ไม่พบผลการค้นหา
'สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด' ชี้ จีดีพี-การบริโภคภาคเอกชน-การส่งออก-การผลิต มีแนวโน้มลดลง ด้านการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงจากปัญหาฝุ่น-ไวรัส ขณะหนี้ครัวเรือนและหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเมินสภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังเต็มไปด้วยความอ่อนแอ โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปีนี้ที่เป็นผลต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2562 

สแตนดารค์ชาร์เตอร์ ประเมิน ศก.ไตมาสแรก
  • ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

ประมาณการตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในสายตาของธนาคารสแตนดาร์ดฯ อยู่ที่ร้อยละ 3 แต่ ทิม ชี้ว่า นี่เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขของสถาบันอื่น และแม้แต่ธนาคารสแตนดาร์ดฯ ยังมองว่ามีโอกาสที่จะเติบโตต่ำกว่าตัวเลขนี้ในสัดส่วนที่มากกว่า แต่ยังขอมีความหวังว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2563 จะผ่านและเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนได้

ทิมชี้ว่าในช่วงที่ผ่านมาฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่กุมนโยบายการเงินของประเทศก็ทำหน้าที่แทบทุกอย่างแล้ว และหากยังเข้าไปแทรกแซงมากกว่านี้ประเทศอาจต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในการถูกจัดเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงินและต้องไปแก้ปัญหาเรื่องการกีดกันหรือการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยแทน

อย่างไรก็ตาม ทิมประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสที่ 1/2563 ลงร้อยละ 0.25 จากอัตราเดิมที่ร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1 เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการลงทุนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการชะลอการลงทุนโดยสะท้อนจากตัวเลขการนำเข้าที่ติดลบตลอดทั้งปี ประกอบกับสภาวะเงินบาทแข็งค่า ซึ่งทิมยังมองว่าบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องในไตรมาสแรก และอาจลงไปแตะระดับ 29.25 

ทั้งนี้ ทิมไม่ได้แสดงความมั่นใจมากนักว่าหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจริง ลงไปเหลือร้อยละ 1 ซึ่งจะต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ จะมีผลกระตุ้นภาคเอกชนมากน้อยเพียงใด เพราะมองว่าความหวังที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือนโยบายทางการคลัง ที่จะปลดล็อกได้จากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่กำลังเกิดข้อกังวลว่าจะผ่านภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้หรือไม่

ดัชนีที่ดีของไทยติบลบ แต่ดัชนีลบๆ เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อหันมามองในภาพรวมของประเทศ ทิม สะท้อนความกังวลในแทบทุกดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ เริ่มจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่มี รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังต่ำอยู่ตลอดปี 2562 แม้จะมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคอย่างชิมช้อปใช้ แต่ตัวเลขการบริโภคในไตรมาสที่ 4 ยังอยู่แค่ร้อยละ 2 เท่านั้น ขณะที่ตัวเลขการบริโภคในไตรมาสที่ 1/2562 อยู่ที่ร้อยละ 4

ด้านกราฟการลงทุนภาคเอกชนก็ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยจะได้เปรียบเรื่องเงินบาทแข็งค่า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการลงทุนและการนำเข้าสินค้าหรือเครื่องจักร แต่เอกชนไทยก็ยังชะลอการลงทุน ซึ่งทิมประเมินว่าเป็นความกังวลจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอของไทย 

นอกจากนี้ การส่งออกของไทยก็ยังติดลบอย่างต่อเนื่องทั้งในสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าและการสูญเสียความได้เปรียบทางการค้าจากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า

ขณะที่ การท่องเที่ยวของไทยที่เหมือนจะหันหัวขึ้นกลับมาดีจากช่วงปลายปีที่แล้ว ก็ต้องมาเผชิญหน้ากับความเสี่ยงใหม่ที่ทิมชี้ว่าอาจจะเร็วเกินไปในการกล่าวว่าเป็นปัจจัยลบ แต่จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างแน่นอน ในประเด็นภาวะฝุ่นและเชื้อไวรัสโคโรนา 

"โรงงานปิด รายได้น้อย คนก็ต้องอยู่ด้วยหนี้" ทิม กล่าว

ด้านดัชนีชี้วัดที่สะท้อนความน่ากังวลของกำลังซื้อผู้บริโภคก็ตกลงอย่างชัดเจน จากประเด็นการปิดโรงงาน รวมถึงการวิเคราะห์จากทิมที่มองว่าแท้จริงแล้วตั้งแต่ยุคของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งใหญ่ ประเทศไทยยังไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงในสัดส่วนที่มากขนาดนั้น อีกทั้งในบางภาคส่วนยังมีการปรับลดค่าแรงลงด้วยซ้ำ สิ่งนี้ทำให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งการกู้หนี้ยืมสินมากขึ้น และสะท้อนออกมาในตัวเลขหนี้ครัวเรือน และหนี้เสียในสินค้าอย่าง รถยนต์ บ้าน และบัตรเครดิต

ทั้งยังมีความเสี่ยงจากภัยแล้งและราคาน้ำมันโลกที่ผันผวน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการลดกำลังซื้อของผู้บริโภค

สัญญาลอยๆ คือสิ่งเดียวที่ไทยมี

ทิมกล่าวว่าในระยะสั้น หรือประมาณช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ไทยมีความอ่อนแอสูงในเศรษฐกิจโดยรวมและเศรษฐกิจฐานราก แต่หากมองในระยะยาวนักลงทุนจากต่างประเทศก็ยังมองเห็นโอกาสในการเข้ามาทำธุรกิจ

ทิมชี้ว่า ไทยยังได้ประโยชน์จากการมีหนี้สาธารณะต่ำในระดับร้อยละ 40 ของจีดีพี ซึ่งสะท้อนว่าประเทศยังสามารถลงทุนได้อีกมาก นอกจากนี้ประเทศไทยก็ยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงโครงการยักษ์ใหญ่อย่างระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ทิมเพียงติงเล็กน้อยว่าอยากให้มีความคืบหน้ามากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่