นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน จึงสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องตามติดแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่อ่างทองอย่างใกล้ชิด ภายหลังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ที่กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร จึงสั่งการให้กรมชลประทานหาแนวทางให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำน้อยเพิ่มเป็น 20 ลบ./วินาที ทำให้มีน้ำสำหรับทำการเกษตรได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรพอใจกับมาตรการช่วยเหลือ และจำเป็นต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำและหมุนเวียนการส่งน้ำเพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่นาปีที่ได้เพาะปลูกแล้ว โดยได้มีการเพิ่มการระบายน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อย เข้าสู่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำชลประทานในเขตจังหวัดอ่างทอง จากเดิมที่อัตรา 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีฝนตกลงพื้นที่จังหวัดอ่างทอง จึงทำให้มีปริมาณน้ำมากขึ้น สามารถไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวของเกษตรกรที่ปลูกได้ ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปีในช่วงนี้ ได้มีการทำความเข้าในและขอความร่วมมือเกษตรกรให้รอฝนตกสม่ำเสมอก่อน ตั้งแต่กลางเดือนก.ค.2563 เป็นต้นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมาย จะสามารถทำการเพาะปลูกได้
ด้านการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคเกษตร ได้เร่งดำเนินการแก้ไขและปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยทางกรมชลประทานได้จัดสรรน้ำและหมุนเวียนการส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และส่งน้ำให้กับพื้นที่นาปีที่ได้เพาะปลูกแล้ว โดยได้มีการเพิ่มการรับน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อย จากอัตรา 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (0.86 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน) เป็น 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (1.73 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน) เพิ่มการรับน้ำคลองชัยนาท-ป่าสัก จากอัตรา 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (1.73 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน) เป็น 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (2.16 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน) และเพิ่มการรับน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีน จากอัตรา 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (1.30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน) เป็น 21 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (1.81 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน)
สำหรับการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ทำให้มีปริมาณน้ำในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีแล้ว จำนวน 3.01 ล้านไร่ ซึ่งรวมถึงในส่วนของจังหวัดอ่างทองด้วย สำหรับพื้นที่ส่วนที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีอีกจำนวน 5.09 ล้านไร่ ขณะนี้ในบางพื้นที่เมื่อฝนเริ่มตกสม่ำเสมอก็สามารถทำการเพาะปลูกได้