ไม่พบผลการค้นหา
เซบาสเตียน ปิเญรา อดีตประธานาธิบดีชิลี 2 สมัย และมหาเศรษฐีอันดับต้นของประเทศ เสียชีวิตแล้วจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก

“เราเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ต้องประกาศการเสียชีวิตของอดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐชิลี” แถลงการณ์จากสำนักงานของปิเญราระบุเมื่อวันอังคาร (6 ก.พ.) พร้อมระบุเสริมว่า ปิเญราในวัย 74 ปี เสียชีวิตในสถานที่พักผ่อนยอดนิยมของชิลีอย่าง ลาโก รังโก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่พักของเขาออกไปประมาณ 920 กิโลเมตรทางใต้ของกรุงซานติอาโก

แคโรไลนา โตฮา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชิลี ยืนยันการเสียชีวิตของอดีตประธานาธิบดีชิลี โดยยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุของอุบัติเหตุในทันที ทั้งนี้ SENAPRAD หน่วยงานภัยพิบัติแห่งชาติของชิลียืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บ 3 ราย โดยรัฐบาลชิลีไม่ได้ระบุชื่อผู้ที่อยู่บนเฮลิคอปเตอร์ในช่วงเกิดเหตุทันที

กาเบรียล บอริก ประธานาธิบดีชิลีฝ่ายซ้ายคนปัจจุบัน ซึ่งรับตำแหน่งต่อจากปิเญราหลังจากการชนะการเลือกตั้ง ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจ พร้อมกันกับการประกาศให้ชิลีมีการไว้ทุกข์เป็นเวลา 3 วัน จากความสูญเสียในครั้งนี้

ปิเญราเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชิลี ประเทศของเขามีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว รวมถึงอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างมากในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกเมื่อปี 2553 ถึง 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศคู่ค้าและเพื่อนบ้านของชิลีหลายชาติเผชิญกับการเติบโตที่ช้าลงอย่างมาก ทั้งนี้ ปิเญราลงจากตำแหน่งด้วยการสร้างงานในชิลีมากกว่า 1 ล้านตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี ชิลีในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่ 2 ของเขาระหว่างปี 2561 ถึง 2565 กลับเต็มไปด้วยการประท้วงอย่างรุนแรงต่อปัญหาความไม่เท่าเทียม ซึ่งนำไปสู่การกล่าวหาว่ารัฐบาลชิลีมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก่อนที่การประท้วงจะจบลงด้วยการที่รัฐบาลให้คำมั่นที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ปิเญราเป็นเศรษฐีอันดับ 5 ของชิลี โดยเขามีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ ปิเญรายังเคยทำงานเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยหลายแห่งเป็นเวลาเกือบ 20 ปี และเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารพัฒนาภายในอเมริกาและธนาคารโลก

ในฐานะนักธุรกิจระหว่างช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1990 ปิเญราทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ เขาถือหุ้นในสายการบินหลักๆ เช่นเดียวกับบริษัทโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และไฟฟ้า ปิเญรายังก่อตั้งบริษัทบัตรเครดิตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในชิลี ก่อนที่ในปี 2552 ปิเญราได้ส่งมอบการบริหารธุรกิจของเขาให้กับผู้อื่นแทน

ปิเญราเข้าสู่การเมืองโดยเป็นตัวแทนชุดอุดมการณ์ฝ่ายขวากลาง ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากพลเรือนในระบอบการปกครองของทหาร ในเวลาเดียวกัน เขาได้ถอยตัวเองออกจากการปกครองของนายพลเอากุสโต ปิโนเชต์ ระหว่างปี 2516-2533 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกล่าวหาว่ามีประชาชนฝ่ายซ้ายมากกว่า 3,000 คนถูกสังหารหรือ "หายตัวไป"

ปิเญราลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีชิลีถึง 3 ครั้ง โดยในปี 2549 ปิเญราแพ้การเลือกตั้งให้แก่ มิเชล บาเชเล นักการเมืองหญิงฝ่ายสังคมนิยม จากนั้นในปี 2553 ปิเญรากลับมาเอาชนะการเลือกตั้งจาก เอดูอาร์โด ไฟร หลังจากช่วง 4 ปีของการดำรงตำแหน่งในวาระแรกของปิเญรา ในปี 2561 เขาได้รับชัยชนะในอีกวาระไปจากคู่แข่งพรรคอิสระฝ่ายซ้าย

ก่อนหน้าการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชิลีของปิเญราเป็นวาระแรก 12 วัน ชิลีประสบกับเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.8 ตามมาด้วยการเกิดสึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 525 ราย คลื่นยักษ์และเหตุแผ่นดินไหวยังได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางตอนกลางตอนใต้ของชิลี

วาระของรัฐบาลปิเญราถูกเลื่อนออกไปเพื่อดำเนินการฟื้นฟูประเทศในวาระฉุกเฉิน ต่อมาในปี 2553 ปิเญรายังเป็นผู้นำการช่วยเหลือคนงานเหมือง 33 คนซึ่งติดอยู่ด้านล่างเหมืองแห่งหนึ่งของทะเลทรายอาตากามาเป็นเวลา 69 วัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ดึงดูดความสนใจจากคนทั่วโลก ก่อนที่เหตุการณ์นี้กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง The 33 ในปี 2557


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2024/2/6/chile-ex-president-sebastian-pinera-dies-in-helicopter-crash?fbclid=IwAR1AMOR1E8HRSWZwCm2XXLSthbAFwdvYZmE0434fCDgT8Vg5g7sZ1-f0thk