ไม่พบผลการค้นหา
อีกหนึ่งตัวชี้วัดการฟื้นตัวของประเทศภายหลังจากการระบาดโควิด-19 หนีไม่พ้นการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือ GDP ซึ่งมักเป็นเครื่องบ่งบอดว่า รัฐบาลของประเทศนั้นๆ มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ พูดในอีกนัยหนึ่งคือ GDP เป็นตัวฟ้องว่ารัฐบาลบริหารประเทศด้วยความสามารถที่มากพอหรือไม่

อย่างไรก็ดี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาเปิดเผยล่าสุดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทยไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัวขึ้น 4.5% จากที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 4.3% นับเป็นการเจริญเติบโตที่มากกว่าการคาดการณ์

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่า GDP ไทยไตรมาส 3 ปี 2565 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัว 2.5% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ขณะที่ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับนโยบายในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถานการณ์ภายนอกประเทศที่เริ่มผ่อนคลายความตึงเครียด

ร่างทรง ‘ตู่’ ออกตัวรับแทน นายกฯ ปลื้ม GDP ไทยโต

หลังจากการรายงานตัวเลขการเจริญเติบโต GDP ไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ว่ามีเพิ่มขึ้น 4.5% ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมารับลูกสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจที่เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ที่เติบโตได้ดีที่ร้อยละ 4.5 นับเป็นการเติบโตเฉลี่ยตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาที่ 3.1%

ไตรศุลีชี้ว่า การขยายตัว GDP ไทยที่ 4.5% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 นับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1-2 ที่ 2.3% และ 2.5% ตามลำดับ และปัจจัยรอบด้านทั้งภาคการท่องเที่ยว การลงทุน การบริโภคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าตลอดปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ร้อยละ 3.2 จากร้อยละ 1.5 ในปี 2564

การรับลูกการแถลงของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโดยไตรศุลี ยังถูกประโคมด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับผลประโยชน์จากการขยายตัวนี้อย่างทั่วถึง และแก้ไขในประเด็นที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรค นอกจากนี้ ไตรศุลีเน้นย้ำว่า พล.อ.ประยุทะ์จะยังคงให้ความสำคัญกับนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนและเอสเอ็มอี ด้วยมาตรการต่างๆที่หน่วยงานเกี่ยวข้อง

ไม่ส่องเพื่อน ไม่เห็นไทย GDP ชาติอาเซียนหลังโควิด
660D18FF-FE35-4E23-BC82-336C37A1FAC7.jpeg

การออกมาแถลงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการรับลูกของรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีไทยที่ออกมายกยอกันเองไปมา เสมือนว่าตัวเองบริหารประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพจนประสบกับความสำเร็จ ส่งผลให้ GDP ไทยไตรมาส 3 ปี 2565 โตขึ้นมากกว่า 4.5% แต่ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่รอบคอบ รัฐไทยกลับไม่นำตัวเลข GDP ของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน หลังการระบาดของโควิด-19 มาเทียบกับประเทศของตนเองเพื่อให้เห็นภาพว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศได้ดีจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับชาวบ้านชาวช่อง

สำหรับอดีตคู่แข่งของไทยที่แซงหน้าไปแล้ว สถานการณ์การเจริญเติบโต GDP ไตรมาส 3 ปี 2565 ของสิงคโปร์ยังไม่ค่อยสู้ดีมากนัก โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์เปิดเผยว่า ประเทศของตนมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นที่ 4.1% ต่ำกว่าที่รัฐบาลคาดเอาไว้ที่ 4.4% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ซึ่งโตขึ้นจากไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2565 ที่ 2.8% และ 4.4% ตามลำดับ 

ทั้งนี้ GDP สิงคโปร์ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมามีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4% โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ระบุว่า สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเคมีภัณฑ์ของสิงคโปร์จะยังคงอ่อนไหวต่อตลาดโลก ในขณะที่ประเทศจะค่อยๆ ฟื้นตัวภาคการบินและการท่องเที่ยวหลังจากการผ่อนปรนมาตรการโควิด-19

ข้ามจากสิงคโปร์ไปยังอินโดนีเซีย ประเทศเจ้าภาพการประชุม G20 ในครั้งที่ผ่านมา ธนาคารแห่งชาติอินโดนีเซียออกมาเปิดเผยว่า อินโดนีเซียมีอัตราการเจริญเติบโตในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 อยู่ที่ 5.72% สูงกว่าไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ที่ 5.44% และไตรมาสแรกของปีที่ 5.01% คิดเป็นค่าเฉลี่ยตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมาที่ 5.39% 

ทั้งนี้ อินโดนีเซียในฐานะประเทศส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก ได้รับประโยชน์จากการขาดอุปทานสินค้า สืบเนื่องจากสงครามยูเครน และราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นจากห่วงโซ่อุปทานที่กำลังตึงเครียด อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินโดนีเซียยังคงมีแนวโน้มที่จะเคร่งครัดในนโยบายการคลังของประเทศต่อ เพื่อรับมือกับอัตราเฟ้อในปัจจุบัน

อีกหนึ่งประเทศอาเซียน ที่มีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์หนีไม่พ้นฟิลิปปินส์ โดยหน่วยงานสถิติของฟิลิปปินส์ออกมาเปิดเผยอัตราการเจริญเติบโต GDP ของประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ว่าปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 7.6% ต่ำกว่าไตรมาสที่ 1 แต่ยังสูงกว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ที่ 8.2% และ 7.5% ตามลำดับ 

การเจริญเติบโตดังกล่าวของฟิลิปปินส์ นับเป็นอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 9 เดือนที่ผ่านมาของประเทศที่ 7.76% นับเป็นการเจริญเติบโตที่มากกว่าที่รัฐบาลฟิลิปปินส์คาดการณ์เอาไว้ อย่างไรก็ดี ฟิลิปปินส์ยังคงประสบกับอัตราเงินเฟ้อ สืบเนื่องจากความเสี่ยงภายนอกประเทศ และความเสียหายหลังจากเกิดพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มประเทศในครั้งล่าสุด

ที่เหนือไปกว่าฟิลิปปินส์หนีไม่พ้นเวียดนาม ประเทศที่หลายฝ่ายมองว่าแซงหน้าไทยไปแล้วกว่ามาก โดยสำนักงานสถิติทั่วไปเวียดนามออกมาเปิดเผยว่า เวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 อยู่ที่ 13.67% มากกว่าการเจริญเติบโตเดิมในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2565 ที่ 5.03% และ 7.72% ตามลำดับ ส่งผลให้เวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาที่ 8.8% สืบเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตในประเทศและการส่งออก ตลอดจนผลกระทบที่ต่ำจากโควิด-19 ต่อประเทศ

เวียดนามที่มีอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ประเทศรุดหน้า ยังคงต้องแพ้ให้กับมาเลเซีย ที่มีอัตราการเจริญเติบโต GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ที่ 14.2% มากกว่าไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2565 ที่ 5% และ 8.9% โดยคิดเป็นอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ 9.36% 

การเจริญเติบโตที่รุดหน้าของประเทศเพื่อนบ้านไทยแห่งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลมาเลเซียเร่งการฉีดวัคซีน และการเปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ แก่ประชาชน ส่งผลให้ทุกภาคเศรษฐกิจของมาเลเซียกลับมาฟื้นตัวได้ไว้กว่าชาติอื่นๆ ในอาเซียน แม้ว่าการเมืองของมาเลเซียจะประสบกับวิกฤตไม่ต่างอะไรไปจากไทยก็ตาม อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยที่สูงในระดับโลก และปัญหาเงินเฟ้อยังคงเป็นความเสี่ยงหลักของมาเลเซีย ที่รัฐบาลชุดใหม่จะยังคงต้องรับมือกันต่อไป

ธนาคารโลกชี้ ชาติเอเชียแปซิฟิกยังฟื้นไม่ทันช่วงก่อนการระบาดโควิด-19

ธนาคารโลกออกเอกสาร ‘Reforms For Recovery’ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาชี้ว่า การฟื้นตัวในทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตะวันออกยังคงไม่มีความสม่ำเสมอ และผลผลิตในหลายประเทศยังคงต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ในหลายพื้นที่เศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ เวียดนามมีผลผลิตเกินระดับช่วงก่อนการระบาดในปี 2563 ไปแล้ว เช่นเดียวกันกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่มีผลผลิตมากกว่าระดับช่วงก่อนสิ้นปี 2564 ในขณะที่ไทยกับฟิลิปปินส์ถูกคาดการณ์ว่า อาจมีระดับผลผลิตมากกว่าก่อนการระบาดในปี 2565 นี้

ธนาคารโลกชี้ว่า การฟื้นตัวของแต่ละประเทศยังคงไม่สม่ำเสมอในทุกภาคส่วน ในขณะที่ภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การเงินและการเกษตรมีความยืดหยุ่น ผลผลิตในภาคการขนส่ง สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และสถานบันเทิง ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดทั้งในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI มีเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยังคงอยู่ที่ช่วงเป้าหมายของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักหลายแห่ง แรงกดดันด้านราคากำลังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศต่างๆ ของเอเชียแปซิฟิกตะวันออก ซึ่งสะท้อนถึงราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น โดยในขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อมีอยู่เหนือช่วงเป้าหมายทั้งในฟิลิปปินส์และไทย ซึ่งอาจจะตอกย้ำให้เศรษฐกิจไทยที่มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยใน 9 เดือนที่ผ่านมาที่ 3.1% ย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม

สำหรับปัจจัยในเรื่องหนี้ ธนาคารโลกชี้ว่าขณะที่รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายในช่วงวิกฤต หนี้สาธารณะกำลังมีเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่คิดเป็นอัตรามากกว่า 10% ของ GDP เมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดโรคระบาด และเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในฟิลิปปินส์ โดยในประเทศเอเชียแปซิฟิกตะวันออกส่วนใหญ่ ที่มีการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งได้รับแรงหนุนหลักจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ในประเทศ 

ในขณะเดียวกัน หนี้ภาคเอกชนยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนในมาเลเซียและไทย และหนี้ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในเวียดนาม ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ของประเทศไทยและเวียดนาม

ธนาคารโลกยังชี้อีกว่า การพึ่งพาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยและฟิลิปปินส์ อาจช่วยภาคการส่งออกบริการ อย่างไรก็ดี อัตราการเดินทางของนักท่องเที่ยวยังคงน้อยกว่าก่อนช่วงการระบาดของโควิด-19 กว่า 40% ซึ่งเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกตะวันออก ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการการควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวดในก่อนหน้านี้อยู่ 

หากเปรียบเทียบอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ 6 ประเทศหลักในอาเซียนจะพบได้ว่า ประเทศไทยยังคงห่างไกลจากการอ้างได้ว่า ตนกำลังมีอัตราการฟื้นตัวที่ดี และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่น่าพึงพอใจ มิหนำซ้ำ ไทยยังถูกคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย แซงหน้าไปหมดแล้ว ทิ้งให้ไทยภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวตารางของกลุ่มประเทศอาเซียนภาคแผ่นดินอย่างไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะรอดจากวิกฤตหลังการระบาดโควิด-19 ในเร็ววันนี้