วอชิงตันโพสต์ สื่อเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความชื่อว่า Thailand’s crude mockery of democracy means it doesn’t deserve U.S. aid (ประชาธิปไตยปลอมๆ ทำให้ไทยไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาพาดพิงถึงความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ซึ่งแม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นสมาชิกกองกำลังนาโต แต่ก็ถือเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางทหารแน่นแฟ้นกับกองทัพสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือทางการทหารที่สหรัฐฯ เคยมีให้ไทย หยุดชะงักไปหลังเกิดรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องดำเนินการตามกฎหมายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ
บท บก.ของวอชิงตันโพสต์ระบุว่า ข้อห้ามดังกล่าวจะถูกยกเลิกเมื่อกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ พิจารณาความเหมาะสมและให้การรับรองว่าประเทศที่เคยมีรัฐบาลทหารดังกล่าวได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและมีรัฐบาลพลเรือนตามที่ควรจะเป็น แต่กรณีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งที่ประชุมสภาเพิ่งลงมติรับรองให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ยังไม่นับว่าเป็นการนำประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เนื้อหาใน บท บก.ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทยเอื้อประโยชน์ต่อกองทัพเป็นอย่างมาก เห็นได้จาก ส.ว. 250 คนได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร นำโดยพลเอกประยุทธ์ ส่วนผลการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดในสภา แต่คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปลี่ยนกฎกติกาในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้พรรคที่ประกาศจุดยืนต่อต้านรัฐบาลทหารมีที่นั่งในสภาลดลงถึง 11 ที่นั่ง และไปเพิ่มที่นั่งให้แก่พรรคการเมืองขนาดเล็กที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์แทน
นอกจากนี้ บท บก.ของวอชิงตันโพสต์ระบุด้วยว่า รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ไม่สนใจเรื่องข้อห้ามดังกล่าวของกระทรวงการต่างประเทศมากนัก เพราะที่ผ่านมา เขาไม่ลังเลที่จะร่วมมือทางการทหารกับประเทศที่มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย
ถ้าหากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ประกาศรับรองว่าไทยกลับคืนสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยและมีรัฐบาลพลเรือนอย่างเป็นทางการ ความช่วยเหลือทางการทหารที่เคยถูกระงับไปก็จะถูกรื้อฟื้นกลับมา แต่วอชิงตันโพสต์เตือนว่า ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งใจสนับสนุนให้ไทยกลับสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็จะต้องรอจนกว่าไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ในด้านสิทธิมนุษยชน จึงยังไม่ควรที่จะต้องรีบร้อนประกาศรับรองรัฐบาลไทยในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความช่วยเหลือทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ และไทยจะถูกระงับไป แต่ 'ความร่วมมือ' ด้านการทหารไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น การฝึกซ้อมรบ 'คอบราโกลด์' ก็ยังดำเนินไปตามปกติ และก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มี.ค. บลูมเบิร์กเคยรายงานว่า ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตสหรัฐฯ ประจำไทย เคยให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเตรียมจะขายอาวุธให้ไทยอีกครั้งเมื่อไทยมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง
เหตุผลที่สหรัฐฯ ระงับขายอาวุธให้ไทย ก็เป็นผลจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เช่นกัน แต่การดำเนินการตาม ก.ม. ดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลไทยหันไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนแแทน สหรัฐฯ จึงหวังว่า เมื่อไทยได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็จะมีโอกาสทางการทหารร่วมกับไทยมากขึ้นจนสามารถแข่งขันกับจีนได้
ขณะที่ 'เดอะนิวยอร์กไทม์' เผยแพร่บทวิเคราะห์การเมืองไทย โดยตอนหนึ่งอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ 'ปุรวิชญ์ วัฒนสุข' นักวิชาการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งระบุว่า แม้พลเอกประยุทธ์จะได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่บรรยากาศในรัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงจาก 5 ปีที่ผ่านมา เพราะสมัยที่ยังเป็นรัฐบาลทหาร พลเอกประยุทธ์เป็นผู้เดียวที่มีอำนาจ แต่หลังจากที่มีการเลือกตั้ง ก็จะต้องแบ่งปันอำนาจกับคนอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: