ไม่พบผลการค้นหา
'รำลึก 30 ปี พฤษภาประชาธรรม' มุ่งให้อภัยเพื่อสังคมปรองดอง 'ชวน' มองชีวิตวีรชนไม่สูญเปล่า 'ชลน่าน' ชี้สังคมติดหล่ม รธน. 60 วงจรอุบาทว์รัฐประหาร

วันที่ 17 พ.ค. 2565 ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม เขตพระนคร มีการจัดกิจกรรม 'รำลึก 30 ปี พฤษภาประชาธรรม' เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและสูญในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน พ.ค. 2535 เพื่อขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นำมาสู่การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง และส่งผลให้มีประชาชน รวมถึงนิสิตนักศึกษาเสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมาก ทางมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา '35 ได้จัดพิธีรำลึกขึ้นเป็นประจำทุกปี

ในเวลาประมาณ 09.00 น. เป็นพิธีวางมาลาโดยตัวแทนจากฝ่ายการเมืองต่างๆ โดย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน ในฐานะผู้นำพรรคร่วมฝ่ายค้าน พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะตัวแทนรัฐบาล พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจไทย พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย เป็นต้น

โคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ยังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ผู้เสียหายรู้สึกว่ายังไม่ได้รับการเยียวยาทางจิตใจ ซึ่งทุกฝ่ายมุ่งหวังว่าจะเกิดความปรองดองขึ้นโดยเร็ว สำหรับพิธีในวันนี้ ขอถือให้เป็นสัญลักษณ์ของการคืนดี การขออภัยและให้อโหสิกรรมต่อกัน


'ชวน' มองชีวิตวีรชนไม่สูญเปล่า ย้ำหลักคนดี

ด้าน ชวน หลีกภัย ระบุว่า ตนถือเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเหตุการณ์ดังกล่าว ความสูญเสียของวีรชนในวันนั้นไม่ได้สูญเปล่า เนื่องจากผลพวงที่ตามมาคือ ความเป็นประชาธิปไตยก็ได้เกิดขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับก็ถูกแก้ไข ความมั่นคงเริ่มก่อตัวมากขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม เวลาครบรอบ 30 ปี นับเป็นเพียง 1 ใน 3 ของเวลา 90 ปี นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เป็น 30 ปี ที่มีความก้าวหน้า และช่วงเวลาส่วนใหญ่ก็มีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

"ปัจจุบันนี้เวลาส่วนใหญ่เป็นเวลาของประชาธิปไตย ช่วงเวลาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีความก้าวหน้าหลายด้านที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราอยู่ในโลกความเป็นจริง เราก็จะรู้ว่าบ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคม เปลี่ยนไปเยอะ และในการเปลี่ยนแปลงนั้นมีทั้งสิ่งที่ดี และสิ่งที่ร้าย สิ่งที่ทำให้บ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตยนั้นสะดุดลงโดยไม่คาดคิด ก็คือเรื่องธุรกิจการเงิน ซึ่งในที่สุดกลายมาเป็นเหตุผลหรือข้ออ้างเรื่องการทุจริตโกงกิน"

ชวน กล่าวต่อว่า ข้อสรุปที่ดีจากช่วงเวลาดังกล่าว คือ นอกจากมีหลักที่ดี กฏหมายที่ดีแล้ว ต้องมีคนดีเคียงคู่ไปด้วยกัน หากขาดสิ่งใดไปแล้ว แม้จะเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็ยากที่จะเกิดความมั่นคงได้ การต่อสู้ซึ่งนำมาสู่ความก้าวหน้านี้ เกิดขึ้นจากคนไม่ใช่เกิดขึ้นตัวหนังสือที่เขียนไว้อย่างสวยหรู แต่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติ ต่อให้มีกฏหมายที่ดี แต่ขาดคนดี ก็ยากจะสัมฤทธิ์ผล ดังนั้น ตนจึงย้ำเสมอว่า หลักที่ดีและคนที่ดีต้องไปด้วยกัน


'ชลน่าน' ชี้สังคมหนีไม่พ้นวงจรรัฐประหาร

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวรำลึกถึงวีรชน รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานรำลึก 30 ปี พฤษภาประชาธรรม ขณะนั้น เป็นตนเป็นแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ในอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน แม้จะห่างไกลกรุงเทพมหานคร แต่ก็ติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา ทำให้ทราบว่าทุกที่แห่งนี้มีพี่น้องประชาชนนับแสน เรียกร้องความถูกต้องให้เกิดขึ้น โดยให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง การเรียกร้องต่อสู้ครั้งนั้น กลับจบด้วยการสูญเสีย ซึ่งข่าวที่เป็นทางการจากรัฐบาล แจ้งว่ามีผู้เสียชีวิต 44 คน ผู้สูญหาย 51 คน มีผู้บาดเจ็บผู้พิการ 41 คน แต่ข้อเท็จจริงจากผู้เสียหาย ระบุว่ามีผู้สูญหาย 734 คน มีผู้บาดเจ็บ ผู้พิการ 5,473 คน 

นพ.ชลน่าน ชี้ว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นเรื่องน่าสลดใจ เพียงเพราะเรียกร้องสิ่งถูกต้องอย่างอำนาจอธิปไตย แต่สิ่งที่ได้รับกลับมีภาพสลดหดหู่ สิ่งสำคัญคือเจ้าหน้าที่แทนที่จะปกป้อง กลับทำร้ายประชาชน เพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมือง ความกล้าหาญจากนักศึกษา ประชาชน จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมา 30 ปี แต่ประเทศนี้กลับไม่เคยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ ที่หลายคนเรียกว่าวงจรอุบาทว์ เห็นได้ชัดจากรัฐประหารถึง 2 ครั้ง โดยมีข้ออ้างไม่ต่างกันคือ การบริหารงานล้มเหลว และสืบทอดอำนาจ สิ่งที่เป็นบทเรียน แม้ไม่ถูกนำมาใช้คือการมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ปี 2540 และ 2550 ทำให้ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลไกของรัฐธรรมนูญปี 2560 บิดเบือนการใช้อำนาจของพี่น้องประชาชน มีการเขียนที่ชาญฉลาด 

นพ.ชลน่าน ยังมองว่า หากอยากให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ ต้องใช้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นคนเขียนขึ้นมา เชื่อว่างานในวันนี้จะส่งผลเข้าไปถึงหัวใจของกลุ่มคน โดยเฉพาะวัยรุ่น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเรียกร้อง การต่อสู้ จะเกิดความสมานฉันท์ ไม่มีการใช้ความรุนแรง ก้าวสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์