ทำให้ ‘บิ๊กน้อย’พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หลุดจากหัวหน้าพรรค โดยว่ากันว่าปมใหญ่มาจากการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละพื้นที่
ทั้ง ‘บิ๊กน้อย-ผู้กองมนัส’ ต่างมีคนของตัวเอง รวมทั้งกลุ่ม 15 กก.บห. ก็มีคนของตัวเอง ความคุกกรุ่นนี้ก่อตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนสถานการณ์จะสุกงอมนำมาซึ่ง ‘ปฏิบัติการยึดพรรค’
แม้ว่า ‘บิ๊กน้อย’ น้องรัก ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองว่าเป็น ‘ตัวแทน’ ของ พล.อ.ประวิตร ไปดูแลพรรคเศรษฐกิจไทย จะออกจากพรรคมาแล้ว แต่ท่าทีของพรรคเศรษฐกิจไทย ก็ไม่ได้แข็งกร้าวต่อฝั่งรัฐบาล
เห็นได้จากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่สุดท้ายก็ไม่ได้เล่น ‘บทบู้’ กับฝั่งรัฐบาล และโหวตไปทางเดียวกับรัฐบาล เป็นไปตามที่ พล.อ.ประวิตร ประกาศลั่นกลางที่ประชุม ครม. ว่างบจะผ่านแน่นอน รวมทั้งรัฐบาลจะผ่านศึกซักฟอกไปได้ และจะอยู่ครบเทอม สะท้อน ‘บารมี’ ของ ‘หลวงพ่อป้อม’ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ที่ยังไม่เสื่อมมนต์ขลัง เป็นเกมที่ยังเหนือ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ
ช่วงที่ผ่านมา ‘กลุ่ม 16’ หรือกลุ่มพรรคเล็ก ได้จับมือกับ ร.อ.ธรรมนัส ในการเดินเกมการเมือง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองต่างๆ แต่ก็เป็นในรูปแบบตามสถานการณ์เท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วท่าทีของกลุ่ม 16 ที่นำโดย ‘พิเชษฐ สถิรชวาล’ กับ ‘พีระวิทย์ เลืองลือดลภาค’ ก็เดินเกมคุย ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ ด้วย ดังนั้นท่าทีของกลุ่ม 16 ก็คือการ ‘วางสมดุล-ระยะห่าง’ เพื่อต่อรองการเมืองเช่นนี้ต่อไป โดยมี ‘บิ๊กป้อม’ เป็นตัวเชื่อมสำคัญ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ก็ย้ำว่ายังคงรักและเคารพ พล.อ.ประวิตร เช่นเดิม แต่การเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แทรกแซงกันไม่ได้
ทั้งนี้ในสังคมทหาร โดยเฉพาะรุ่นพี่ของ ร.อ.ธรรมนัส รุ่นก่อน ตท.25 ต่างเฝ้ามอง ‘ผู้กองมนัส’ ในฐานะรุ่นน้องเช่นกัน ด้วยความโลดโผนเช่นนี้ ก็ต่างมองเห็น ‘ชะตากรรม’ ของ ‘น้องนัส’ ในอนาคต ซึ่งในช่วงเวลานี้ ตท.23-24-25 เตรียมรับไม้ต่อขึ้นคุมกำลังจาก รุ่นพี่ ตท.20-21-22 ในกองทัพ ที่ทยอยเกษียณฯ เป็นช่วงรอยต่อ รบ.ประยุทธ์ พอดีที่จะครบวาระ 4 ปี มี.ค.66
แต่ก็มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมพิจารณา ‘ยุบสภา’ ช่วงหลังประชุมเอเปค เดือน พ.ย. 2565 เสร็จสิ้น ซึ่งกระแสข่าวดังกล่าวก็เคยเป็นข่าว ช่วงต้นปี 2565 ว่า อาจมีการยุบสภาหลังปีใหม่ 2566 เพื่อเป็นของขวัญไปด้วยเลย แต่จากคำพูด ‘บิ๊กป้อม’ ที่รับประกันว่า ‘อยู่ครบเทอม’ กลางวง ครม. ก็สะท้อนว่า รบ. ยังคงประคองทัพได้จนจบปี 65
สำหรับทิศทางของพรรคเศรษฐกิจไทยจะชัดเจน หลังการประชุมพรรค ตั้ง กก.บห.ชุดใหม่ และ ร.อ.ธรรมนัส ขึ้นเป็น หัวหน้าพรรคฯ เอง วันที่ 10 มิ.ย.นี้
โดยเฉพาะจุดยืนต่อ ‘ศึกซักฟอก’ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติต่อสภา ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แบบลงมติ กับรัฐมนตรีรายบุคคล 15 มิ.ย. 2565นี้ การที่ พล.อ.วิชญ์ พ้นจาก ศท. ก็เท่ากับว่า ร.อ.ธรรมนัส มีความอิสระมากขึ้น และที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส ก็ขีดเส้นแบ่งชัดเจนในความสัมพันธ์กับ ‘บิ๊กป้อม’ ในเรื่องการเมือง-การบริหารพรรค
แต่ลึกๆแล้ว ร.อ.ธรรมนัส ก็มีความเกรงใจ พล.อ.ประวิตร จึงอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร จะพูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส อย่างไร ทั้งนี้ในช่วงอภิปราบงบฯ ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สงวนท่าทีไม่ปะทะหรือเติมน้ำมันเข้ากองไฟ โดยกล่าวเพียงว่า “อย่าเพิ่งมองไปไกล” สะท้อนว่ายังคงต้องมีการ ‘เจรจา-ต่อรอง’ กันอีก
แม้ว่าสายสัมพันธ์ระหว่าง ‘ผู้กองมนัส-บิ๊กน้อย’ จะแยกทางกัน สะบั้นสายสัมพันธ์ 30 ปี ผ่าน ‘เสธ.ไอซ์’พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต ตท.10 นายทหารผู้กว้างขาง ที่เป็นรุ่นพี่ที่ ร.อ.ธรรมนัส เคารพอย่างยิ่ง แม้ว่า พล.อ.วิชญ์ ตท.11 จะเป็นนายทหาราบ แต่ก็มีความใกล้ชิดกับ ‘ก๊วนทหารม้า’ ของ ‘เสธ.ไอซ์’ จึงเป็นจุดเชื่อมสัมพันธ์ทั้งหมดนี้
ย้อนกลับไปยุคที่ ร.อ.ธรรมนัส ถูกขึ้นแบล็คลิสต์ต้นๆ หลัง คสช. ทำการรัฐประหาร 22พ.ค.57 ก็ได้รับความช่วยเหลือจาก พล.อ.ประวิตร โดยช่วงหลังรัฐประหารปี 57 ร.อ.ธรรมนัส ก็โลว์โปร์ไฟล์มาตลอด จนมาร่วมทัพทำพรรค พปชร. ถือเป็นช่วงเวลาที่ ร.อ.ธรรมนัส ขาขึ้นสูงสุดในชีวิต ได้มีแสงสปอร์ตไลท์ส่อง เป็นคีย์แมนให้กับ ‘บิ๊กป้อม’ ในการคุยกับพรรคเล็กจัดตั้งรัฐบาล ถึงขั้นเปรียบตัวเองเป็น ‘เส้นเลือดใหญ่’ หล่อเลี้ยงรัฐบาลมาแล้ว
รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจาก ‘บิ๊กป้อม’ จนได้เป็น รมช.เกษตรฯ และขึ้นเป็นเลขาธิการ พปชร. ในฐานะมือขวาของ ‘บิ๊กป้อม’ ดังนั้นการดำรงอยู่ของ ร.อ.ธรรมนัส ก็เป็นแรงเสริมบารมีอีกทางให้กับ ‘บิ๊กป้อม’ ด้วย ทว่าอีกด้านหากวันหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ไม่มีสปอร์ตไลท์ส่องถึง จะมีชะตากรรมอย่างไร รุ่นพี่ ตท. ของ ‘ผู้กองนัส’ ก็มองกันว่าอาจโดนเช็กบิลก็เป็นได้
ในช่วงรัฐบาลเลือกตั้ง อำนาจของ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้เบ่งบานเท่ายุค คสช. เพราะไม่ได้คุม สตช. และเหล่าทัพ เช่นเดิม อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายไปอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งหมด หรือแม้แต่การคุมกระทรวงสำคัญต่างๆ ทำให้ พล.อ.ประวิตร ถูกตีกรอบอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น เข็มทิศทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร จึงเบี่ยงไปทาง ‘บริหารอำนาจ’ ในฐานะ ‘ผู้จัดการรัฐบาล’ แทน
สะท้อนถึงเกมการเมืองที่ พล.อ.ประวิตร ยังคงมีเหนือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ที่ทั้ง ‘2ป.’ กำลังเผชิญในเวลานี้คือผลพวงจากกระแส ‘ชัชชาติฟีเวอร์’
และ ‘แลนด์สไลด์’ ภาคแรก ของขั้วฝ่ายค้าน ในสนาม กทม. ที่ผ่านมา ทำให้ทั้ง ‘3ป.’ ต้องกลับมาผนึกกำลังอีกครั้ง
เพราะฝ่ายกองเชียร์ ‘3ป.’ ต่างมองว่าเป็นผลมาจากปัญหาของพี่น้อง ‘3ป.’ ที่ยังเคลียร์ไม่จบไม่นิ่ง รวมทั้งกระแส ‘เบื่อลุง’ ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลเลือกตั้งสนาม กทม. ออกมาเช่นนี้
อีกทั้งลามไปถึง ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ที่โดนกระแส ‘เบื่อลุง’ เล่นงานไปด้วย ทำให้พรรคการเมืองที่อยู่ใน ‘ขั้วอำนาจทหาร’ อยู่ในสภาวะถูก ‘บอนไซ’ ไปในตัวเอง
ระยะเวลาอีกราว 9 เดือนนับจากนี้ จึงต้องจับตาว่า ‘3ป.’ จะแก้เกมอย่างไร ท่าทีของ ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ จะวางสมดุลท่าทีอย่างไร ท่ามกลางศึกสายเลือด จปร. ระหว่าง ‘พลเอก-ร้อยเอก’ ที่เป็นอีกตัวแปรสำคัญของเกมนี้ !!