ไม่พบผลการค้นหา
พันตำรวจตรี ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรือสารวัตรเพียว แสดงความเห็นต่อบรรยากาศการพิจารณา พ.ร.บ.ตำรวจ วาระที่ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตราช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สามารถพิจารณาไปได้เพียง 14 มาตราจาก 172 มาตรา เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีหลายมาตราที่ตนในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้สงวนความเห็นเอาไว้ หากผ่านก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตำรวจ ทำให้ตำรวจไทยดีขึ้นได้ทันที โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจไปให้จังหวัด ลดการรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่องค์กรตำรวจญี่ปุ่นใช้ โดยทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นองค์กรตำรวจที่ดีอันดับต้นๆของโลกและมีบริบทที่คล้ายคลึงกัน

พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวต่อไปว่า ในการอภิปรายมาตรา 13 กรรมาธิการเสียงข้างมากมีการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ต่อจากมาตรา 13 หลายมาตรา ตนจึงได้ขอเพิ่มใหม่เช่นกันเพื่อไปสู่ข้อเสนอสำคัญคือ การกำหนดให้มี ‘กรรมการนโยบายตำรวจจังหวัด’ และ ‘กรรมการนโยบายตำรวจนครบาล’ และเป็นข้อเสนอที่ภูมิใจที่จะบอกว่า เป็นการปฏิรูปได้เต็มปาก

“การจัดโครงสร้างอำนาจแบบที่ผมเสนอจะเปลี่ยนระบบราชการตำรวจให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ แต่ถึงสภานี้โหวตให้ข้อเสนอไม่ผ่าน อย่างน้อยก็จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้ประชาชนทางบ้านได้เห็นว่า รัฐบาลก้าวไกล ในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะถึงจะพลิกเปลี่ยนระบบราชการไทยให้มีประสิทธิภาพ มีอนาคตที่สดใส เทียบประเทศที่เจริญแล้วได้อย่างไร”

พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวต่อไปว่า การบริหารองค์กรยุคใหม่ต้องเลิกสายบังคับบัญชาที่ยาว ทำให้ระบบงานอุ้ยอ้าย เปลี่ยนเป็นสายบังคับบัญชาสั้นลง เคารพกันมากขึ้น เจ้านายเคารพลูกน้อง ลูกน้องเคารพเจ้านาย

เปลี่ยนจากโครงสร้างที่ต้องให้เจ้านาย กด ขี่ ควบคุม ลูกน้อง เจ้านายถูกเสมอ ใช้อำนาจแบบบนลงล่าง เปลี่ยนเป็น โครงสร้างที่ให้ความสำคัญกับคนหน้างาน โดยเจ้านายเป็นผู้สนับสนุนทรัพยากร ให้ลูกน้องทำงานได้ดี ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน การจะเปลี่ยนอนาคตให้เป็นแบบนี้ได้ จะต้องทำลายโครงสร้างอำนาจแบบรัฐรวมศูนย์

ตอนอภิปรายในมาตรา 7 เราเห็นปัญหางบประมาณ เพราะจากส่วนกลางคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นหน่วยรับและจัดงบ กว่าจะไหลหยดไปทีละชั้นและมักมองแต่อะไรใกล้ตัว จนกลายเป็นงบซื้อเครื่องบิน สร้างตึกหรู ทำให้งบที่ไหลลงตำรวจภาคเหลือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น พอไปถึงระดับตำรวจภาคก็ทำแบบเดียวกัน กว่าจะถึงสถานีตำรวจ คนหน้างานที่บริการรับใช้ประชาชนก็ขาดแคลนงบตลอดเวลา

สำหรับการจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ให้เป็นการกระจายมากกว่าเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ พันตำรวจตรี ชวลิต อภิปรายว่า ต้องทำให้สายบังคับบัญชาสั้นลง โดยตัดอำนาจบังคับบัญชาระหว่างตำรวจภาคกับตำรวจจังหวัด และตัดอำนาจบังคับบัญชาระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับตำรวจนครบาล แล้วเปลี่ยนจากจากอำนาจบังคับบัญชาให้เป็นการสนับสนุน จากนั้นจึงให้มี ‘คณะกรรมการนโยบายตำรวจจังหวัด’ และ ‘คณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล’ มาเป็นผู้บังคับบัญชาแทน เพื่อให้สามารถดูแลจัดการพื้นที่ได้ตามสภาพแต่ละจังหวัดที่มีบริบทแตกต่างกันไป

สำหรับคุณสมบัติหรือที่มาของ คณะกรรมการนโยบาย ได้เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล มาจาก ‘ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร’ สรรหามาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ ในทางด้านนิติศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ การเงินการคลัง จิตวิทยาองค์การ และสังคมวิทยา ด้านละหนึ่งคน และให้ สภา กทม. รับรอง ส่วนของจังหวัดแต่ละจังหวัด ก็ทำไปในกระบวนการลักษณะเดียวกัน และกำหนดให้ตั้งอนุกรรมการทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ติดตามผลการดำเนินงานและรับเรื่องร้องเรียน การประชุมต้องโปร่งใส ประชาชนเข้าถึงรายงานการประชุม และมติการประชมได้ง่าย

“โครงสร้างอำนาจแบบกระจายอำนาจแบบนี้ เอาแบบมาจากตำรวจญี่ปุ่น พ.ร.บ. ตำรวจ ญี่ปุ่น วางโครงสร้างไว้ตั้งแต่หลังจบสงครามโลก โดยไม่แก้เลยเป็นเวลา 70 ปีแล้ว ผลก็คือได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรตำรวจที่ดีอันดับต้นๆ ของโลก นี่คือพิสูจน์มาแล้ว ประเทศไทยคงไม่ต้องมาลองผิดลองถูกอีกแล้ว การปรับนิดๆ หน่อยๆ แต่ยังคงความเป็นอำนาจรวมศูนย์เหมือนเดิมไม่ใช่การปฏิรูป การปฏิรูปตำรวจ จริงๆ คือ ต้องกระจายอำนาจให้เกิดขึ้นจริง”

พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวต่อไปว่า หลายคนอาจมีความกังวลว่า พอพูดถึงกระจายอำนาจ จะต้องเปลี่ยนไปเป็นข้าราชการท้องถิ่นหรือไม่ จะเติบโตในสายงานขึ้นมาจากระดับจังหวัด เป็นระดับภาคหรือประเทศได้หรือไม่ ยืนยันตรงนี้ว่า ตำรวจทุกคนยังคงอยู่ในองค์กรตำรวจเหมือนเดิม ที่ทำงานที่เดิม ใส่เครื่องแบบเหมือนเดิม สามารถก้าวหน้าในสายงานจากระดับจังหวัดสูงขึ้นไปกว่าระดับจังหวัดไประดับภาคและประเทศได้เหมือนเดิม เพราะโครงสร้างที่เสนอนี้ยังไม่ได้เป็นการโอนหน่วยงานไปให้ท้องถิ่นแบบสหรัฐ ที่ตำรวจแต่ละมลรัฐเป็นองค์กรที่แยกออกจากกัน ที่เสนอโมเดลแบบญี่ปุ่น เพราะมีโครงสร้างที่เหมือนกับไทยมากกว่า โดยจะทำให้ถ่วงดุลกันได้ระหว่างตำรวจจังหวัด กับตำรวจส่วนกลางมากขึ้น 

ยกตัวอย่างกรณี น้อง วาฤทธิ์ อายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการชุมนุมหน้า สน. ดินแดง หากดูจากพฤติการณ์แวดล้อม สน.ดินแดง คือ ผู้มีส่วนได้เสียในคดี คดีแบบนี้ต้องมีหน่วยงานตำรวจอีกหน่วย แต่สายบังคับบัญชาต้องไม่เชื่อมถึงกันมาเป็นคนทำคดี ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ ที่ทั้งตำรวจส่วนกลางอย่างกองปราบ หรือตำรวจจังหวัด ตำรวจนครบาลไล่สายบังคับบัญชาขึ้นไป เจอคนเดียวกับเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นอำนาจรวมศูนย์ แบบนี้จึงหวังความเป็นธรรมได้ยาก 

ส่วนที่มีการให้เหตุผลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า การรวมศูนย์มีข้อดีเพื่อจะได้เอาคนเก่งๆ จากพื้นที่ต่างกัน มาร่วมทีมกันทำคดีสำคัญได้ เรื่องนี้ตนกลับมองตรงข้ามเลยว่า ทำไมจึงไม่ทำให้บุคลากรในทุกพื้นที่เป็นคนเก่ง เพื่อไม่ต้องดึงทรัพยากรเข้ามาที่ส่วนกลางทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในมาตราที่ 13 ข้อเสนอเกี่ยวกับการกระจายอำนาจได้แพ้โหวต สภาเสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกรรมาธิการเสียงข้างมาก 

ทั้งนี้ พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า ยังมี พ.ร.บ.ตำรวจ เหลืออีกหลายมาตราให้สู้ต่อ หนึ่งในความเห็นที่ตนสงวนไว้คือ เสนอเพิ่มความในมาตรา 143 วรรคสอง

“ข้าราชการตำรวจทุกเพศมีสิทธิและเสรีภาพในการไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ โดยสุภาพและเรียบร้อย การออกกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งเกี่ยวกับทรงผมข้าราชการตำรวจ ให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพได้เท่าที่จำเป็นเพื่อความสุภาพและเรียบร้อยเท่านั้น”

พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวว่า แม้แต่เด็กนักเรียนในปัจจุบันก็ยังยกเลิกการบังคับตัดทรงผมที่ล้าหลังไปแล้ว ยิ่งข้าราชการตำรวจทุกคนเป็นผู้มีวุฒิภาวะ จึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดเลยที่จะต้องบังคับตำรวจชายตัดผมสั้นเกรียนเหมือนกันหมดอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการออกระเบียบโดยอำนาจ ผบ.ตร. ตนเชื่อว่า ข้าราชการตำรวจจำนวนมากอึดอัดไม่พอใจ แต่ต้องจำทนกับคำสั่งละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้

“ในเรื่องนี้ พรรคก้าวไกล เป็นพรรคเดียวที่เสนอแก้ไข มาจับตาดูกันครับว่า ผมในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย จะสามารถโน้มน้าวสภาได้หรือไม่ ถ้าโหวตชนะจะมีผลให้ระเบียบทรงผมขาวสามด้าน ที่ ผบ.ตร. บังคับถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และจะออกคำสั่งริดรอนสิทธิในทรงผมเช่นนี้ไม่ได้อีก ตำรวจทุกนายนอกจากเป็นกำลังใจ ท่านยังสามารถมีส่วนร่วมด้วยการส่งข้อหรือแสดงเจตจำนงค์ไปถึง ส.ส.ของท่านเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนี้ได้ เพราะถ้าเราชนะ เราจะชนะไปด้วยกันครับ” พันตำรวจตรี ชวลิต ระบุ