เหตุผลสำคัญที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจจากประชาชน คือ เพื่อการปฏิรูปทางการเมืองและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงมีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 โดยมีหลักการสำคัญเกี่ยวกับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิรูปการเมือง เพราะ การที่บุคคลใดอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองนานเกินไป จะก่อให้เกิดการสะสมอำนาจด้วยตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นรูปแบบหนึ่งของการทุจริตได้
แม้จะมีการถกเถียงถึงการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วครบ 8 ปี เมื่อใด ได้แก่
(1) เริ่มนับตั้งแต่ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการยึดอำนาจ เมื่อปี 2557 (วันที่ 24 สิงหาคม 2557) จะครบกำหนด 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้
(2) เริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ใช้บังคับ (วันที่ 6 เมษายน 2560) จะครบกำหนด 8 ปี ในวันที่ 6 เมษายน 2568
(3) เริ่มนับตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 (วันที่ 9 มิถุนายน 2562) จะครบกำหนด 8 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2570 ก็ตาม
แต่การนับระยะเวลาดังกล่าว ต้องพิจารณาจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่า 8 ปี ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ประกอบกับในบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ที่มีบทบัญญัติรับรองและสนับสนุนกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ (วันที่ 6 เมษายน 2560) เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
ดังนั้น เมื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 (ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้) จึงถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายใต้บังคับการนับระยะเวลาตาม มาตรา 158 วรรคท้ายและบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ด้วย ทำให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่า ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้ ที่ไม่ต้องการให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลานานเกินไปนั้น ซึ่งสอดคล้องกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 171 ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันการสะสมและผูกขาดอำนาจด้วยตำแหน่งหน้าที่ อันนำไปสู่การสร้างเครือข่ายและพวกพ้อง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุนำมาสู่การทุจริต และเกิดวิกฤติทางการเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติได้
ฉะนั้น หากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเจตนาเข้ามาเพื่อปฏิรูปการเมืองตามที่อ้างจริง เมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 แล้ว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ควรลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมิต้องให้ประชาชนร้องเรียน หรือให้ศาลพิจารณา มิฉะนั้น วาทกรรมการปราบโกง ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยึดอำนาจจากประชาชนโดยอ้างว่า จะเข้ามาเพื่อปฏิรูปทางการเมืองและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ก็จะเป็นเพียงแค่ข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองและพวกพ้องให้อยู่ในอำนาจต่อไป เสมือนเป็นการโกงอำนาจของประชาชนในทุกรูปแบบ โดยไม่สนแม้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ