สำนักข่าว BBC รายงานว่า จนถึงปัจจุบันนี้พรรคเพื่อไทยยังคงมีคะแนนนิยมทิ้งห่างพรรคคู่แข่ง อันเป็นผลจากความพยายามในการทำให้พรรคเพื่อไทยอ่อนแอลงตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนการทำลายความทรงอิทธิพลของ ทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีด้านโทรคมนาคม ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยในปี 2541
BBC รายงานเสริมว่า รัฐบาลของทักษิณถูกโค่นล้มลงจากอำนาจด้วยการรัฐประหารของกองทัพในปี 2549 ตามมาด้วยการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย โดยอดีตนายกรัฐมนตรีต้องลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศ จากข้อกล่าวหาที่ทางครอบครัวระบุว่ามีแรงจูงใจในทางการเมือง ก่อนที่ในปี 2551 พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบพรรค และนายกรัฐมนตรี 2 คนของพรรคอย่าง สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง
BBC รายงานถึงชะตากรรมของพรรคเพื่อไทยต่อไปว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ถูกศาลตัดสินถอดออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลของเธอถูกกองทัพทำรัฐประหารเป็นครั้งที่สอง โดยปัจจุบัน ยิ่งลักษณ์ยังคงลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในต่างประเทศเช่นกัน
นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งที่นั่งในรัฐสภามากที่สุด แต่กลับถูกขัดขวางจากการจัดตั้งรัฐบาล
BBC ระบุว่าโดยในตอนนี้ พรรคเพื่อไทยมีคะแนนจากผลสำรวจนำ และอยู่ในเส้นทางสู่ชัยชนะอีกครั้งในการเลือกตั้ง ด้วยการส่ง แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของทักษิณขึ้นนำพรรคในฐานะ 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยเธอเพิ่งคลอดบุตรในช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานี้
BBC ชี้ว่า พรรคเพื่อไทยลงท้าชิงในการเลือกตั้งอย่างราบรื่น วางการรณรงค์ด้านการตลาดอย่างดี ดึงดูดความสนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหลายกลุ่ม จากการมีนโยบายที่สัญญาว่าจะมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายเงินดิจิทัลวอลเลท 10,000 บาทแก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปให้สามารถจับจ่ายได้ในพื้นที่ของตัวเอง
"ดิฉันคิดว่าหลังจาก 8 ปี ประชาชนต้องการการเมืองที่ดีขึ้น ทางออกที่ดีขึ้นสำหรับประเทศมากกว่าการทำรัฐประหาร" แพทองธารให้สัมภาษณ์กับ BBC "พวกเขามองหานโยบายที่จะช่วยชีวิตพวกเขา"
"ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่มีพลังทางการเมืองใดจะสามารถเป็นทางเลือกอื่นจากเพื่อไทย ในเชิงของการเสนอนโยบาย ในเชิงของราศีแรงดึงดูด ในความสามารถที่จะสื่อสารไปได้โดยตรงกับประชาชน" สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุกับ BBC
"และด้วยเหตุว่าผลของการทำรัฐประหารในรอบล่าสุด ด้วยสองรัฐบาลทหารหนุนหลัง ซึ่งมีความล้มเหลวอย่างเลวร้ายในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ และการรับมือกับการระบาดใหญ่โควิด ความนิยมของพรรคฝ่ายค้านของพวกเขาอย่างพรรคเพื่อไทยยังคงมีสูง" สิริพรรณระบุ
สิริพรรณระบุเสริมกับ BBC ว่า 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้พรรคการเมืองประสบความสำเร็จในทางการเมืองไทยได้นั้น ประกอบไปด้วยปัจจัยด้านนโยบาย, ตัวบุคคลและเครือข่ายระบบอุปถัมภ์, และคุณค่าทางการเมือง
พรรคเพื่อไทยเข้มแข็งในปัจจัยแรกมาโดยตลอด ทั้งแต่พรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นผู้บุกเบิก ด้วยการรณรงค์หาเสียงแบบทันสมัย และประกาศมอบคำสัญญาทางนโยบาย ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้เสนอนโยบายการรักษาพยาบาลถ้วนหน้า และกองทุนหมู่บ้านเพื่อชุมชนห่างไกล และชุมชนที่มีรายได้ต่ำ โดยชัยชนะของพรรคไทยรักไทยทำให้ตระกูลชินวัตรได้รับการพิสูจน์ว่า พวกเขามีมวลชนที่พร้อมจะลงคะแนนเสียงให้โดยไม่สามารถถูกทำลายได้
ในปัจจัยที่สอง พรรคเพื่อไทยได้สร้างเครือข่ายที่กว้างขวางของตัวแทนผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในการรักษาความนิยมและการลงคะแนนเสียงของมวลชน ในทางตรงกันข้าม พรรคอนุรักษนิยมหลัก 2 พรรคที่ก่อตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหารคนล่าสุดและพรรคพวก ค่อนข้างเป็นพรรคใหม่ และไม่มีเครือข่ายท้องถิ่นที่แข็งแกร่งเช่นพรรคเพื่อไทย
ในปัจจัยที่สาม พรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ในการแสดงว่าตัวเองเป็นทั้งพรรคที่ดูแลประชาชนส่วนน้อย และสนับสนุนประชาธิปไตยของรัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง และประเด็นดังกล่าวกลายมาเป็นสนามหลักในการแข่งขันของวันนี้ โดยพรรคเพื่อไทยชูการหาเสียงว่า หากคุณต้องการยุติการปกครองแบบอนุรักษ์นิยมที่มีทหารหนุนหลัง เราคือทางเลือกที่ดีที่สุดของคุณ
BBC รายงานว่า แต่เวลานี้พรรคเพื่อไทยกำลังถูกตีกรอบ ด้วยค่านิยมทางการเมืองโดยพรรคก้าวไกลที่มีแนวคิดสุดขั้ว และเป็นพรรคที่เป็นของคนรุ่นใหม่กว่า ซึ่งพรรคก้าวไกลกำลังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งต่อโครงสร้างอำนาจของประเทศไทย
BBC ระบุว่าพรรคก้าวไกลต้องการหยุดกองทัพจากการแทรกแซงทางการเมือง จำกัดงบประมาณ ยุติการเกณฑ์ทหาร และแม้กระทั่งเสนอเกี่ยวกับการทำให้สถาบันกษัตริย์มีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยพรรคก้าวไกลให้คำมั่นว่า พวกเขาจะไม่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคใดพรรคหนึ่งที่มีแนวร่วมทางทหาร
ผู้สังเกตการณ์บางรายเชื่อว่าความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคก้าวไกล สามารถกินเข้าไปในคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย แม้ว่าการสนับสนุนของพรรคน้องใหม่จะกระจายไปทั่วประเทศ แทนที่จะเป็นในบางพื้นที่ แต่พรรคก้าวไกลเสียเปรียบจากระบบการเลือกตั้งที่ 80% ของที่นั่งในรัฐสภา จะได้รับเลือกจากผู้ท้าชิงในลำดับที่หนึ่งจากการลงคะแนนเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยกำลังสูญเสียความได้เปรียบด้านนโยบายเช่นกัน เนื่องจากพรรคหลักในการหาเสียงเกือบทุกพรรค กำลังเสนอข้อเสนอทางการเงินที่สร้างความพอใจแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อขจัดเสียงเรียกร้องด้านประชานิยมที่เป็นกุญแจสำคัญ ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมาอย่างยาวนาน
"โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ มรดกของทักษิณในการดำเนินนโยบายในอดีตไม่สะท้อนแสงออกมา" สิริพรรณกล่าวกับ BBC “และอย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกถึง 4 ล้านคน ภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคต่อต้านทหารโดยปริยาย กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างแท้จริงจากพรรคก้าวไกล”
“แต่ดิฉันยังเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะด้วยอัตราส่วนความต่างที่นั่งที่มาก มันยังมีปัจจัยที่สอง คือ เครือข่ายอุปถัมภ์ผ่านผู้สมัครในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคใหม่ ยังไม่ได้จัดตั้งพรรคด้วยสายสัมพันธ์ในลักษณะนี้” สิริพรรณกล่าวเสริม
BBC ระบุว่าคำถามที่สำคัญคือ หากการคาดการณ์ตามผลสำรวจ และพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลสามารถคว้าที่นั่งเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 ที่นั่งไปได้แล้วนั้น พวกเขาจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ โดย BBC รายงานเสริมว่า รัฐสภาไทยยังคงมีวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งจะเข้ามาร่วมลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป อีกทั้งปัจจัยที่ว่าศาลที่เชื่อฟังตามระบอบ ยังสามารถตัดสินยุบพรรคที่มีแนวนโยบายปฏิรูปทั้ง 2 พรรคลงได้อยู่
BBC ระบุทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับทางเลือกว่า ตัวเองควรอยู่ต่อกับระบอบเผด็จการแบบเก่า ซึ่งมองว่าผลการเลือกตั้งเป็นทางเลือก แทนที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกุมอำนาจหรือไม่ หรือประเทศไทยควรหลุดจากวงจรรัฐประหาร การยุบพรรค และความรุนแรงบนท้องถนนที่รุมเร้าประเทศมาตลอดช่วง 2 ทศวรรษกันแน่
ที่มา: