นายพานทองแท้ ชินวัตร สมาชิกพรรคเพื่อไทย และบุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ถึงกรณีการตั้งรัฐบาลของสองขั้วการเมือง ระหว่างพรรคฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. โดยระบุว่า ปัญหาการเมืองไทยแก้ไม่ยาก หากทุกพรรคมีความเชื่อมั่นในเสียงของประชาชน การเลือกตั้ง 24 มี.ค.ที่ผ่านมา คนไทยทั้งประเทศอุตส่าห์ตั้งตารอมาเกือบจะครบ 5 ปี ผลลัพธ์เป็นอย่างไรมาดูกัน พรรคที่ประกาศตัวสืบทอดอำนาจลุงฯ ได้ ส.ส.รวมกันเพียง 120 กว่าคน แต่ตั้งธงไว้ว่าจะต้องเป็นรัฐบาล และลุงตู่ต้องอยู่ต่อให้ได้
ส่วนพรรคที่ประกาศตัวไม่สนับสนุนลุงตู่ โดนดูดก็แล้ว โดนขู่ก็แล้ว โดนเขียนรัฐธรรมนูญให้ยิ่งได้ ส.ส.เขตมากเท่าไหร่ พรรคยิ่งเล็กลงเท่านั้น โดนบัตรเขย่ง โดนนับคะแนนแจกพรรคเล็ก โดนสารพัดจะโดน ยังได้ส.ส.ถึง 245 คน มากกว่าพรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจให้ลุงเกิน 2 เท่าตัว ตัวแปรจึงมาตกอยู่กับพรรคที่อยู่ตรงกลาง ที่มี ส.ส.รวมกันร้อยคนเศษ หากจะไปรวมกับขั้วสืบทอดอำนาจให้ลุง ก็จะได้รัฐบาลปริ่มน้ำที่ไม่มีเสถียรภาพ และต้องพึ่งความหวังจากน้ำบ่อหน้า จากการยุบพรรคอีกฝ่าย เพื่อซื้อตัวส.ส.ที่กระจัดกระจายมาช่วยเสริมทัพ และต้องหาซื้องูเห่ามาเลี้ยง
ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้การเมืองไทยเน่าเหม็นย้อนยุคไปอีกหลายสิบปี หากตัวแปร 100 กว่าเสียงนี้ เข้าร่วมกับขั้วประชาธิปไตยที่ไม่สนับสนุนลุง จะทำให้ได้รัฐบาลร่วม 350 เสียง ซึ่งในภาวะปกติถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงมาก ประชาธิปไตยไปต่อ ได้อย่างสบาย และการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะลงตัวไปนานแล้ว แต่ในยุคที่ลุงเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยอาจไปได้ยากหน่อย ที่สำคัญพรรคตัวแปรนี้มี 2 พรรคใหญ่ ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งได้ให้สัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ก่อนการเลือกตั้ง ดังนี้
พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัญญาเอาไว้ชัดเจนว่า 1. พรรคจะไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เน้นย้ำชัดเจนว่า “ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายก” ไม่ได้ใช้สรรพนามอื่น 2. พรรคจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่สืบทอดอำนาจ ก็หมายถึงการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์อีกแหละ 3. แถมยังปิดประตูการบิดพลิ้วในอนาคต ด้วยการยืนยันว่า 2 ข้อข้างต้นคือ “อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์” และย้ำว่าไม่มีพรรคการเมืองใด ลงมติสวนทางอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งถ้าเรานับเสียงส.ส.ของทุกพรรคที่ประกาศว่า “ไม่เอาลุง” รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย จะมี ส.ส.รวมกันถึง 297 เสียง ชนะพรรคที่จะเอาลุงอย่างขาดลอยทีเดียว
ส่วนพรรคภูมิใจไทย ก็สัญญาไว้หนักแน่นว่า พรรคจะร่วมรัฐบาลกับขั้วการเมืองที่ได้ส.ส.ในสภาเยอะที่สุด เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงสุด ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และจะไม่ยอมให้ส.ว. 250 เสียง มากำหนดอนาคตประเทศ สวนทางจากฉันทานุมัติของประชาชน ซึ่งตัวเลข 245 : 120 ก็ชัดเจนว่าพรรคภูมิใจไทยนำพรรคมาร่วมกับฝั่งไหน การเมืองจึงจะมีเสถียรภาพในสภามากกว่ากัน และถ้า 2 พรรคนี้มาร่วมรัฐบาล เราจะมีเสียงในสภาถึง 348 เสียงจาก 498 เสียง เราจะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพแน่นปึ๊ก ประชาธิปไตยไปต่อได้สบาย
นายพานทองแท้ ระบุเพิ่มเติมว่า เผด็จการคือการใช้อำนาจอยู่เหนือประชาชน ส่วนประชาธิปไตยคือระบบที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินแต่ฉันทานุมัติของประชาชน จำต้องส่งผ่านไปยังนักการเมือง ให้ไปยกมือโหวตให้ในสภา การที่นักการเมืองไม่รักษาคำพูด และยกมือสวนทางกับที่สัญญาไว้ คือการเปิดโอกาสให้เผด็จการเข้ามาสวมหัวโขนเป็นประชาธิปไตยได้สะดวก ขัดต่อฉันทามติของคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ประชาธิปไตยของไทยจะไปในทิศทางใด จะเริ่มต้นศักราชใหม่หลังจากอึมครึมมา 5 ปี หรือจะยังคงสืบทอดอำนาจให้อยู่กับลุงตู่คนเดิมต่อไป ขึ้นอยู่กับความเชื่อของ 2 พรรคหลักที่ยังอยู่ตรงกลาง ถ้าคิดว่าอำนาจเป็นของประชาชน (ไม่ใช่ของลุง) ประชาธิปไตยจะชนะ และ เราจะชนะไปด้วยกัน ถ้าคิดจะเกรงกลัวเผด็จการฯ ก็ไม่ควรมีการเลือกตั้งที่ใช้งบประมาณไปกว่า 5 พันล้าน เพราะเสียงของประชาชนที่มากกว่าเกิน 2 เท่า ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และประเทศไทยจะได้รัฐบาลที่ปวกเปียกปริ่มน้ำมาบริหารประเทศแบบ 5 ปีที่ผ่านมา
"ประชาชนออกไปเลือกตั้ง เพราะหวังจะได้การปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่แท้จริง มิได้ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นเพียงการ ชุบตัวเผด็จการให้ดูเป็นประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทยอยู่ภายใต้การตัดสินใจของ 2 พรรคการเมืองที่ชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคภูมิใจไทย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง