ไม่พบผลการค้นหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะประชาชนนำเครื่องวัดความดันโลหิตไปตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หลังผลทดสอบเครื่องวัดความดันฯ ของประชาชน และ อสม. พบเครื่องวินิจฉัยคลาดเคลื่อนเกินเกณฑ์ที่ยอมรับร้อยละ 12.54

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องวัดความดันโลหิตนับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ในการตรวจวัดเพื่อการวินิจฉัยโรค และติดตามอาการของโรค ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการตรวจสอบการทำงานของเครื่องเป็นประจำ และได้รับการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลา หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ค่าความดันที่วัดได้ไม่มีความคลาดเคลื่อนเกินเกณฑ์ที่ยอมรับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการควบคุมค่าความดันโลหิตของประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง

นพ.โอภาส กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยนำเครื่องวัดความดันโลหิตที่ตนเองใช้อยู่ไปตรวจสอบคุณภาพเลย ด้วยเหตุเพราะไม่รู้ว่าจะไปตรวจที่ไหน สถานที่ตรวจสอบอยู่ห่างไกลหรืออาจมีเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ การเดินทางไม่สะดวก ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดทำเครื่องวัดความดันโลหิตปลอดภัยคนไทยสุขภาพดี เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายใต้โครงการ “ใต้ร่มพระบารมี น้อมนำสุขภาพดีสู่วิถีชุมชน” เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชภิเษกฯ เพื่อให้ประชาชนในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ได้รับบริการจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ในการรับบริการตรวจคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิต โดยมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขกลุ่มเป้าหมาย คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยบริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่ใกล้ชิดและเข้าถึงชุมชน ประชาชนเดินทางไปรับบริการได้สะดวก โดยร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำเนินกิจกรรมในโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 – 2563

85252044_606279129930688_135417196401655808_o.jpg

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ได้ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ในการทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติ โดยใช้ชุดทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิตอย่างง่าย (BP Sure) ร่วมกับแอปพลิเคชั่น BP Sure ทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิต แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 8,459 แห่ง สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 78 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 68 แห่ง รวมทั้งสิ้น 8,605 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85.37 จากเป้าหมาย 10,080 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งภายหลังจัดอบรมทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และศูนย์บริการสาธารณสุขได้นำองค์ความรู้ และนำชุดทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิตอย่างง่าย (BP Sure) ไปต่อยอดในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยทำการทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิตของประชาชน และ อสม. ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจำนวนทั้งสิ้น 7,382 เครื่อง พบว่าเครื่องอยู่ในเกณฑ์ปกติ จำนวน 6,456 เครื่อง ไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ จำนวน 926 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 12.54 โดยได้มีข้อแนะนำในการนำเครื่องวัดความดันโลหิตที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติไปปรับใช้แก้ไขให้เกิดประโยชน์

“เครื่องวัดความดันโลหิตของประชาชน หรือของ อสม.ในพื้นที่ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพความแม่นยำ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในผลการวัดของเครื่องวัดความดันโลหิต ซึ่งต่อไปทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะมีการดำเนินการทดสอบคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิตของประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีสุขภาพที่ดี ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานบริการตรวจคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิตฟรี ได้โดยใช้แอปพลิเคชั่น BP Sure ที่ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบในการทำการทดสอบคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิตของประชาชน” นายแพทย์โอภาส กล่าว