ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ หนองคาย ผ่าตัดคนไข้ป่วยนิ่วถุงน้ำดี พบก้อนนิ่ว 1,898 เม็ด มากสุดทุบสถิติที่เคยผ่าตัด แนะผู้ป่วยปวดท้อง ท้องอืด เรื้อรัง อัลตราซาวด์ช่องท้องอาจพบก้อนนิ่ว คนอีสานป่วยมากสุด

วานนี้ (21 ส.ค.) ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นพ.วัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เปิดเผยผลการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีของผู้ป่วยรายหนึ่ง เป็นคนไข้ชายอายุ 61 ปี พบว่ามีก้อนนิ่วมากถึง 1,898 เม็ด โดย นพ.วัฒนา เปิดเผยว่า ปกติแล้วทางโรงพยาบาลได้มีการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีการส่องกล้องทุกวัน วันละ 5-10 ราย ในหนึ่งปีจะผ่าตัดคนไข้นิ่วในถุงน้ำดีประมาณ 1,200 ราย

อย่างไรก็ดี นิ่วในถุงน้ำดีมีหลายประเภท ทั้งเม็ดเล็กๆ หลายเม็ดกระจัดกระจาย หรือเม็ดใหญ่เม็ดเดียว มีได้ทั้งสีดำ สีน้ำตาล สีเหลือง และสีขาว ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของนิ่ว โดยคนไข้รายล่าสุดที่ตนผ่าตัด เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตั้งแต่ตนผ่าตัดมาเมื่อประมาณปี 2537 รายนี้เป็นรายที่พบก้อนนิ่วมากที่สุด ก่อนหน้านี้ในปี 2549 พบ 495 ก้อน และปี 2552 พบ 920 ก้อน

นิ่ว.jpg
  • จำนวนก้อนนิ่วที่แพทย์ผ่าตัดออกมา 1,898 ก้อน

สำหรับสาเหตุของโรคนิ่วในถุงน้ำดี ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากผู้ป่วยมีไขมันสูง แคลเซียมในร่างกายสูง น้ำดีมีการติดเชื้อ หรือท่อน้ำดีมีการอุดตัน เหล่านี้ทำให้เกิดการตกตะกอน โดยยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ยังไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ และโรคนิ่วในถุงน้ำดีพบมากที่สุดในคนอีสาน ประมาณร้อยละ 10 ของประชากรภาคอีสาน

สถิติการผ่าตัดนิ้วในถุงน้ำดีของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ นั้น ในปี 2558 ผ่าตัดจำนวน 861 ราย , ปี 2559 จำนวน 837 ราย , ปี 2560 จำนวน 1,133 ราย และในปี 2561 จำนวนกว่า 1,200 ราย ซึ่งจากข้อมูลจะพบว่ามีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ โรคนิ่วในถุงน้ำดี ร้อยละ 30 จะไม่แสดงอาการ แต่จะพบก็ต่อเมื่อมีการตรวจสุขภาพประจำปี มีการอัลตราซาวด์ตรวจช่องท้อง ขณะนี้มีการรณรงค์เรื่องมะเร็งท่อน้ำดี มีการตรวจอัลตราซาวด์ให้กับประชาชนทั่วไป, ส่วนอีกร้อยละ 30 จะมีอาการปวด แน่นท้อง ท้องอืดบ่อย เหมือนโรคกระเพาะ โดยเฉพาะเวลาที่รับประทานอาหารที่มีโปรตีนหรือไขมันสูง แน่นท้องผิดปกติ, อีกร้อยละ 30 เกิดจากโรคแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วอุดท่อน้ำดี จะทำให้ผู้ป่วยปวดท้องมาก ทางที่ดีประชาชนควรตรวจสุขภาพประจำปี อัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือผู้ที่ปวดท้อง แน่นท้องเรื้อรัง กินยาโรคกระเพาะไม่หาย รักษาไม่หาย ต้องลองอัลตราซาวด์ดู อาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้


แพทย์ชี้ "นิ่วในถุงน้ำดี" พบในหญิงมากกว่าชาย 1-2 เท่า

ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า นิ่วในถุงน้ำดี มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 1-2 เท่า ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง ผู้หญิงที่มีบุตรแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ธาลัสซีเมีย โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก มีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนทั่วไป นิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดี เกิดจากการตกผลึกของหินปูน (แคลเซียม) คอเลสเตอรอล และบิลิรูบิน (สารเคมีชนิดหนึ่งที่ให้สีเหลืองออกน้ำตาล เกิดจากการแตกตัวหรือการตายของเซลล์เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือด) ที่มีอยู่ในน้ำดี 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกผลึกของสารเหล่านี้ เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อของทางเดินน้ำดี และความไม่สมดุลของส่วนประกอบคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในน้ำดี การตกผลึกของสารเหล่านี้อาจทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วเพียงก้อนเดียว หรือก้อนเล็กๆ หลายๆ ก้อนก็ได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่ว 1. ความอ้วน คนอ้วนจะเกิดนิ่วที่มีคอเลสเตอรอล เนื่องจากการบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง 2. การได้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการรับประทานหรือตั้งครรภ์ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง 3. การได้ยาลดไขมันบางชนิด ทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง 4. ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากๆ และ 5. การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายละลายไขมันมากไป

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการของนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่พบอาการผิดปกติแสดงให้เห็นและมักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเช็คร่างกาย บางคนอาจมีอาการท้องเฟ้อบริเวณเหนือสะดือ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายอาการของอาหารไม่ย่อย ซึ่งมักเป็นหลังกินอาหารมันๆ ในรายที่ก้อนนิ่วเคลื่อนไปอุดในท่อส่งน้ำดี จะมีอาการปวดบิดรุนแรงเป็นพักๆ ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวมาที่ไหล่ขวาหรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวา มักปวดนานเป็นชั่วโมงๆ และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย บางคนอาจปวดรุนแรงจนเหงื่อออก เป็นลม อาการปวดท้องมักเป็นหลังกินอาหารมันหรือกินอาหารมื้อหนัก บางคนอาจมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง) เกิดขึ้นตามหลังอาการปวดท้อง การตรวจร่างกายมักไม่พบสิ่งผิดปกติ มักไม่มีไข้ บางครั้งอาจตรวจพบอาการกดเจ็บเล็กน้อยบริเวณใต้ลิ้นปี่และได้ชายโครงขวา 

สำหรับการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านทางช่องท้อง เป็นการผ่าตัดแบบใหม่ โดยการเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าท้อง ถ้าผู้ป่วยไม่มีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านทางช่องท้องสามารถทำได้สำเร็จถึงร้อยละ 95 ทั้งนี้ มีข้อแนะนำว่า ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี แม้จะไม่แสดงอาการ อาจตรวจพบตอนไปตรวจรักษาโรคอื่น แพทย์จะแนะนำให้รับการผ่าตัด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจมีการอักเสบและมีโรคแทรกซ้อนตามมาก็ได้ที่สำคัญโรคนี้ป้องกันได้ด้วยการลดกินอาหารมีไขมัน และการออกกำลังกายเป็นประจำ