"โรงเรียนควรเลิกใช้นักเรียนมาสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง เพราะการให้ความสนใจกับเด็กเฉพาะกลุ่มคงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องนัก" รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวถึงธรรมเนียมของหลายโรงเรียน ที่ติดป้ายประกาศชื่นชมเฉพาะเด็กที่สอบติดเข้าคณะและมหาวิทยาลัยชื่อดัง
เมื่อเด็กๆ แต่ละคนนั้นเก่งไม่เหมือนกัน มีความถนัดและความต้องการที่แตกต่าง การโชว์ออฟ ประคบประหงมหรือให้ความสำคัญแต่กับ 'เด็กเรียนดี' นั้นอาจไม่ยุติธรรม เหมือนที่ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เคยบอกว่า
"โรงเรียนส่งเสริมแต่เด็กไม่กี่คนที่เก่งเพื่อให้เป็นวิศวะ เป็นหมอ แล้วเด็กที่เหลือเป็นร้อยเป็นพันจะให้เขาเป็นหมาเหรอ"
การโฆษณาประชาสัมพันธ์ยกย่องความเก่งกาจนำไปสู่การเปรียบเทียบ แรงกดดัน สร้างค่านิยมบางอย่างให้กับเด็กและผู้ปกครองบางกลุ่ม
"ฉันต้องเข้าที่นี่ให้ได้ ที่นี่คือสถานที่ๆ คนยอมรับนับถือ พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นแล้วก็อาจมีส่วนในการกดดันเคี่ยวเข็ญให้เด็กประสบความสำเร็จในแบบที่ลูกคนอื่นเป็น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ลูกตัวเองรัก ชอบหรือถนัด" รศ.ดร.เอกชัย บอก
"วิ่งเข้าหาแต่มหาวิทยาลัยเด่นดัง ทั้งที่อาจประสบความสำเร็จได้หากคุณเลือกเรียนอาชีวะ"
ข้อมูลส่วนตัว ใบหน้าและชื่อ-นามสกุลของเด็กบางคน ยังอาจนำไปสู่เรื่องราวไม่คาดฝัน เช่น การเขม่นหมั่นไส้กันระหว่างเด็กนักเรียน , ตกเป็นเป้าของอาชญากรที่หวังผลประโยชน์จากเด็กบางคน ซึ่งครอบครัวมีฐานะดี อยู่ในชนชั้นสูง มีอำนาจในท้องถิ่น เรื่องเหล่านี้จุดชนวนขึ้นได้
ป้ายโฆษณาความสำเร็จของบางโรงเรียนถูกติดยาวเหยียดเต็มรั้ว “ผมนึกว่างานวัด” รศ.ดร.เอกชัย เปรียบเทียบ และคิดว่าเป็นการใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ แม้จะอ้างผลประโยชน์ในเชิงแรงบันดาลใจ แต่เขาคิดว่าน่าจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่า
"ถ้าติดป้ายชื่นชมกันเองในโรงเรียน ในห้องนิทรรศการหรือห้องประวัติศาสตร์ของโรงเรียนแบบนั้นไม่มีปัญหา"
โรงเรียนจำนวนมากในไทย เลือกสร้างป้ายชื่อขนาดใหญ่โตมโหฬารเพื่อบอกว่า "โรงเรียนฉันชื่ออะไร" ซึ่ง รศ.ดร.เอกชัย บอกว่า มันสะท้อนให้เห็นว่าเราอาจให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์มากเกินคุณค่าและสิ่งที่เรากำลังทำอย่างแท้จริง
"ในต่างประเทศ บางโรงเรียนป้ายเล็กนิดเดียว แค่ให้รู้ว่าเป็นโรงเรียน แต่ของเราเน้นเปลือกมากไปหน่อย ป้ายต้องใหญ่ รั้วต้องสวย แต่แก่นที่หมายถึงวิชาการความรู้ คุณธรรม จริยธรรมและความเป็นมนุษย์ เราดันให้ความสำคัญน้อย"
เขาแนะนำว่า แทนที่สร้างภาพลักษณ์ด้วยป้ายขนาดใหญ่ เน้นให้นักเรียนพัฒนาจิตใจสาธารณะ มีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนโดยรอบพื้นที่ สังคมจะรับรู้ถึงความสำเร็จของโรงเรียนได้มากกว่า
"ขับรถ 2 นาทีกว่าจะพ้นป้ายชื่อและรั้วโรงเรียน เขาคิดว่านี่คือภาพลักษณ์ ทั้งที่จริงๆ คือควรเด่นที่ห้อง" ประธาน กพฐ.เปรียบเทียบว่าเหมือนสร้างบ้านให้คนชมแต่ความสวยงามด้านนอก ภายในคนอยู่กลับไม่มีความสุข ข้าวของเครื่องใช้ไม่พร้อม
"การลงทุนเพื่อการศึกษานั้นต้องเป็นประโยชน์จริงๆ ดีกว่าแค่ประชาสัมพันธ์ สร้างชื่อเสียงให้ผู้ใหญ่ในโรงเรียนเท่านั้น" เขาบอกด้วยรอยยิ้มว่า ความเห็นทั้งหมดแค่ข้อเสนอ ไม่ได้เป็นนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ
เมื่อถามถึง 'วิธีคิดของคุณครู' ในโลกสมัยใหม่ควรเป็นอย่างไร อ.เอกชัย ตอบทันทีว่า "อย่าไปคิดแทนเด็ก" ทั้งเรื่องพื้นฐานอย่างทรงผม การตัดสินใจโดดเรียน สถานที่ที่พวกเขาชอบไป เราควรทำหน้าให้เหตุผลประกอบ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้และรับผิดชอบเอง
"เราต้องปล่อยเขา เพียงแต่ให้อยู่ในระดับไม่เป็นภัยต่อตัวเอง" เขายกตัวอย่าง
"เรื่องสารวัตรนักเรียน ที่คอยไปเดินดูตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านเกม พอเจอนักเรียนในเครื่องแบบ ก็จะเข้าไปถามว่ามาทำไร ทำไมไม่อยู่ในโรงเรียน เรื่องแบบนี้ยุคหนึ่งอาจเหมาะสม แต่วันนี้ต้องคิดใหม่ ทำไมคุณต้องไปกำหนดด้วยว่า เวลานี้ต้องอยู่ในโรงเรียน
"เขาจะไปอยู่ห้างทั้งวัน มันอนาคตเขาอะ คุณจะไปดูแลเขาได้ทั้งชีวิตเหรอ ทำไมเราไม่ถาม ไม่สอนเขาว่าไปแบบนั้นได้อะไร อยู่ที่นี่ได้อะไร
"บอกให้เขาเข้าใจว่า ชีวิตเขาต้องการอะไรอย่างมีเหตุมีผล เขาจะเรียนรู้เองว่า เวลาที่มีคุณค่าเพื่อชีวิตที่เขาต้องการ คือแบบไหน เราไม่จำเป็นต้องไปบอก ไปสั่ง ไปลงโทษ ไอ้คนนี้ที่วันๆ หนึ่ง มันหลบออกไป เพราะครูสอนไม่สนุก ไปอยู่แต่ร้านเกม อนาคตอาจกลายเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งมากๆ ก็ได้"
อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารการศึกษา ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำว่า อย่าไปกดดัน คาดหวังให้เด็กเป็นอย่างที่เราคิด เพราะพวกเขาควรเป็นอย่างที่อยากเป็น ที่สำคัญคืออย่ากลัวว่าเขาจะทำผิดพลาดไปบ้าง
"กลัวเขาถือจานแตก เขาไม่ได้ถือหรอก แต่ถ้าเขาทำแตกเราต้องสอนเขาว่าถือยังไงไม่ให้แตก ไม่ต้องรอให้โตก่อนค่อยถือ ผมว่าเรียนรู้จากประสบการณ์ดีกว่าเรียนรู้จากที่เราสั่ง"
เมื่อเร็วๆ นี้ อ.เอกชัย เพิ่งรับรู้เรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงคลื่นลมความเปลี่ยนแปลงและทางเลือกใหม่ๆ ในการศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายให้ครูต้องพัฒนาตัวเอง คิดใหม่ ทำใหม่ ไม่ปล่อยให้อาชีพตัวเองอยู่ในขาลง
"ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง มีเด็กนักเรียนเดินมาหา ผอ.แล้วบอกว่า ผมขออนุญาตไม่เข้าเรียนวิชานี้นะ แต่ถึงเวลาสอบเมื่อไหร่ผมจะมา ได้คือได้ ตกคือตก ที่เลือกแบบนั้นเพราะเขาบอกว่า สิ่งที่ครูสอนไม่ได้แตกต่างจากกูเกิลเลย"
เขาทิ้งท้ายว่า ผู้บริหารโรงเรียนและบรรดาครูรับรู้ความเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ของโลก อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาคือ ขาดการสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง
"บางคนคิดได้ แต่ไม่อยากปฏิบัติเพราะไม่อยากวุ่นวาย การเปลี่ยนแปลงมันยุ่งยาก เจออะไรที่มันต้องมานั่งแก้ ทำแบบเดิมดีแล้วไม่มีปัญหา อยู่ในคอมฟอร์ตโซน ไม่เหนื่อยด้วย เสี่ยงน้อยที่สุด ทุกอย่างมันก็เลยออกมาเหมือนเดิม" รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :