ข้าราชการที่สังกัดหน่วยงานเหล่านั้นหยุดงานและไม่ได้เงินค่าตอบแทนในส่วนของเวลาที่หยุดทำการไป หลายฝ่ายคาดว่าการชัตดาวน์นี้จะลากยาวไปถึงเดือนมกราคมปีหน้า และเป็นเรื่องโหดร้ายที่ข้าราชการจำนวนมากต้องไม่ได้เงินไปใช้จ่ายหาความสุขกับครอบครัวในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่
สาเหตุของภาวะชัตดาวน์ครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกฎหมายงบประมาณของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภา โดยประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาและทำให้ไม่ได้รับอนุมัติคืองบประมาณการก่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐฯกับเม็กซิโก มูลค่า 5,700 ล้านเหรีญสหรัฐฯ ซึ่งอันที่จริง ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในข้อพิพาทเผ็ดร้อนระหว่างพรรครีพับรีกันของประธานาธิบดีทรัมป์กับพรรคเดโมแครตมาตลอดตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าจะคิดจะสร้างกำแพง ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนธันวาคม ประธานาธิบดีทรัปม์พยายามหาทางไกล่เกลี่ยกับพรรคเดโมแครตด้วยการเชิญบุคคลสำคัญของพรรคเดโมแครต คือ ชัค ชูเมอร์ (Chuck Schumer) ผู้นำวุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครต กับ แนนซี่ เพโลซี (Nancy Peloni) ผู้นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครตและประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเจรจาที่ทำเนียบขาว แต่ไม่ประนีประนอมหาข้อยุติได้ เพราะพรรคเดโมแครตยืนยันว่าตัวเลขงบประมาณสร้างกำแพงนั้นสูงเกินกว่าที่จะรับไหว และยากที่จะเชื่อได้ว่าการสร้างกำแพงจะสามารถลดปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด หรือปัญหาการว่างงานของประชาชน หลังจากนั้น ทรัมป์ก็ทวิตเตอร์โยนความผิดในพรรคเดโมแครตว่าภาวะชัตดาวน์เกิดเพราะพรรคเดโมแครตทำให้เกิด เพราะไม่ยอมให้ทรัมป์ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ
การชัตดาวน์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งครั้งแรกเกิดในเดือนมกราคม ครั้งที่สองเกิดในเดือนกุมภาพันธ์ การเกิดภาวะชัตดาวน์ถึง 3 ครั้งในปีเดียวนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อประธานาธิบดีทรัมป์ และอาจมีผลกระทบอย่างหนักต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยต่อไปในอีกสองปีข้างหน้า
สื่อมวลชนสายเชียร์พรรครีพับลิกันมักนำการชัตดาวน์ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ไปเปรียบเทียบกับการชัตดาวน์ในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา ว่าการชัตดาวน์ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2013 อันเนื่องมาจากข้อพิพาทเรื่องงบประมาณในโครงการ “โอบามาแคร์” (ObamaCare หรือกฎหมายประกันสุขภาพ หรือ The Patient Protection&Affordable Care Act หรือ PPACA) ในยุคประธานาธิบดีโอบามานั้นยาวนานกว่า คือกินเวลา 16 วัน และส่งผลเสียหายมูลค่าราว 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สื่อมวลชนสายเชียร์พรรครีพับลิกันมองว่าการชัตดาวน์สองครั้งที่ผ่านมาในยุคประธานาธิบดีทรัมป์สั้นกว่าและก่อความเสียหายน้อยกว่า
การชัตดาวน์ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 18 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดอย่างเป็นปกติในระบบการเมืองของสหรัฐฯ
การชัตดาวน์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เกิดขึ้นในยุคประธานาธิบดีเจรัลด์ ฟอร์ด (Gerald Ford) เมื่อปี ค.ศ. 1976 เป็นเวลา 11 วัน หลังจากได้มีการแก้ไขระเบียบการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ โดยกำหนดว่าต้องได้เสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 60 เสียง จากทั้งหมด 100 เสียง ในวุฒิสภา หลังจากนั้นก็เกิดในยุคประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์(Jimmy Carter) 5 ครั้ง ปี ค.ศ.1977 เกิด 3 ครั้ง นาน 12 วัน 8 วัน และ 9 วัน ใน ค.ศ. 1978 เกิด 1 ครั้ง นาน 18 วัน ใน ค.ศ.1979 เกิด 1 ครั้ง นาน 11 วัน ในยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน(Ronald Reagan) เกิด 8 ครั้ง ใน ค.ศ.1981 เกิด 1 ครั้ง นาน 3 วัน ใน ค.ศ.1982 เกิด 2 ครั้ง นาน 3 วัน กับ 5 วัน ใน ค.ศ.1983 เกิด 1 ครั้ง นาน 4 วัน ใน ค.ศ.1984 เกิด 2 ครั้ง นาน 2 วัน กับ 1 วัน ใน ค.ศ.1986 เกิด 1 ครั้ง นาน 1 วัน ใน ค.ศ.1987 เกิด 1 ครั้ง นาน 1 วัน ในยุคประธานาธิบดีจอร์จ บุช (George H.W. Bush) เกิดหนึ่งครั้งใน ค.ศ. 1990 นาน 4 วัน ในยุคประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) เกิด 2 ครั้ง ใน ค.ศ.1995 นาน 6 วัน กับ 26 วัน และในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barack Obama) เกิด 1 ครั้ง นาน 16 วัน
การชัตดาวน์ทุกครั้งจบลงอย่างสันติ ด้วยการเจรจาต่อรองระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต ทั้งสองฝ่ายพิจารณาว่า อะไรยอมได้ก็ยอม อะไรถอยได้ก็ถอย เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไปข้างหน้า
สาเหตุที่แท้จริงของการชัตดาวน์ เกิดจากความคิดที่แตกต่างกันระหว่างสองพรรคใหญ่ของสหรัฐฯ ในนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ ทั้งนี้นโยบายการสร้างกำแพงกั้นชายแดนและเคร่งครัดกับผู้อพยพ เกิดขึ้นเพราะประชาชนที่เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันคือคนผิวขาวและบรรดาคนหัวอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย ทำให้พรรครีพับลิกันพยายามผลักดันนโยบายนี้ให้ได้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนผิวขาวและชาวอเมริกันโดยกำเนิดซึ่งมักได้รับผลกระทบจากผู้อพยพที่ก่อปัญหาอาชญากรรมต่างๆ และแย่งงานทำในตลาดแรงงาน ในขณะที่ประชาชนที่เป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครตคือคนผิวสีและลูกหลานผู้อพยพที่กลายเป็นคนสัญชาติสหรัฐฯ พรรคเดโมแครตจึงไม่อาจยอมให้นโยบายนี้ผ่านไปได้ โดยยึดในหลักการปกป้องสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมเป็นสำคัญ
จะเห็นได้ว่า การชัตดาวน์ของสหรัฐฯ เกิดจากจากการที่พรรคการเมืองทั้งสองพรรคหลักของสหรัฐฯ มีนโยบายที่ขัดกัน มีฐานเสียงที่แตกต่างกัน และต่างยึดมั่นในนโยบายของตน รวมทั้งยึดมั่นในการรักษาประโยชน์ให้ประชาชนที่เป็นฐานเสียงของตนเป็นที่ตั้ง ตามประสานักการเมืองที่ตระหนักว่าตนคือผู้แทนของประชาชนที่เลือกตั้งตนเข้าสู่สภา ไม่ใช่เกิดจากการกลั่นแกล้งเพราะแพ้เลือกตั้งแล้วเจตนาสร้างความปั่นป่วนเพื่อล้มรัฐบาลแล้วแย่งเป็นรัฐบาลแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การชัตดาวน์ในครั้งนี้จะยาวนานเพียงใด และจบลงด้วยข้อยุติอย่างไร ต้องจับตากันต่อไป