หลังจากเงียบหายไป ตั้งแต่ปม “ตั๋วช้าง-ตั๋วตำรวจ” ที่พรรคก้าวไกล หยิบเอกสารลับมาเปิดเผยกลาง เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อช่วง ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ทำให้พูดถึง “ยกเครื่องวงการสีกากี”
เหมือน “คดีบอส” วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเจ้าสัวเครื่องดื่มชูกำลังระดับโลก เมื่อสื่อต่างประเทศขุดคุ้ยทีไร รัฐบาลไทย ตำรวจไทยก็จะเทคแอคชั่นเป็นครั้งๆ แล้วก็เงียบหายไป
เมื่อเรื่องผู้กำกับโจ้บานปลาย คำถามเรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ” ดังกระหึ่มอีกครั้ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จึงต้องใช้โอกาสที่ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” (สตช.) กำลังเป็นตำบลกระสุนตกจากการปราบปรามม็อบดินแดง จนถึงกรณีผู้กำกับโจ้ สั่งการโฆษกป้ายแดง “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีป้ายแดง ออกมาให้ข่าวอีกครั้งว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งการปฏิรูปตำรวจ
“นายกฯ รับทราบข้อห่วงใยและกระแสเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจจากภาคประชาชน ยืนยันว่า รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปองค์กรตำรวจ โดยยึดหลักสาระสำคัญตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในหมวดปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม”
ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาแล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็งคือเสาหลักในการบริหารประเทศ และได้สั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ดำเนินการปฏิรูปในระยะเร่งด่วน 7 ด้าน คือ
1. ด้านโครงสร้างของตำแหน่งข้าราชการตำรวจ 2. ด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล 3. ด้านระบบงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย 4. ด้านการนำระบบเทคโนโลยีมาสนับสนุนการรักษาความปลอดภัย
5. ด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 6. ด้านการตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส 7. ด้านสวัสดิการตำรวจ
พร้อมกับไล่เลี่ยงไทม์ไลน์ กฎหมายปฏิรูปตำรวจ ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561 เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เสนอ แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
ต่อมามีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 203/2562 ลงวันที่ 22 ส.ค. 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. .... โดยมี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเลขานุการ
ซึ่งได้ยกร่างกฎหมายจำนวน 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ....
จากนั้นมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว และให้เสนอรัฐสภา
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 ได้พิจารณาและลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่ง ครม. เป็นผู้เสนอ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยได้ประชุมมาแล้วถึง 11 ครั้ง โดยมี “วิรัช รัตนเศรษฐ” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานวิปรัฐบาล เป็นประธาน
ซึ่ง “วิรัช” ยอมรับในความล่าช้า อ้างเหตุผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 และมีข้อคิดต่างกันเยอะ กว่าจะผ่านได้ทีละมาตราจึงใช้เวลานาน
และสภาฯมีประชุมเรื่องสำคัญ อาทิ พ.ร.บ.งบฯปี 65 การแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้ กมธ.งดประชุมไปโดยปริยาย สัปดาห์หน้างดประชุมอีก เนื่องจากมีอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากปิดสมัยประชุมสภาฯวันที่ 18 กันยายนน่าจะประชุมได้จะพยายามเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด
“หลังรัฐประหารทั้งคณะ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ พิจารณาคณะละ 2 ปี มาถึงรัฐบาลนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯและ ตร.ร่วมกันร่างเสนอต่อสภาฯ ต้องหยิบยกมาพิจารณาประกอบกัน”
อย่างไรก็ตาม “พล.อ.ประยุทธ์” ประจำการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 7 ปี อยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดเป็นสมัยที่ 2 ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม
จนกระทั่งบัดนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ “นักการเมือง ควบนายทหารนอกราชการ” ได้แสดงความพยายาม“ปฏิรูปตำรวจ” มาแล้วหลายหน มากกว่าที่ โทรโข่งรัฐบาลสรุปมาข้างต้น แต่ก็เหลวไม่เป็นท่า ทำได้แค่ผิวๆ แม้ว่าผ่านมา 7 ปีก็ตาม
ย้อนไปหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นผู้นำสูงสุด เข้ายึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เพียง 2 เดือน คสช.เริ่มปฏิบัติการยกเครื่องตำรวจครั้งแรก
14 ก.ค. 2557 “พล.อ.ประยุทธ์” ออกประกาศ คสช. ที่ 88/2557 ลงวันที่ 10 ก.ค. 2557 ปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายตำรวจ (ก.ต.ช.) รื้อกระบวนการคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ใหม่ โดยให้ ผบ.ตร.คนเก่า เป็นผู้เสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่
เปลี่ยนจากของเดิมที่ให้ “นายกรัฐมนตรี” ในฐานะประธาน ก.ต.ช. เป็นผู้เสนอเหมือนในอดีต ทำให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงได้ยากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องเรียงลำดับตามอาวุโสในการพิจารณาแต่งตั้งเป็นการ “ปรับโครงสร้าง” ตำรวจครั้งแรก
จากนั้นกระบวนการปฏิรูปตำรวจก็ลุ่มๆ ดอนๆ หลายครั้ง เมื่อเข้าสู่ “ยุคปฏิรูป” ที่มี “สภาปฏิรูปประเทศ” (สปช.) ทำหน้าที่
เพราะดันเกิดการ “งัดข้อ” กันภายในแม่น้ำสายระหว่าง สปช. กับสายสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อพลันที่ สปช.เตรียมที่จะเสนอแผนปฏิรูปตำรวจ แต่ปรากฏว่า สนช.สายตำรวจที่มีพาวเวอร์สูงอ้างสายตรง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บิ๊กบราเธอร์ในรัฐบาล ใช้ฐานะความเป็น “พี่-น้อง” เข้า“สกัด” ทำให้เกมปฏิรูปของ สปช.ต้องล่าถอย
อีเวนต์ที่เหล่า สปช.ยกให้เป็น “เกมสกัด” ปฏิรูปตำรวจในยุค คสช. เกิดขึ้นเมื่อ 13 ม.ค 2558 คณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช.ที่มี “พล.ร.อ.ดิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ โดยมีศักดิ์เป็นน้องชายแท้ๆ ของ พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน
ได้จัดสัมมนาปฏิรูปตำรวจขึ้น พร้อมเสนอให้ยกฐานะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ขึ้นเป็นหน่วยงานระดับ “กระทรวง” และยกฐานะส่วนราชการในสังกัด สตช.มีฐานะเป็นกรมและเป็นนิติบุคคล ให้องค์กรตำรวจที่ทำหน้าที่กำกับนโยบายหรือการบริหารงานบุคคล
ควรมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บังคับบัญชาระดับสูง
เบื้องหน้าคือการจัดสัมมนา แต่หลังฉากที่ สปช. รับรู้กัน คือ มือที่มองไม่เห็นข้างหลังวงการสีกากี ใช้ช่องคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช.ประกาศรักษาอำนาจในวงการตำรวจไว้ เพราะเป็นที่รู้กันว่า ไป-มา คนที่กุมบังเหียนแม่น้ำสาย สปช.ไม่อาจควบคุมได้มากนักยังมีเรื่องที่ผลักดันให้คาสิโนถูกกฎหมาย
และเป็นที่น่าสังเกตว่า จุดเปลี่ยนคดีบอส วรยุทธ์ ที่เป็นเหตุให้อัยการไม่สั่งฟ้องคดี จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตอีกครั้ง ก็อยู่ที่คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวด้วย
จากผลพวงการ “งัดข้อ” ในตอนจบ สปช.ต้องมีอันเป็นไปทั้งยวงด้วยหลายๆ ปัจจัย ที่เกิดความขัดแย้งระหว่าง สปช. กับ สนช.
จึงทำให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ครั้งที่ 1 เมื่อแกนนำ สนช.- คสช.ร่วมกัน หารือ “ตัดวาระ” สปช.ทิ้งไปหลังจากโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อปี 2558
จากนั้น 4 ธ.ค. 2558 “พล.อ.ประยุทธ์” ลงนามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 44/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ ให้อำนาจ ผบ.ตร. มีอำนาจ ตั้งแต่ จเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผู้บัญชาการ (ผบช.) รอง ผบช. ผู้บังคับการ
13 มิ.ย 2559 ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เห็นชอบรายงานปฏิรูปตำรวจ ของกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อส่งต่อให้รัฐบาล
1. ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้อิสระปราศจากจากการถูกครอบงำของฝ่ายการเมือง
2.ปรับปรุง ก.ต.ช. กำหนดนโยบายการบริหารงานกิจการตำรวจเพียงอย่างเดียว ส่วนการเลือก ผบ.ตร. ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ตร.ในการคัดเลือกแทน
3.ให้กระบวนการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.เป็นไปโดยปราศจากการครอบงำจากผู้มีอำนาจทางการเมือง กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ผบ.ตร.ตามช่วงเวลา โดย ก.ตร.
ในห้วงเวลาเดียวกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ตั้ง “คณะทำงานขับเคลื่อนและประสานงานการปฏิรูปองค์กรตำรวจ” ขึ้น มอบหมายให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
วางเป้าหมายปฏิรูป 3 ระยะเร่งด่วน 1 ปี (2559-2560) ระยะกลาง 5 ปี (2559-2564) และระยะยาว 20 ปี (2559-2579) ซึ่งสอดคล้องกับ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และข้อเสนอแนะในบางส่วนของ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” และกำหนด 10 ประเด็นในการปฏิรูป
เมื่อรายงานของ สปท.ส่งมาถึงทำเนียบรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” จึงสั่งการในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2559 ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ สตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการดำเนินการด้านการปฏิรูปตำรวจ โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นผู้รับผิดชอบ
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังงัด “อำนาจพิเศษ” มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาแก้กฎตำรวจอีกหลายฉบับ
และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม พ่วงปฏิรูปตำรวจก็ถูกมาบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา ง. กำหนดแนวทางปฏิรูปตำรวจเอาไว้ กระทั่ง รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสังคายนากฎหมายตำรวจ ทั้งชุดของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ชุดของ มีชัย ฤชุพันธุ์
ก่อนมาตกผลึกเป็นร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ที่เพิ่งตั้งไข่ในชั้นกรรมาธิการของรัฐสภา หลังจากผ่านวาระที่ 1 ไปเมื่อ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา
เมื่อ “นายทหารนอกราชการ” ลงมือปฏิรูปตำรวจตำรวจมา 7 ปี ก็มีเท่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง