ไม่พบผลการค้นหา
รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุหลังน้ำจากสุโขทัยหลากมาถึงพิษณุโลกผ่านแม่น้ำยมสายเก่า ส่งผลให้น้ำมีปริมาณมาก เฝ้าระวังล้นตลิ่ง พร้อมผลักดันลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เกษตรกรก่อน ปล่อยลงทุ่งบางระกำ เพราะจะมีพายุฝนเข้ามาอีก

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำในพื้นที่ประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว อ.บางระกำจังหวัดพิษณุโลก หลังจากน้ำจากสุโขทัย ที่หลากมาจนถึงพิษณุโลกผ่านแม่น้ำยมสายเก่า พร้อมเปิดเผยว่า กรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำมาตั้งแต่ จ.แพร่ สุโขทัย อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมาถึงบางระกำมวลน้ำก้อนนี้มาจากแม่น้ำยม สาเหตุมาจากช่วงนั้นมีฝนตกภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งแต่ 20-22 ส.ค. 2563 มีฝนตกหนักในพื้นที่ จ.แพร่ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมากลายเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ลงมาที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ตรงนี้มีจุดวัดน้ำที่ Y.14 ปกติจะเป็นตัวทีคอยบ่งชี้เป็นตัวบริหารจัดการน้ำของตัวแม่น้ำยมก่อนที่จะเข้าตัวสุโขทัย สำหรับ Y.14 ปีนี้มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560-2562 เราได้ติดตามสถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำตรงนี้ถึง 1499 ลบ.ม./วินาที มากกว่าปี 60 เกือบ 400 ล้าน.ลบ.ม.

ทวีศักดิ์ กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการใช้ประตูหาดสะพานจันทร์เป็นด่านหน้า ในการแบ่งปันน้ำ ไว้คอยหน่วง คอยฉุด อย่าให้น้ำเข้าเมือง โดยการแบ่งน้ำเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งซ้ายมือของแม่น้ำยมจะไปทางคลองหกบาท หรือ ประตูหกบาท ไป 350 ล้าน.ลบ.ม. จากคลองหกบาทจะผันไปคลองยม-น่าน การจัดการจราจรทางน้ำ โดยการลดการระบายน้ำที่เขื่อนสิริกิติ์ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.63 ที่ผ่านมา ลดการระบายจนถึงปิด ตรงนี้น้ำจะไหลไปที่แม่น้ำน่านประมาณ 100 ล้าน.ลบ.ม./วินาที จาก 350 หายไป 100 จะมีเส้นตรงลงที่คลองยมน่าน (สายเก่า) หรือจุดประตูบางแก้ว 240-250 ล้าน.ลบ.ม./วินาที แล้วจะแยกไปคลองย่อยลงแม่น้ำน่านอีก ปัจจุบันเราวัดตรงนี้ประมาณ 109 ล้าน.ลบ.ม./วินาที ก็แสดงว่าลงอีกสาขาหนึ่งไปแม่น้ำน่าน ส่วนทางฝั่งขวาของทางแม่น้ำยมที่ประตูหาดสะพานจันทร์ก็จะไปที่ประตูน้ำโจนประมาณสัก 10-30 ล้าน.ลบ.ม./วินาที จะไปที่แก้มลิงทะเลหลวง ขณะที่มวลน้ำจากจังหวัดสุโขทัย เข้าสู่จังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณ กว่า 500 ล้าน ลบ.ม. และแยกไปตามคูคลองน้ำต่างกว่า 150 ล้าน ลบ.ม.

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า จะปล่อยให้ผ่านประตูหาดสะพานจันทร์ก่อนที่จะถึงเมืองไป 800 ล้าน.ลบ.ม./วินาที แล้วผันออกคลองซ้าย ขวา คลองเล็กคลองน้อย ออกไปประมาณ 170 ล้าน.ลบ.ม./วินาที จะบังคับไม่ให้เกิน 550 ล้าน.ลบ.ม./วินาที ที่ Y.4 หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่ 23 ส.ค. ที่ได้ลงพื้นที่ดูการบริหารจัดการน้ำ ได้มีการจัดตั้งชุดมวลชนสัมพันธ์ ประกอบด้วยหน่วยปกครองท้องที่ ทหาร ตำรวจ ชลประทาน เพื่อลงพื้นที่สร้างความรับรู้ให้กับประชาชนบริเวณ 2 ฝากฝั่งแม่น้ำยมทั้งสายใหม่และสายเก่า เพื่ออธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจและดูแลประตูระบายน้ำต่างๆ โดย ได้รับความความร่วมมือจากประชาชนอย่างดีในทุกทีช่วยกันนำน้ำจากที่ Y.14 ลงมาถึงบางระกำ

"เราจะลำเลียงผ่านมาคลองยม-น่าน แม่น้ำยม คลองต่างๆ มาเจอกันที่ N.67 คือจุดวัดน้ำที่แม่น้ำยมมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่วัดเกยชัยเหนือ ตรงนี้น้ำเริ่มขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่าตลิ่งมาก ตรงนี้จะลำเลียงมวลน้ำไม่เกิน 2-3 วัน มวลน้ำจะไปอยู่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา เราจะอัดน้ำไว้ไม่ทิ้งลงทะเลเพื่อออกไป 2 ฟากฝั่ง ฝั่งซ้ายคือคลองชัยนาทป่าสัก ลงคลองรพีพัฒน์ แยกใต้ แยกตก ไปที่คลอง 13 จนถึงพระองค์ชลทิศออกไปฉะเชิงเทรา เพื่อให้น้ำพี่น้องประชาชนได้ทำนา ในทุ่งเจ้าพระยาตอนนี้ยังไม่ได้ทำนา 3.54 ล้านไร่ เราจะเอาปริมาณน้ำ 400-500 ล้าน จะได้ไปช่วยในการทำนาปี ส่วนฝั่งขวามือจะแบ่งน้ำไปที่แม่น้ำน้อย ท่าจีน คลองมะขามเฒ่าอู่ทอง ลำเลียงไปตอนนี้น้ำเริ่มขึ้นแล้ว ติดตามที่เขื่อนเจ้าพระยา ตอนนี้ระดับน้ำ +14.4 ซึ่งสูงขึ้นกว่าเมื่อวานประมาณ 60-70 เซนติเมตร จึงเป็นการบริหารจัดการน้ำตอนนี้ คาดว่าน้ำจากจังหวัดสุโขทัย จะถึงลุ่มเจ้าพระยาภายใน 5-6 วันนี้" ทวีศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มวลน้ำก้อนนี้ไม่ได้เปิดลงสู่ทุ่งบางระกำ เพราะสาเหตุใด รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการคาดหมายของกรมอุตุนิยมวิทยายังมีร่องความกดอากาศที่ค้างอยู่ ถ้าติดตามฤดูกาล ซึ่งฤดูฝนจะติดตามฤดูฝน คาดว่าจะหมดฤดูฝนช่วงกลางเดือนตุลาคม ตรงนี้เราเปิดทุ่งไว้รับน้ำเผื่อน้ำเหนือหลากลงมาอย่างไรก็ตามทุ่งบางระกำต้องมีน้ำแน่นอน สิ่งสำคัญเรายังมีเตรียมรับน้ำหลากไว้ที่บึงบอระเพ็ด ถ้าน้ำหลากมาประชาชนไม่ต้องตกใจ เพราะบึงบอระเพ็ดสามารถเก็บน้ำไว้ได้ 180 ล้าน.ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีน้ำเพียง 6-7 ล้าน ลบ.ม สามารถปัดน้ำเข้าได้อีก หากปริมาณน้ำถึง 800 คิว จะปัดเข้าบึงบอระเพ็ดกลายเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ บางระกำก็ต้องมีน้ำเข้า ขณะนี้ขอชะลอให้เข้าตามธรรมชาติก่อน

"ยังมีพายุอีกหลายลูกที่จะเข้ามา ตามธรรมชาติของฝน เรายังไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่อย่างไร จึงไม่ไว้วางใจ ส่วนที่ จ.พิจิตร ไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ตอนนี้เราเฝ้าระวังเรื่องฝนตกอย่างเดียว หากมีฝนต้องคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทางทุ่งเจ้าพระยาไม่ต้องกังวลไม่กระทบแน่นอน และชลประทาน มั่นใจว่ากรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำได้แน่นอน แต่การบริหารจัดการต้องได้รับความร่วมมือกับประชาชน ทุกภาคส่วน" ทวีศักดิ์ กล่าว

ทวีศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ภัยแล้งต้องย้อนกลับไปปี 2562 ที่มีฝนตกต่ำกว่าค่าปกติถึงกว่า 10% ทำให้น้ำในเขื่อนเก็บกักในลุ่มเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย ป่าสัก มีปริมาณน้ำน้อย เราจึงมีวิธีการมาตรการในบริหารจัดการในการใช้น้ำช่วงฤดูฝนคือ 1. ต้องใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำนาปี จึงให้ประชาชนเกษตรกรชะลอการทำนา 2. คือการบริหารจัดการน้ำท่า คือน้ำที่อยู่ในลำน้ำใช้ฝาย ประตู อัดขึ้นซ้ายขวา ตลอดจนป้องกันเรื่องอุทกภัยด้วย สิ่งสำคัญคือเราต้องจัดการให้มีน้ำในการอุปโภค บริโภค กักเก็บน้ำให้มากที่สุดในเขื่อน ในตุ่ม เพื่อใช้ในฤดูแล้งปี 2563/2564