แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ทารกที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์กลุ่มนี้พบได้ 1 คน ในทารกเกิดใหม่ 800 คน ซึ่งประเทศไทยพบทารกกลุ่มอาการดาวน์เกิดใหม่ประมาณ 1,000 คนต่อปี หรือประมาณ 3 คนต่อวัน อัตราการเกิดกลุ่มอาการดาวน์นี้จะสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ด้วย
โดยพบว่าหากมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น และถ้าไม่มีระบบบริการตรวจคัดกรองในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์จะพบเด็กที่เกิดมาเป็นกลุ่มอาการดาวน์ได้มากถึงประมาณ 1,152 รายต่อปี ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากการเลี้ยงดูปกติสูงถึงรายละ 2,500,000 บาท โดยผู้ปกครองของเด็กต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ จึงเป็นภาระที่หนักมากสำหรับครอบครัวที่ไม่พร้อม แม้จะมีสวัสดิการที่รัฐบาลจ่ายให้ประมาณรายละ 1,600,000 บาทแล้วก็ตาม ฉะนั้นการตรวจหาแต่เนิ่น ๆ ว่าทารกในครรภ์มีภาวะเสี่ยงอยู่ในกลุ่มอาการดาวน์หรือไม่ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เอื้อทางเลือกและมีประโยชน์มากในการเตรียมความพร้อมให้แก่ครอบครัวได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินงานป้องกันการเกิดทารกกลุ่มอาการดาวน์ตั้งแต่ปี 2556 จนปัจจุบันสามารถขยายบริการได้ครอบคลุมทั้งประเทศจากการติดตามผลการดำเนินงานพบว่ายังต้องมีการพัฒนาให้ได้มาตรฐานเดียวกันและเพิ่มความครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ตามประกาศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 7 เม.ย. 2559 เรื่องการให้บริการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ ให้กับหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
โดยหญิงตั้งครรภ์ในกลุ่มนี้จะได้รับคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์หรือพยาบาล และได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีการเจาะเลือด (Quadruple test) เพื่อหาความเสี่ยงและหากพบว่าได้ผลเป็นบวกที่มีความเสี่ยงสูงที่ทารกในครรภ์จะเป็นกลุ่มอาการดาวน์ แพทย์ก็จะให้ทางเลือกในการตรวจโครโมโซมของทารกโดยการเจาะตรวจน้ำคร่ำเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสมต่อไป