ขณะที่ทั่วโลกยังไม่มีการเปิดใช้งานไฮเปอร์ลูปอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 31 กรกฎาคม รัฐบาลรัฐมหาราษฏระ ประกาศรับรองสถานะโครงการไฮเปอร์ลูปของบริษัทเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน (Virgin Hyperloop One) และดีพีเวิลด์ (DP World) บริษัทพาร์ตเนอร์ ให้เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ไม่ต่างจากโครงการสร้างถนนหรือสะพาน และกำลังเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน กลายเป็นโครงการไฮเปอร์ลูปโครงการแรกที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาล
"โครงการนี้จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของของคมนาคมในประเทศ" รัฐบาลรัฐมหาราษฏระ ระบุในแถลง
การรับรองจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการนี้ นับได้ว่าเป็นการแซงหน้าเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ของอีลอน มัสก์ซึ่งเป็นผู้นำเสนอไฮเปอร์ลูปมาก่อนตั้งแต่ปี 2558
สำหรับไฮเปอร์ลูปในรัฐมหาราษฏระนั้น จะเป็นเส้นทางเมืองปูเน-มุมไบ โดยใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 35 นาที ขณะที่การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวในปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่งขึ้นไป ตามข้อเสนอของเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน-ดีพีเวิลด์นั้น ไฮเปอร์ลูปนี้จะรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 200 ล้านคน ปัจจุบันนี้มีผู้เดินทางระหว่างเมืองมุมไบและปูเนประมาณปีละ 75 ล้านคน และคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 130 ล้านคนในปี 2569
ทางรัฐบาลคาดว่าในเฟสแรกของการก่อสร้างจะมีระยะทาง 11.8 กิโลเมตร โดยใช้เวลาสร้างในช่วงครึ่งปีถึงสองปี ด้วยเงินลงทุน 50,000 ล้านรูปีอินเดีย (ราว 22,280 ล้านบาท) โดยพาร์ตเนอร์อย่างดีพีเวิลด์ แถลงว่าพร้อมจะลงทุน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 15,440 ล้านบาท) ในเฟสแรกเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและใช้ได้จริง
ส่วนรัฐบาลจะรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายและโลจิสติกส์สำหรับจัดหาที่ดินสร้างไฮเปอร์ลูป โดยรวมแล้วคาดว่าโครงการนี้จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 700,000 ล้านรูปี (ราว 312,000 ล้านบาท)
ในช่วงแรกนั้น เฟสหนึ่งจะเป็นเหมือนเส้นทางนำร่องเพื่อรับรองว่าเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปสามารถเปิดให้บริการผู้โดยสารได้จริง โดยทางเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน ต้องการให้เส้นทางนำร่องนี้สร้างเสร็จและเปิดใช้งานภายในปี 2567 หากเฟสนี้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยไปได้ก็จะเป็นการกรุยทางไปสู่การสร้างไฮเปอร์ลูปต่อในเส้นทางปูเน-มุมไบ
ทั้งนี้ เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน ลงนามข้อตกลงกับรัฐมหาราษฏระและรัฐกรณาฏกะ เพื่อศึกษาผลกระทบของไฮเปอร์ลูปต่อภูมิภาคตั้งแต่ปี 2560
ที่มา: Reuters / Tech Crunch / The Verge
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: