ไม่พบผลการค้นหา
สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้ทำข้อตกลงครั้งสำคัญ เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ โดยสหรัฐฯ ตกลงที่จะนำเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เข้ามาประจำการยังเกาหลีใต้เป็นระยะๆ  และตกลงให้เกาหลีใต้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานวางแผนปฏิการนิวเคลียร์ ทั้งนี้ เกาหลีใต้ได้ทำข้อตกลงตอบคืนโดยจะไม่ทำการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า ปฏิญญาวอชิงตันนี้ จะเสริมสร้างความร่วมมือของชาติพันธมิตร ในการยับยั้งการโจมตีของเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ มีความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับภัยคุกคามนิวเคลียร์ที่เกิดจากเกาหลีเหนือ โดยเกาหลีเหนือกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี ที่สามารถกำหนดเป้าหมายยิงมายังเกาหลีใต้ได้ และเกาหลีเหนือกำลังปรับแต่งอาวุธพิสัยไกล ที่สามารถยิงได้ถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ

แต่เดิมทีนั้น สหรัฐฯ มีพันธะตามสนธิสัญญาในการปกป้องเกาหลีใต้อยู่แล้ว และก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นว่า ตัวเองจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หากจำเป็น แต่จากหลายภาคส่วนในเกาหลีใต้เริ่มตั้งสงสัยในคำมั่นสัญญาดังกล่าวของสหรัฐฯ และเรียกร้องให้เกาหลีใต้ดำเนินโครงการพัฒนานิวเคลียร์เป็นของตัวเอง

ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งเดินทางเยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการกล่าวว่า ปฏิญญาวอชิงตันถือเป็นพันธสัญญาที่ "ไม่เคยมีมาก่อน" ของสหรัฐฯ ที่จะยกระดับการป้องกัน ยับยั้งการโจมตี และปกป้องพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยใช้อาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงระบุว่า ข้อตกลงใหม่นี้เป็นผลมาจากการเจรจาที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือน

ภายใต้ข้อตกลงใหม่นี้ สหรัฐฯ จะแสดงพันธกรณีด้านการป้องกันของตัวเองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยการส่งเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ไปยังเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี พร้อมกับยุทโธปกรณ์ทางยุทธศาสตร์อื่นๆ รวมถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดที่สามารถติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์ได้ โดยทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาด้านนิวเคลียร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นการวางแผนด้านนิวเคลียร์ในอนาคต

ฝ่ายการเมืองในเกาหลีใต้ได้ผลักดันให้สหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ในการวางแผนว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนืออย่างไรและเมื่อใด เนื่องจากคลังแสงนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือมีขนาดและความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกาหลีใต้เริ่มระแวดระวังว่าพวกเขาจะถูกลืม และต้องคอยรอแต่การกดปุ่มจากทางสหรัฐฯ ความกลัวที่ว่าตามมาด้วยกระแสการเรียกร้องให้เกาหลีใต้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง

แต่ในเดือน ม.ค. ยูนได้ทำให้ผู้กำหนดนโยบายในสหรัฐฯ ตื่นตระหนก เมื่อเขากลายเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนแรก ที่ประกาศนำแนวคิดพัฒนานิวเคลียร์เป็นของตัวเองกลับมาใช้ใหม่ในรอบหลายทศวรรษ และหากสหรัฐฯ จะห้ามไม่ให้เกาหลีใต้มีความต้องการในการพัฒนานิวเคลียร์เป็นของตัวเอง สหรัฐฯ คงต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยูนยังได้ระบุอย่างชัดเจนว่า เขาคาดว่าเขาจะเดินทางกลับมายังเกาหลีใต้จากสหรัฐฯ พร้อมกับความคืบหน้าที่ "จับต้องได้"

หลังจากสหรัฐฯ ยอมตกลงข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีใต้ครั้งใหม่นี้แล้ว เพื่อเป็นการตอบแทน สหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้เกาหลีใต้ยังคงเป็นรัฐปลอดนิวเคลียร์ และเป็นผู้สนับสนุนการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ สหรัฐฯ เห็นว่าการห้ามเกาหลีใต้ไม่ให้ใช้นิวเคลียร์เป็นสิ่งสำคัญ โดยเกรงว่าหากล้มเหลว ประเทศอื่นๆ อาจเดินตามรอยเท้าของเกาหลีใต้ได้ อย่างไรก็ดี ยังคงมีความพยายามในการผลักดันให้เกาหลีใต้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง จากทั้งภาคนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล

ไบเดนกล่าวว่า สหรัฐฯ กำลังพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกาหลีเหนือกลับสู่โต๊ะเจรจา โดยทางการสหรัฐฯ กล่าวว่า ทางการเกาหลีเหนือเพิกเฉยต่อคำขอจำนวนมาก ที่จะพูดคุยโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ สหรัฐฯ หวังที่จะโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือเลิกใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่เมื่อปีที่แล้ว คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ กลับประกาศสถานะการมีนิวเคลียร์ของประเทศว่า "เปลี่ยนแปลงไม่ได้"


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-65404805?fbclid=IwAR06XDQ-O8hMWn6cOb0e4EveZdARF2qrJPaMCaAqkick__G02eaQs4ACJ6E