ไม่พบผลการค้นหา
เพนตากอนเตือน จีนมีความทะเยอทะยานพิชิตเกาะไต้หวัน คาดอาจบุกภายในปี 2570 - ปธน.ไบเดน จับมือผู้นำอีก 3 ชาติ สร้างกลุ่มจตุภาคีต้านจีน

พล.ร.อ.ฟิลิป เดวิดสัน ผู้บัญชาการกองกำลังแปซิฟิกของกองทัพสหรัฐฯ กล่าวต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาคองเกรส โดยระบุว่า จีนกำลังมีความทะเยอทะยานอย่างเห็นได้ชัดในการแย่งชิงอำนาจทางทหารเพื่อบทบาทความเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย โดยภายใน 6 ปีข้างหน้ามีโอกาสที่จีนจะบุกยึดไต้หวัน แม้ที่ผ่านมาไต้หวันจะเป็นรัฐเอกราชที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแยกเป็นรัฐอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี พ.ศ. 2492 แล้วก็ตาม 

"ผมกังวลว่าพวกเขา (จีน) กำลังทะเยอทะยานเพื่อแทนที่สหรัฐอเมริกาในฐานะบทบาทผู้นำภูมิภาคนี้ภายในปี 2593" "ไต้หวันนับเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของพวกเขาอย่างชัดเจน ผมคิดว่าภัยคุกคามของไต้หวัน กำลังปรากฏให้เห็ฯในช่วงทศวรรษนี้ หรืออันที่จริงภายในอีก 6 ปีข้างหน้า" พล.ร.อ. เดวิดสัน ระบุ

นายพลสหรัฐฯ ยังกล่าวอีกว่า ความพยายามของจีนที่อ้างสิทธิ์เหนืออาณาเขตในทะเลจีนใตซึ่งเต็มไปด้วยทรัพยากร ทั้งยังแสดงท่าทีคุกคามเกาะกวมของสหรัฐ จากที่ก่อนหน้านี้กองทัพจีนได้เผยแพร่วิดีโอจำลองการโจมตีฐานทัพบนเกาะที่มีลักษณะคล้ายฐานทัพสหรัฐในดิเอโกการ์เซีย และเกาะกวมนั้น เสี่ยงต่อการสร้างสถานการณ์ที่ "ไม่เอื้ออำนวย" ซึ่งลดทอนความสามารถในการป้องปรามของสหรัฐฯ

"เรากำลังสะสมความเสี่ยงที่อาจทำให้จีนกล้าอ้างสถานะเพียงฝ่ายเดียว ก่อนที่กองกำลังของเราจะสามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ" 

สำหรับความตึงเครียดบนช่องแคบไต้หวันระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลไทเป ทวีความตึงเครียดมากขึ้นนับตั้งแต่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวันเมื่อปี 2559 ซึ่งมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีนแผ่นดินใหญ่ ประกอบกับท่าทีของรัฐบาลวอชิงตัน ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งขายอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากให้กับรัฐบาลไทเป ท่ามกลางความบาดหมางระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในประเด็นสงครามเทคโนโลยีและการค้า ยิ่งทำให้จีนใช้มาตรการข่มขู่และตอบโต้ด้วยการเพิ่มกิจกรรมทางทหารทั้งในและใกล้พื้นที่ช่องแคบไต้หวัน 

ทั้งนี้ นายพลสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติอนุมัติการติดตั้งขีปนาวุธระบบเอจิส (Aegis) บนฐานทัพเกาะกวม เพื่อเสริมศักยภาพสกัดกั้นขีปนาวุธของจีนในอนาคต ทั้งยังเรียกร้องให้สภาฯ จัดสรรงบประมาณสำหรับการติดตั้งขีปนาวุธระยะไกลในพื้นที่ดังกล่าวด้วย "แล้วจีนจะได้รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการ มีราคาที่ต้องจ่าย" พล.ร.อ.ฟิลิป กล่าว


'จตุภาคี' ต้านจีน

อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เตรียมนั่งเป็นประธานผู้นำกลุ่มด้านความมั่นคง 4 ชาติ หรือมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "Quad" เป็นครั้งแรกในวันที่ 12 ก.พ. นี้ โดยเตรียมหารือร่วมกับผู้นำชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดซึ่งล้วนเป็นไม้เบื่อไม่้เมากับจีนทั้งสิ้นอย่าง นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น และอินเดีย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การหารือนี้นับเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของรัฐบาลไบเดน ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์เชิงพหุภาคีกับชาติพันธมิตร หลังความล้มเหลวในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ มีจุดมุ่งหมายหลักในการพัฒนาความร่วมมือด้านอินโด-แปซิฟิก ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าการหารือของกลุ่มความร่วมมือรูปแบบใหม่นี้ จะเป็นการคานอำนาจของจีนที่กำลังมีมากขึ้นในภูมิภาค

คำแถลงจากสำนักนายกรัฐมนตรีอินเดียระบุว่า "บรรดาผู้นำเตรียมหารือเกี่ยวกับปัญหาในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีความสนใจร่วมกับ ทั้งยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การเจรจาครั้งนี้ยังครอบคลุมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นที่ไบเดนให้ความสำคัญ"

ขณะที่ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า ผู้นำสหรัฐฯ กำลังขยายความร่วมมือที่ "ก้าวไปอีกขั้น" การประชุมครั้งนี้จะเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของภูมิภาค เพื่อส่งสัญญาณถึงการสนับสนุนอธิปไตยและความเป็นอิสระในอินโด-แปซิฟิก

ที่มา: TheGuardian , CNN