นิล ยงสิทธิ์ ยงค์กมล มีรูปร่างอ้วนท้วม ใบหน้าและรอยยิ้มสดใส แม้จะมีดวงตาแต่เขามองไม่เห็น เนื่องจากความผิดพลาดของพยาบาลเมื่อครั้งอยู่ในตู้อบทารก
ถึงโชคชะตาจะเล่นตลก แต่เขาก็พัฒนาตัวเองและเรียนรู้มากพอจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ในฐานะอาจารย์สอน ‘แซกโซโฟน’
ขณะที่ ปู้ พีระพงษ์ นรชาติ เป็นคุณครูสอนกีตาร์ เขาตัวเล็ก ปัดผมเป๋ มีรอยยิ้มกว้างที่จริงใจและท่าทีสบายๆ
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มต้นจากการเรียนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยเหลือพึ่งอาศัยกันเรื่อยมาจนกระทั่งตัดสินใจเปิดเพจ My friend is blind เพื่อหวังให้สังคมได้รู้จักวิถีชีวิตของผู้พิการมากยิ่งขึ้น
My friend is blind เกิดขึ้นจากความสนุกสนาน หลังถ่ายคลิปวิดีโอและแท็กเล่นกันไปกันมาในเฟซบุ๊ก พวกเขาเห็นโอกาสพัฒนาความเข้าใจในความพิการต่อสังคม
“คนอื่นน่าจะอยากรู้ว่าคนพิการใช้ชีวิตยังไง สื่อสารยังไง มีความรักได้ไหม มีเพื่อนยังไง ทำงานเลี้ยงอาชีพได้หรือไม่” ปู้หัวเราะ “ไม่เหนื่อยเลยครับมีเพื่อนแบบนี้”
นิล หวังว่าเพจนี้จะช่วยลดช่องว่างของความไม่เข้าใจ ความแตกต่างระหว่างคนตาดีและคนตาบอด ช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
“เราเป็นเพื่อนกันได้” นักแซกโซโฟนมือฉมังบอก
“พิการเป็นคำจำกัดความแค่ทางร่างกาย จริงๆ แล้วเขาเป็นคนธรรมดา อยากใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ไม่ได้พิการหรอกแค่แตกต่างจากเรา เราจะใช้ชีวิตกับความแตกต่างนั้นอย่างไร คือสิ่งที่เราต้องคิด” ปู้แตะที่ไหล่ของเพื่อนรัก
คลิปที่พวกเขาเผยแพร่นั้น เป็นการนำเสนอและอธิบายวิถีชีวิตของผู้พิการทางสายตา ที่คนตาดีสงสัย ตัวอย่างเช่น การใช้คอมพิวเตอร์ การใช้สมาร์ตโฟน การทำอาหาร การเล่นดนตรี และการเลือกตั้ง เป็นต้น
คุณครูสอนกีตาร์ผิวเข้ม บอกว่า การทำความรู้จักกับคนตาบอดเหมือนเป็นกำแพงที่ต้องก้าวข้าม เนื่องจากหลายคนกลัวว่าจะเจอกับภาระและจำเป็นต้องช่วยเหลืออีกฝ่ายไปตลอด ทั้งที่จริงแล้ว“ไม่ใช่” คนพิการต้องการความช่วยเหลือแค่เพียงบางเรื่องเท่านั้น และอย่าเวทนาเหมือนกลัวว่าเขาจะ “ตาย”
“ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงเหมือนที่ทุกคนคิด” ปู้ยืนยัน
ทุกวันนี้นิลถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม โดยได้รับความช่วยเหลือจากคนสนิท เนื่องจากเมืองไทยยังไม่มีระบบที่สามารถเอื้อให้ผู้พิการทางสายตาทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มได้โดยลำพัง
“เมืองนอกจะมีช่องสำหรับหูฟัง เสียบเข้าไปแล้วตู้จะอธิบายขั้นตอนต่างๆ จะโอนจะถอน เราสามารถทำได้ด้วยตัวเองทั้งหมด แต่เมืองไทยยังไม่มี ต้องพึ่งพาคนที่ไว้ใจ” อาจารย์หนุ่มวัย 32 ปีบอกด้วยความผิดหวัง
สายตาแปลกๆ จากคนรอบข้างคือสิ่งที่ปู้เจอเมื่อต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนกดรหัสผ่านเอทีเอ็ม
“ผมเป็นมิจฉาชีพหรือเปล่า ?” เขาตีความสายตาที่เห็นก่อนจะหัวเราะร่าอย่างมีชีวิตชีวา
การตั้งสเตตัสผ่านเฟซบุ๊กและโต้ตอบผ่านแชตในโปรแกรมโซเซียลมีเดียต่างๆ เป็นอีกหนึ่งความสงสัยของผู้คน แต่พวกเขาบอกว่า “สบายมาก” เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถอ่านข้อความบนหน้าจอให้กับผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น วอยซ์โอเวอร์ในไอโฟน ที่แค่ใช้คำสั่งนิ้วง่ายๆ เคลื่อนที่ไปรอบๆ หน้าจอแล้วฟังมันพูด
ขณะที่การเขียนข้อความเขาใช้วิธีพิมสัมผัสและป้อนเสียงเข้าไป แม้จะผิดบ้างแต่ก็พอสื่อสารได้อย่างรู้เรื่องและไม่เป็นปัญหาใหญ่
ใครๆ ก็อยากรู้ว่าคนตาบอดวัดความสวยงามจากอะไร โดยเฉพาะกับมนุษย์ฝ่ายตรงข้ามที่เราชื่นชอบ
อาจารย์นิลอธิบายว่าความสวยมีอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง คือ สวยด้วยเสียง
“น้ำเสียง จังหวะการพูด การออกอักขระ มันเป็นคุณภาพที่ผมชอบและคิดถึงความน่ารัก ฟังแล้วมีผลต่อความรู้สึก”
สวยด้วยหุ่น “เป็นเรื่องของรูปร่าง เวลาเราเดินเล่นด้วยกันเรา เกาะแขนของอีกฝ่าย และรับรู้ด้วยสัญชาตญาณของบุรุษเพศ”
สวยด้วยใจ “เรื่องนี้สำคัญมาก เป็นสิ่งที่เราเห็นหรือสัมผัสได้ยากที่สุดจากคนๆ หนึ่ง เหมือนสุภาษิตที่บอกว่ารู้หน้าไม่รู้ใจ”
เจ้าตัวยังไม่เคยประสบความสำเร็จในด้านความรัก “ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากครับ” นิลบอก โดยถือเป็นเรื่องที่แตกต่างจากคนทั่วไปมากพอสมควรในแง่ของการเข้าถึงโอกาสและการได้รับโอกาส
ทั้งนี้ระหว่างการสัมภาษณ์ปู้แตะไหล่เพื่อนรักอยู่เสมอ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารับรู้ในสิ่งที่พูด ซึ่งหากเป็นคนธรรมดาก็อาจใช้วิธีการพยักหน้าหรือส่งสายตาแสดงการตอบรับ
นิล ยงสิทธิ์ อยู่ระหว่างศึกษาในระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต วิชาเอกดนตรีศึกษา และเป็นอดีตนักศึกษาไทยที่สร้างชื่อในเวทีโลกในฐานะยอดนักแซกโซโฟน หลังคว้ารางวัล VSA International Young Soloists Award 2012 ได้รับเชิญไปแสดงที่ Millennium Stage ใน John F.Kennedy Center กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันเขาเป็นคุณครูสอนดนตรีที่โรงเรียนสารสาสน์พิทยา ฝึกฝนและพานักเรียนไปแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การทำหน้าที่ครูของเขาแตกต่างจากครูทั่วไปอยู่บ้าง โดยเฉพาะ “วิธีการสื่อสาร” ตัวอย่างเช่น การสอนท่าทางและบุคลิกภาพระหว่างเล่นเครื่องดนตรี เนื่องจากมองไม่เห็น ทำให้ต้องติดตั้งกระจกภายในห้องเรียนเพื่อให้เด็กๆ ดูบุคลิกภาพของตัวเองและปรับปรุงตามคำแนะนำ
“ในแต่ละเทอม มีบ้างที่ต้องรบกวนให้ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นมาดูความถูกต้อง บางครั้งก็ให้นักเรียนที่เป็นนักดนตรี ซึ่งมีความสามารถเฉพาะทางกว่านักเรียนทั่วไปมาช่วยดูแล”
นอกเหนือจากความรู้ในแง่วิชาการแล้ว เขายังหวังเห็นเด็กมีจริยธรรมและเติบโตเป็นมนุษย์ที่ดีเยี่ยม
“คนเราจะสมบูรณ์ได้ไม่ใช่แค่วิชาการดี แต่นิสัยต้องดีด้วย มีความกระตือรือร้นใคร่เรียนและต่อยอด นี่คือความสำเร็จในการเป็นครูที่ผมวางเป้าหมายเอาไว้”
สถิติผู้พิการในประเทศไทย ปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,041,159 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.08 ของประชากรทั้งประเทศ โดยผู้พิการตาบอด ถือเป็นลำดับ 3 โดยมีจำนวน 204,012 คน
พวกเขาเรียกร้องให้ภาครัฐออกแบบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องจากคนพิการนับเป็นส่วนหนึ่งของประชากรไทย
“เรามีระบบการเลือกตั้งที่เอื้อให้คนพิการไปเลือกตั้งได้ ก็หวังว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยเหลือผู้พิการให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่ยากเย็น นโยบายจากรัฐบาลต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อการอยู่ในสังคมอย่างกลมกลืน”
นิลเห็นว่ารัฐต้องคิดในภาพใหญ่เกินกว่าแค่เหตุการณ์เฉพาะหน้า เพราะหากทำให้คนพิการสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ก็นับเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
ปู้ย้ำชัดว่า ผู้พิการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อาจเป็นเพื่อนหรือเป็นคนในครอบครัวของใครหลายคน พวกเราเพียงต้องมอบชีวิตปกติให้แก่เขา
“เขาไม่ได้ต้องการการสงเคราะห์เสมอไป เขาแค่ต้องการให้สังคมเข้าใจ มีโครงการสร้างพื้นฐานที่ดี เอื้อให้ความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้”
ทั้งคู่ยังฝากให้หน่วยงานและบริษัททั้งของรัฐและเอกชน กล้าจ้างงานผู้พิการมากยิ่งขึ้น
“สาเหตุสำคัญที่เขากลัว เพราะขาดความเข้าใจ เช่น ไม่รู้จะสื่อสารยังไง จะสร้างงานให้ยังไง ทั้งที่จริงพัฒนาและเรียนรู้กันได้” ยอดนักดนตรีทิ้งท้าย