ไม่พบผลการค้นหา
ในระหว่างการแถลงช่วงปีใหม่ 2567 ของ มินอ่องหล่ายน์ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา ผู้นำเผด็จการเมียนมาระบุว่า เขาจะให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาในปี 2567 พร้อมกันกับการกล่าวโทษฝ่ายต่อต้านรัฐประหารว่าเป็นต้นเหตุและตัวการที่ทำใหไ้เศรษฐกิจชาติล้มเหลว

อย่างไรก็ดี ในการแถลงเดียวกัน มินอ่องหล่ายน์ ไม่ได้กล่าวถึงความล่าถอยทางการทหารของกองทัพเมียนมา นับตั้งแต่พันธมิตรสามภราดรภาพ ซึ่งเป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทางตอนเหนือของประเทศ เริ่มเปิดฉากการโจมตีตอบโต้เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ของปีที่แล้ว ซึ่งมีรายงานว่าจนถึงปัจจุบันนี้ กองทัพเมียนมาสูญเสียเมืองไปแล้วกว่า 30 เมือง พร้อมกันกับการสูญเสียกำลังพลไปมากกว่า 3,000 นาย

Radio Free Asia รายงานว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา เพื่อโค่นล้มอำนาจการปกครองของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของพรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเมียนมาหดตัวลงไปกว่า 10-12% ซ้ำเติมปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศให้เลวร้ายลงไปมากกว่าเดิม

GDP.jpg

จากรายงานล่าสุดของธนาคารโลก มีการคาดการณ์ว่าในปี 2567 นี้ เมียนมาจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงแค่ 1% สืบเนื่องจากปัญหาการชะลอตัวทางภาคการผลิต ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการค้า นอกจากนี้ ประชาชนเมียนมาเกินครึ่งประเทศยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยกว่า 40% ของครอบครัวในเมียนมามีรายได้ลดลงในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นับตั้งแต่การทำรัฐประหาร ค่าเงินจัตของเมียนมาสูญเสียมูลค่าไปกว่าครึ่งหนึ่ง

เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางเมียนมาประกาศว่า ธนาคารชาติจะไม่จำกัดอัตราแลกเปลี่ยนเงินจัตอีกต่อไป ในขณะที่มีรายงานว่า เผด็จการเมียนมาไม่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพื่อหนุนค่าเงินจัตที่ลดลงได้อีกต่อไป โดยในตอนนี้ อัตราแลกเปลี่ยนทางการของเมียนมามีอยู่ที่ 2,100 จัตต่อ 1 เหรีญสหรัฐฯ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดมีอยู่ที่ 3,500 จัตต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ

Inflation.jpg

การล่มหลายของค่าเงินเมียนมา ยังตอกย้ำปัญหาด้านวิกฤตพลังงานของประเทศ ทุกพื้นที่ของเมียนมาในขณะนี้ประสบกับปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ไม่เว้นแม้แต่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น เมียนมายังประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

สภาบริหารแห่งรัฐของเผด็จการเมียนมาพยายามอุดหนุนการนำเข้าพลังงาน โดยการมอบเงินเหรียญสหรัฐฯ แก่ผู้นำเข้าพลังงานที่มีความเชื่อมโยงทางการเมืองกับระบอบ ด้วยราคาที่ต่ำกว่าตลาด เพื่อทำให้มั่นใจว่าเมียนมาจะมีเชื้อเพลิงที่พอใช้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี ความพยายามดังกล่าวกับประสบกับความล้มเหลว โดยในช่วงปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่าเรือบรรทุกน้ำมันปฏิเสธที่จะขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือทาลิวาของนครย่างกุ้ง จนกว่าจะได้รับเงินจ่ายค่าสินค้า ซึ่งบ่งชี้ว่าเมียนมากำลังขาดแคลนเงินเหรียญสหรัฐฯ อย่างมาก 

ในอีกด้านหนึ่ง เผด็จการเมียนมาพยายามส่งเสริมการค้าชายแดนกับจีนและไทย ซึ่งมีการใช้เงินหยวนจีนหรือบาทไทย แต่การสูญเสียพื้นที่บริเวณชายแดนที่สำคัญไปจากการควบคุมของตัวเอง กำลังขัดขวางเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านของเผด็จการเมียนมา

balance.jpg

ในขณะที่กองทัพเมียนมายังคงควบคุมการค้าบริเวณชายแดนเมืองมูเซกว่าเกือบ 90% กับจีน ขณะนี้ พันธมิตรสามภราดรภาพได้เข้าควบคุมเขตการค้าไมล์ 105 เช่นเดียวกับจุดผ่านแดนที่มีขนาดเล็กกว่า เช่น ชิน ชเว ฮอว์, มูเซ และลาชิโอ ซึ่งเป็นเพียงเมืองเดียวทางตอนเหนือของรัฐฉานที่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของเผด็จการทหาร

ในขณะนี้ พันธมิตรสามภราดรภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยกองทัพอาระกัน กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง ได้เข้าควบคุมเมืองเกือบทั้งหมดตามทางหลวงหมายเลข 3 และ 34 ไปจนถึงชายแดนเมียนมา 

ทั้งนี้ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอางได้เข้ายึดค่ายทหารที่ตั้งอยู่ไกลออกไปทางตะวันตกจนถึงพื้นที่นองเกียว ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองปยินอูลวิน อันเป็นที่ตั้งของสถาบันบริการการกลาโหมที่ห่างออกเพียง 24 กิโลเมตร แม้ว่ากองทัพอากาศเมียนมาจะได้เพิ่มการโจมตีทางอากาศอย่างเข้มข้นเพื่อยึดเมือวต่างๆ คืนจากกองกำลังชาติพันธุ์ ในอีกทางหนึ่ง กองกำลังกะเหรี่ยงยังได้เข้าควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงเส้นทางการค้าไปยังแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย หลังจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงสามารถควบคุมพื้นที่ตามแนวชายแดนไทยสำเร็จ

จากปัญหาราคาน้ำมันก่อให้เกิดความล่าช้าที่การค้าบริเวณชายแดน และค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการค้าชายแดนของเมียนมาสูญหายไปประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท) ในช่วง 2 เดือนหลังปฏิบัติการ 1027 ในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ทั้งนี้ การค้าชายแดนของเมียนมาคิดเป็นสัดส่วน 40% ของการส่งออก และ 21% ของการนำเข้า โดยตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา พบว่าการส่งออกของเมียนมาไปยังไทยและจีนในช่วง 9 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ลดลงเหลือแค่ 178 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6.3 พันล้านบาท) และ 157 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5.5 พันล้านบาท) ตามลำดับ

แต่ละภาคทางเศรษฐกิจของเมียนมากำลังประสบกับวิกฤต โดยในช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เผด็จการเมียนมาหยุดการจัดหาเชื้อเพลิงให้กับนิคมอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น เผด็จการเมียนมายังเรียกร้องให้เจ้าของโรงงานทำการเจรจาซื้อพลังงานด้วยตัวเอง

fiscal.jpg

ในอีกด้านหนึ่ง ภาคอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าหลักของเมียนมาได้พบกับปัญหาเช่นกัน โดยโรงงาน 271 แห่งจาก 817 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 33% ของโรงงานทั่วประเทศ ต้องปิดตัวลงตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เนื่องจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าวัตถุดิบ ตลอดจนราคาพลังงานที่สูง และการยกเลิกสัญญา รวมถึงการที่นักลงทุนต่างชาติรู้สึกไม่สบายใจกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชน แม้กระทั่งบริษัทของจีนในเมียนมาเองก็กำลังจะปิดตัวลง

ค่าแรงในเมียนมากำลังประสบปัญหาจากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งยังคงสูงอยู่ที่ 29% ในขณะที่ราคาอาหารหลัก เช่น ข้าว ไข่ และน้ำมันปรุงอาหารในเมียนมายังคงพุ่งสูงขึ้น ซ้ำร้าย เผด็จการเมียนมายังปฏิเสธที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงาน ด้วยการเสนอเงินค่าจ้างรายวันจำนวน 1,000 จัต (ประมาณ 17 บาท) ให้แก่แรงงานแทน ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันของเมียนมาถูกกำหนดเอาไว้อยู่ที่เดิมมาตั้งแต่ปี 2561

ภาคเกษตรกรรมของเมียนมายังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ตลอดจนการขาดแคลนปุ๋ยและยาฆ่าแมลงนำเข้า แม้ว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรจะสูงขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.ย. 2566 แต่เผด็จการเมียนมากลับกำหนดเพดานราคาการค้าข้าวขายส่ง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของผู้บริโภคในตัวเมือง

humanitarian aids.jpg

ในอีกทางหนึ่ง การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อธนาคารเพื่อการลงทุนและพาณิชย์เมียนมา และธนาคารการค้าต่างประเทศของเมียนมา ส่งผลให้ธุรกรรมส่วนใหญ่ที่ใช้เงินเหรียญสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ มีรายงานว่าธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ของสิงคโปร์ทำการปิดบัญชีที่เชื่อมโยงกับเมียนมาอย่างเงียบๆ เพื่อขัดขวางการทำธุรกรรมระหว่างประเทศของเมียนมาอีกด้วย

ในเดือน ธ.ค. 2566 ชาวเมียนมา 3 คน รวมทั้ง จ่อมินอู ซีอีโอของสกายเอวิเอเตอร์ ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาพยายามลักลอบขนเงิน 508,925 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 13 ล้านบาท) ตอกย้ำปัญหาการขาดแคลนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของเผด็จการเมียนมา หลังจากที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทั้งต่อ จ่อมินอู และสกายเอวิเอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้จัดหาชิ้นส่วนเครื่องบินทหารรายใหญ่ให้กับเผด็จการทหาร ไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566

อย่างไรก็ดี ในเดือน พ.ย. 2566 ธนาคารกลางแห่งเมียนมาประกาศว่า ธนาคารชาติจะเข้าร่วมระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดน (CIPS) ของจีน ขณะเดียวกัน เมียนมาจะพยายามพัฒนาระบบร่วมกับรัสเซีย เพื่อการชำระเงินที่ไม่ใช่เงินเหรียญสหรัฐฯ ต่อไป

เมียนมายังประสบกับการการขาดดุลการค้าของประเทศเป็นมูลค่าแตะ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท) ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 ในขณะที่การขาดดุลการค้าทั้งหมดในปีงบประมาณ 2565-2566 ของเมียนมามีอยู่ที่ 732 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้ การส่งออกของเมียนมายังลดลงกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท) ในช่วง 9 เดือนสุดท้ายของปี 2566

ในปี 2566 ภาคธุรกิจของเมียนมาสามารถดำเนินการได้แค่ 56% ในขณะที่เผด็จการทหารเมียนมากำลังพยายามหาทางจัดเก็บภาษี 2% จากการส่งเงินกลับบ้านของแรงงานต่างชาติประมาณ 5 ล้านคนในประเทศไทย

ในเดือน ก.ย. 2566 เผด็จการเมียนมาพยายามมองหาแพะรับบาปของปัญหาเศรษฐกิจประเทศ ด้วยการจับกุม พลโท โมมี้นตุน ซึ่งมีชั้นอำนาจอยู่ลำดับที่ 6 ในสภาบริหารแห่งรัฐของเผด็จการเมียนมา และเป็นประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยการประกันการไหลเวียนของการค้าและสินค้าอย่างราบรื่น นอกจากนี้ เผด็จการเมียนมายังได้จับกุมตัวรองผู้อำนวยการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการอีกด้วย

เผด็จการเมียนมาสอบปากคำนักธุรกิจจำนวนหนึ่ง รวมถึงผู้ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหาร และจับกุมผู้ค้าน้ำมันบริโภค 16 รายในเดือน ต.ค. 2566 ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศยังคงยังคงถดถอย และความสูญเสียในสนามรบยังคงเพิ่มสูงขึ้น

ในวาระครบรอบ 3 ปีของการทำรัฐประหารเมียนมา ชะตากรรมเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ของไทยยังคงไม่สดใส และยังคงเลวร้ายลงอย่างไม่มีวันหวนคืน แม้เผด็จการเมียนมาจะพยายามหาทุกหนทาง เพื่อการกอบกู้ระบอบรัฐประหารเอาไว้ แต่ความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นจากประชาคมโลกต่อเมียนมา ยังคงกัดกินระบอบการปกครองของกองทัพเมียนมา เพื่อนรอวันที่ระบอบมินอ่องหล่ายน์จะสูญสิ้นไป


ที่มา:

https://www.rfa.org/english/commentaries/myanmar-junta-woes-01132024094311.html