ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มบีบีเอส แถลงความพร้อมเดินหน้าโครงการสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบิน หลังลงนามสัญญาโครงการเรียบร้อย ไม่ห่วงแม้ศูนย์ซ่อมอากาศยาน และรันเวย์ 2 มีความล่าช้า จะไม่กระทบต่อการลงทุนใดๆ พร้อมเจรจาสายการบินพันธมิตรที่มีกว่า 100 สายการบินทั่วโลกเปิดเส้นทางบินอู่ตะเภา

วันนี้ (23มิ.ย.63) บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ที่มีการร่วมทุนระหว่างบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แถลงข่าวถึงความพร้อมลงทุนในลงทุนในโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังจากได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนอย่างเป็นทางการกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา

เปิดแผนธุรกิจสนามบินอู่ตะเภา

นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บมจ.การบินกรุงเทพ กล่าวว่า ที่สนใจในการลงทุนสนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากมองว่าอนาคตสามารถพัฒนาอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินได้ตามแผน ส่วนการชะลอของศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ยืนยันว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการ ซึ่งบริษัทไม่สามารถตอบได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ยืนยันบริษัทมีสิทธิในพื้นที่เพื่อสร้าง โรงซ่อมเครื่องบินขนาดเล็กมีอยู่แล้ว ที่บริษัทสามารถลงทุนทำได้ ขณะเดียวกันบริษัทมีเป็นพันธมิตรกับสายการบินต่างชาติกว่า 100 บริษัท จะสามารถเจรจรเข้ามาเปิดเส้นทางการบินในสนามบินอู่ตะเภา 

เปิดแผนธุรกิจสนามบินอู่ตะเภา
  • คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า ราคาที่ประมูลพิจารณาอย่างรอบคอบ แม้จะมีการมองว่าการลงทุนในเม็ดเงินมหาศาล แต่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นระดับที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทฯ ได้เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนในการสร้างระบบเชื่อมต่อการเดินทางภายในโครงการให้เชื่อมต่อกับระบบการขนส่งภายนอกทุกระบบรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน และมองว่าโครงการนี้ไม่ได้มีเพียงสนามบิน แต่ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน โดยเฉพาะเมืองการบิน และ Free Trade Zone ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ สร้างมูลค่าให้กับโครงการได้และมั่นใจว่าผลตอบแทนที่เสนอให้รัฐเป็นตัวเลขที่มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริง

เปิดแผนธุรกิจสนามบินอู่ตะเภา
  • ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

ขณะที่นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งเป็นทางวิ่งที่มีความยาว 3,500 เมตรนั้น กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ยังอยู่ระหว่างการออกแบบและจัดทำรายงาน EHIA อาจะมีความล่าช้า และจะกระทบการออกหนังสือเริ่มต้นโครงการ (NTP) ยืนยันว่า กลุ่มบีบีเอส ยืนยันว่าไม่มีความกังวลในส่วนนี้ เนื่องจากในส่วนของการออก NTP ไม่ต้องรอให้ทางวิ่งที่ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนประกาศเชิญชวนผู้ที่จะเข้ามาก่อสร้างก็สามารถที่จะออก NTP ได้แล้ว โดยเชื่อว่าภาครัฐจะสามารถออก NTP ให้เริ่มต้นโครงการได้ภายในระยะเวลา 18 เดือนตามกำหนด 

อู่ตะเภา.jpg

ทั้งนี้สำหรับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กลุ่มบีบีเอส ได้จะจัดทำแผนพัฒนาโครงการจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะโดยในระยะแรกจะมีอาคารผู้โดยสารพื้นที่ 157,000 ตารางเมตร ซึ่งจะสร้างเสร็จภายในปี 2567 รองรับผู้โดยสารได้เกือบ 16 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารซึ่งมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 107 ,000 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จปี 2573 โดยจะรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปีซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จประมาณปี 2585 และในระยะที่ 4 จะมีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพิ่มขึ้นซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2598 หรือรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

โดยประเมินผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับโครงการนี้ รัฐจะได้ผลประโยชน์ ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรกของสัมปทาน พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบิน เทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี