ไม่พบผลการค้นหา
ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงานกับพวก ปลด ‘สมชาย’พ้นปลัดแรงงานออกจากราชการ ย้ำ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนคดีประมาทเลินเล่อ

วันที่ 14 ก.ย. 2565 ที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีการนัดอ่านคำพิพากษา คดีที่ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ยื่นฟ้องกระทรวงแรงงาน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงแรงงาน (อ.ก.พ. กระทรวงแรงงาน), คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-5 

กรณีกระทรวงแรงงาน มีคำสั่งที่ 39/2552 ลงวันที่ 21 ม.ค. 2552 ลงโทษปลด สมชาย ออกจากราชการ โดยอ้างว่า เหตุปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จากเหตุขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม พิจารณาสั่งระงับเรื่องไม่ดำเนินคดีกับ 'ประมาณ ตียะไพบูลย์สิน' อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และ 'มานิตย์ สุธาพร' อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี ที่ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม 70 ล้านบาท จากการขายทอดตลาดที่ดินของศาลจังหวัดธัญบุรี ทั้งที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่าการคืนเงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ทางราชการเสียหาย

ต่อมา สมชาย ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว แต่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 พิจารณายกอุทธรณ์

สมชาย เผยว่า คำสั่งลงโทษทางวินัยปลดออกจากราชการ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง 4 ประเด็น คือ

1. เพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ 39/2552 ลงวันที่ 21 มกราคม 2552 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

2. เพิกถอนมติการประชุม อ.ก.พ. กระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

3. เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เรื่องดำที่ 5210006 เรื่องแดงที่ 0012155 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4

4. เพิกถอนมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการประชุมครั้งที่ 61/2551 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ที่ลงมติว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิด ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ศาลปกครอง -88F2-43D4-99B0-24E850FAFBB9.jpegสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ศาลปกครอง 9-630405DAC124.jpeg

สำหรับคดีนี้ เป็นการยื่นฟ้องตรงต่อศาลปกครองสูงสุดโดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาของศาลปกครองกลาง เนื่องจากเป็นคดีปกครองที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด 

ต่อมาศาลปกครอง ได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งปลด สมชาย จากปลัดกระทรวงแรงงาน โดยศาลชี้ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดฐานประมาทเลินเล่อ

หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น สมชาย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช ไม่มีอำนาจในการไต่สวนตนเลย และให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงานที่สั่งให้ตนออกจากราชการ ซึ่งตนดีใจมาก เพราะเป็นข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตมาโดยตลอด ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยอะไร แต่ชื่อเสียงต้องมาเสียไปตลอดมา 20 ปี กับเรื่องที่ไม่สมควร วันนี้จึงถือว่าได้รับยุติธรรมกลับคืนมา ได้กลับมาเป็นข้าราชการที่บริสุทธิ์ 

"ผมเป็นคนที่อะไรสามารถให้อภัยได้ก็ให้อภัย ไม่ได้มีความรู้สึกอาฆาตมาตร้าย แต่คดีนี้ทำให้ตนซึ่งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ถือว่าเป็นผู้นำด้านความยุติธรรม ต้องตกมาเป็นผู้ที่ถูกไล่ออก เพราะถูก ป.ป.ช. ชี้ว่าผิดวินัยร้ายแรง ประมาทเลินเล่อ ถือว่าร้ายแรงที่สุดของคนที่เป็นข้าราชการ แต่วันนี้ถือว่าได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา ซึ่งขอดูคำพิพากษาก่อนว่าจะสามารถพิจารณาดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยความเสียหายได้อย่างไร" สมชาย กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสังเกตว่า การเดินทางมาฟังคำพิพากษาของ สมชาย ในครั้งนี้ ได้มีการปรากฎตัวของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมเดินทางมารับฟังด้วย 

ธาริต -B681-49CB-93BF-F847D2ECF5B1.jpegธาริต -FBF8-4A95-9CB4-CE3FC6057D37.jpeg

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 5 ในคดีที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธาริต และพวก ในคดีร่วมกันกระทำความผิดฉันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต 

อีกทั้งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา จากการทำความเห็นสมควรสั่งฟ้อง อภิสิทธิ์ กับพวก ในข้อหาสั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตังเองว่า นปช.เมื่อปี 2553 โดยการนัดอ่านคำพิพากษาดังกล่าว ธาริต ไม่ได้เดินทางไปศาล โดยอ้างว่าตนติดเชื้อไวรัสโควิด-19