จากรายงานชี้ว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลางในแอฟริกาและเอเชีย คาดว่าจะเป็นประเทศที่มีอัตราประชากรน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยรายงานคาดการณ์ว่าราคาที่ต้องจ่ายไปกับการเกิดโรคอ้วน จะมีมูลค่ามากกว่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 138 ล้านล้านบาท) ต่อปีภายในปี 2578
หลุยส์ บาวร์ ประธานสหพันธ์โรคอ้วนกล่าวว่า ข้อค้นพบของรายงานเป็นคำเตือนที่ชัดเจนต่อประเทศต่างๆเพื่อให้เกิดการดำเนินการในขณะนี้ หรือไม่ก็รอผลกระทบต่อความเสี่ยงในอนาคต ทั้งนี้ รายงานได้เน้นน้ำหนักคำเตือนไปที่อัตราการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่น โดยคาดว่าอัตราเด็กน้ำหนักเกินจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากระดับปี 2563 ทั้งในเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง
บาวร์กล่าวว่าแนวโน้มดังกล่าว "น่ากังวลเป็นพิเศษ" พร้อมระบุเสริมว่า "รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกจำเป็นต้องทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งต่อต้นทุนด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ไปยังคนรุ่นใหม่" โดยผู้มีส่วนรับผิดชอบควรประเมิน "ระบบและปัจจัยต้นตอ" ที่มีส่วนทำให้ประชากรเกิดภาวะอ้วน
ผลกระทบของความชุกของอัตราการเกิดโรคอ้วนในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ยังได้รับการเน้นย้ำในรายงาน ทั้งนี้ 9 ใน 10 ประเทศถูกคาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคอ้วนเพิ่มขึ้นมากที่สุดทั่วโลก คือ รัฐที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลางในภูมิภาคทวีปแอฟริกาและเอเชีย
รายงานระบุว่า ต้นต่อต่างๆ ของการเกิดโรคอ้วนมีมากมาย ได้แก่ แนวโน้มความชอบด้านอาหารที่มีต่ออาหารแปรรูปสูง พฤติกรรมนั่งนิ่งๆ ในระดับที่เพิ่มมากขึ้น นโยบายที่อ่อนแอในการควบคุมการจัดหาอาหารและการตลาด และบริการด้านการดูแลสุขภาพที่มีทรัพยากรน้อย เพื่อช่วยในการจัดการน้ำหนักและให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน
รายงานยังชี้อีกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำ มักเป็นประเทศที่สามารถตอบสนองต่อโรคอ้วนและผลที่ตามมาได้น้อยที่สุด ทั้งนี้ การค้นพบนี้ประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราโรคอ้วนทั่วโลก จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งคิดเป็น 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของทุกประเทศรวมกันทั่วโลก
รายงานเน้นย้ำว่าการรับทราบถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคอ้วน "ไม่ได้สะท้อนถึงการตำหนิผู้คนที่ใช้ชีวิตร่วมกับโรคอ้วน" ทั้งนี้ ข้อมูลที่เผยแพร่ในรายงานจะถูกนำเสนอต่อองค์การสหประชาชาติ (UN) ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (6 มี.ค.)
โรคอ้วนเป็นคำศัพท์ทางการแพทย์ ที่ใช้อธิบายถึงบุคคลที่มีไขมันในร่างกายมากเกินไป โดยรายงานนี้ใช้ดัชนีมวลกาย (BMI) ในการประเมิน ทั้งนี้ ค่าดัชนีมวลกายคำนวณได้จากการหารน้ำหนักของผู้ใหญ่ด้วยยกกำลัง 2 ของส่วนสูง
ที่มา: