ไม่พบผลการค้นหา
หอการค้าชี้ ปชช.กังวลรัฐบาลขาดเสถียรภาพการเมือง กระทบกำลังซื้อ สะท้อนกินเจอาจเงียบเหงากว่าเดิม แนะต้องฟื้นท่องเที่ยวไทย

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ก.ย.ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลังประเทศเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง ดัชนีโดยรวมตกลงมาอยู่ที่ระดับ 50.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.0

ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับลดลงจากระดับ 34.9 มาอยู่ที่ 34.1 สอดคล้องกับความเชื่อมั่นในอนาคตที่ปรับลงจาก 58.7 มาอยู่ที่ 57.8 มีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก 

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่มีผลกับความเชื่อมั่นของประชาชนมาจากทั้งฝั่งการชุมนุมที่มีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่ผ่านมา สอดผสานกับการขาดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.ซึ่งนับเป็นปัจจัยลบทางการเมืองไทยเช่นเดียวกัน

ธนวรรธน์ พลวิชัย-มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  • ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง เดือน ก.ย.ปรับลดลงมาอยู่ที่ 29.3 หลังจากที่เดือนก่อนหน้าเพิ่งปรับดีขึ้นมาในรอบ 18 เดือน โดยกลุ่มตัวอย่าง 72.3% มองว่าสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันอยู่ในสถาพแย่ (ขาดเสถียรภาพ) สอดคล้องกับคาดการณ์ในอนาคตที่กว่า 69.9% มองว่า รัฐบาลยังจะขาดเสถียรภาพต่อเนื่อง


กินเจเงียบเหงา ปชช.ไม่มีกำลังซื้อ

ผลกระทบจากปัจจัยข้างต้นสะท้อนชัดผ่านผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในประเด็นพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งพบว่าสัดส่วนผู้ตอบว่าจะเข้าร่วมการกินเจเพิ่มขึ้นราว 2% จากปีก่อนหน้า หรือขึ้นมาอยู่ที่สัดส่วน 39.8% 

ขณะที่ประชาชนมองว่าปริมาณการใช้จ่ายอยู่ในระดับเดิม เพียงแต่ ด้วยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น มูลค่าในการใช้จ่ายจึงมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี หากมาดูที่ตัวชี้วัดด้านความคึกคักของเทศกาล ผลสำรวจสะท้อนชัดว่าความคึกคักหายไป โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจที่ซบเซาลง ไปจนถึงสภาพคล่องในครอบครัว 

ประชาชนกว่า 47.8% มองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในจุดต่ำสุด ขณะที่อีก 27.3% มองว่าประเทศอยู่ในภาวะถดถอย ไม่สอดคล้องกับสถาบันด้านเศรษฐกิจหลายแห่งที่ออกมาประกาศว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังพ้นไตรมาสที่ 2/2563 

กินเจเยาวราช 62_๑๙๐๙๓๐_0015.jpg

ประชาชนคิดว่าเศรษฐกิจประเทศจะเริ่มหันหัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายฝ่ายมองว่าสภาพคล่องทางการเงินของครอบครัวจะปรับดีขึ้นเช่นเดียวกัน ขณะที่ฝั่งเอกชนมีมุมมองต่อเศรษฐกิจดีกว่าเล็กน้อย คือเริ่มเห็นการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 1-2 ของปีหน้า และมองว่าสภาพคล่องของตัวเองจะตามมาในครึ่งหลังของปี 


รับต่างชาติ - กระตุ้นไทยใช้เงิน

ธนวรรธน์ ย้ำว่า เศรษฐกิจจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาดั้งเดิมได้หากภาคท่องเที่ยวยังอ่อนแออยู่อย่างปัจจุบัน และเป็นหน้าที่สำคัญที่รัฐบาลต้องหาแนวนโยบายเข้ามาช่วยอุดรอยรั่วเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นประเทศอาจเริ่มเห็นการปรับลดคนงานในภาคบริการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงกลางไปจนถึงปลายเดือน ต.ค.นี้ ที่จะหมดมาตรการยืดหนี้อย่างเป็นทางการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สำหรับ 2 มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายอย่าง 'โครงการคนละครึ่ง' และ 'ช้อปดีมีคืน' อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้า ชี้ว่า รวมๆ แล้วจะช่วยให้มีเม็ดเงินราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะกระตุ้นจีดีพีประเทศให้ขึ้นมาราว 0.7% ต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 2%-3% ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม มาตรการเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยวยังต้องทำให้เป็นระบบมากกว่านี้ ทั้งการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังใช้จ่ายสูงให้เข้ามาพักอาศัยอยู่ในประเทศเป็นระยะเวลานาน อาทิ มาตรการกักตัวในสถานที่ท้องถิ่นแทนสถานกักกันตัวของรัฐ แต่ย้ำว่าต้องมีการดูแลความปลอดภัยอย่างรัดกุม