด้วย
"รัฐบาลยืนยันจะพยายามหาทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการบนพื้นฐานวินัยทางการเงินการคลังที่สมดุล ซึ่งจะต้องไม่ก่อให้เกิดภาระในอนาคตจนมากเกินไป ทีนี้ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วยนะครับ หลายอย่างเราก็ลดภาษี รายได้เราก็ลดลงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องใช้อย่างคุ้มค่าและประหยัด"
'สุพัฒนพงษ์' คาดไม่เกินสัปดาห์นี้ได้แนวทางรีดค่าการกลั่นจากเอกชน เข้ากองทุนน้ำมัน
ด้าน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ระบุถึงมาตรการขอความร่วมมือจากโรงกลั่นเอกชนนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเวลา 3 เดือน ว่า ได้มีการพูดคุยกันแล้ว คาดว่าจะหาข้อยุติได้ภายในสัปดาห์นี้ ส่วนที่มีตัวเลขออกมา 7-8 พันล้านนั้น อย่าเพิ่งกดดันขอใช้เวลาหารือเพื่อหาตัวเลขที่เหมาะสมและรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะมากกว่าหรือน้อยกว่าตัวเลขดังกล่าว ทั้งนี้ทางตัวแทนน้ำทุนเชื้อเพลิงกระทรวงพลังได้ชี้แจงและขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงกลั่น
ส่วนโรงกลั่นจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันหรือไม่ หากออกเป็นนโยบายมาแล้ว สุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า คงต้องดูความร่วมมือให้เข้าใจตรงกันและเข้าไปดูวิธีทางช่องทางการกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลยังไม่อยากใช้อำนาจในการไปบังคับโรงกลั่นแต่อาศัยความร่วมมือและจำนวนเงินที่ตกลงกันได้ที่จะช่วยสนับสนุนผ่านช่องทางไหนก็ต้องไปดูกันอีกครั้ง
ส่วนที่พรรคกล้าเสนอให้ออก พ.ร.ก.เพื่อเป็นแนวทางให้โรงกลั่น สุพัฒนพงษ์ ระบุว่า กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อาจจะมีความรู้ทางกฎหมาย ซึ่งจากนี้ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย ซึ่งการพูดคุยในตอนนี้คุยกันบนพื้นฐานความร่วมมือของ ผู้ประกอบของผู้ประกอบการโรงกลั่นที่ยินดีให้ความร่วมมือขออย่าสร้างเงื่อนไข ส่วนผลลัพธ์จะเป็นยังไงขอให้รอผลการประชุมภายในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้หากได้ข้อสรุปแล้วจะสามารถประกาศใช้ได้เลยหรือนำเข้าครม.สัปดาห์หน้าหรือไม่นั้น ขอให้รอดู ซึ่งที่ประชุม ครม.วันนี้ได้รับทราบถึงแนวทางความร่วมมือ
ส่วนแผนการช่วยเหลือระยะยาว รมว.พลังงาน ยอมรับว่าโจทย์ใหญ่ที่ต้องไปดูถึงสาเหตุ ขณะนี้ปัญหาอยู่ที่น้ำมันดีเซลที่ปรับตัวขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งคาดว่ามาตรการระยะยาวจะเป็นความช่วยเหลือ ในเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ พร้อมระบุว่าสถานการณ์จับทางยากและวิกฤตพลังงานเกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งหากจะทำการสิ่งใดต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพด้วย