ไม่พบผลการค้นหา
เขตเลือกตั้งที่ 1 ของกรุงเทพมหานคร (พระนคร-ป้อมปราบศัตรูพ่าย-สัมพันธวงศ์-ดุสิต) ถือเป็นจุดสำคัญในแง่การปกครอง เพราะทั้ง ‘เป็น’ และ ‘เคยเป็น’ ที่ตั้งของศูนย์กลางอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ทหาร และสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ซึ่งสร้างเม็ดเงินให้ภาคการท่องเที่ยวอย่างมากมาย

เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เราจึงเห็น ‘เยาวราช’ (อยู่ในเขตสัมพันธวงศ์) จึงกลายเป็นพื้นที่ครึกครื้นด้วย ‘พรรคการเมือง’ ที่มีกำหนดการลงพื้นที่ติดกันวันต่อวัน ชนิดที่ว่าแทบจะขี่คอกันเดิน 

‘วอยซ์’ ชวนสำรวจความเคลื่อนไหวทางการเมืองของแต่ละพรรคที่ขับเคี่ยวกันหาเสียง ประกอบกับเทียบเคียงผลการเลือกตั้ง ส.ก. ที่แม้จะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ถือเป็นการสะท้อนฐานเสียงที่สำคัญต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ในเดือนพฤษภาคมนี้ 


เพื่อไทย : ‘เศรษฐา’ ชิมลาง ‘แพทองธาร’ ควงแขน - ขั้วความสบายใจของ ‘กานต์กนิษฐ์’ 

ตรุษจีนปีนี้ทั้ง ‘แพทองธาร-เศรษฐา’ ออกสตาร์ทกันอย่างฉับไว  ‘อิ๊งค์’ แม้จะลงสนามการเมืองไม่นาน แต่ก็ถือว่าเริ่มเชี่ยว ออกตัวพานักธุรกิจรุ่นใหญ่ตีปีกไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มูลนิธิศาลเจ้าเทียนฟ้า และวัดมังกรกมลาวาศ (วัดเล่งเน่ยยี่) ก่อนจะเดินพบปะประชาชนในพื้นที่

ในแง่ของการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยเคย ‘สมหวัง’ เพียงครั้งเดียวจากการเลือกตั้งปี 2544 แม้ในปี 2548 และ2554 พรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาล แต่พื้นที่สัมพันธวงศ์กลับเป็นของพรรคฝ่ายค้านอย่าง ‘ประชาธิปัตย์’ โดย ‘เจิมมาศ จึงเลิศศิริ’ ที่ชนะเลือกตั้ง ในปี 2554 สอยคะแนนไปกว่า 40,328 เสียง จากจำนวนผู้มีสิทธิในเขตดังกล่าว 107,531 คน หรือคิดเป็น 64% ส่วนเพื่อไทยที่มี ‘พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ เภกะนันทน์’ ได้คะแนนไปเพียงครึ่งเดียวของประชาธิปัตย์คือ 20,230 เสียง คิดเป็น 32% 

แพทองธาร เศรษฐา เพื่อไทย ตรุษจีน เยาวราช M_230121_4.jpg

ส่วนในปี 2562 ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งในภาพรวม แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล พื้นที่ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นถิ่นประชาธิปัตย์ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในกับ ‘พลังประชารัฐ’ โดยมี ‘กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ’ กวาดคะแนนไปถึง 23,246 เสียง จากจำนวนผู้มีสิทธิ 124,830 เสียง คิดเป็น 29% 

ส่วนเพื่อไทยนั้น ‘ลีลาวดี วัชโรบล’ อดีตนักแสดงรุ่นเก๋าหล่นมาที่ 3 ด้วยคะแนน 15,904 เสียง คิดเป็น 20% เพื่อไทยถูกถีบลงมาโดยที่ 2 คือ พรรคอนาคตใหม่ที่ส่ง ‘นพมาศ การุญ’ ซึ่งเฉือนคะแนนไปได้ 18,091 คิดเป็น 22.26% 

ในปี 2562 แม้ว่า ‘กานต์กนิษฐ์’ จะเป็นผู้ชนะ แต่ด้วยจำนวนคะแนนเสียงไม่ได้ทิ้งห่างคู่แข่งมากนัก เพราะการเลือกตั้งในปี 2554 มีพรรคการเมืองลงสนามในเขต 1 เพียง 9 พรรค ส่วนปี 2562 พุ่งขึ้นมาเป็น 30 พรรค เพราะพรรคเล็กพรรคน้อยผุดขึ้นมาด้วยกฎหมายเลือกตั้งบัตรใบเดียว

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่าน อดีตผู้ชนะอย่าง ‘กานต์กนิษฐ์’ ย้ายมาซบ ‘เพื่อไทย’ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ขอทำงานกับพรรคที่สบายใจ” พร้อมขอโทษที่เคยร่วมม็อบ กปปส. 

แพทองธาร เศรษฐา พวงเพ็ชร เยาวราช เพื่อไทย 7DAAEC8F1A1C.jpeg

‘ความสบายใจ’ ที่ว่าอาจมองได้ว่า ‘กานต์กนิษฐ์’ มีความสัมพันธ์กับ ‘เพื่อนหญิงพลังหญิง’ ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายเรื่องชู้สาวของ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ  โดยชี้ว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง 

ฉะนั้นจึงทำให้มองได้ว่า แม้กานต์กนิษฐ์จะหย่าขาดจากชัยวุฒิแล้ว แต่การจะให้ทำงานร่วมกันในสาย ‘ประชารัฐ’ ต่อไปก็คงจะไม่สะดวก หรืออาจด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ก็อย่าลืมไปว่าวันนั้น ‘กานต์กนิษฐ์’ ขายออก เพราะพลังประชารัฐ ‘หุ้นกำลังขึ้น’ ภายใต้แคมเปญ “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่…” 

ไม่แน่ใจว่ายุทธศาสตร์นี้จะทำให้เพื่อไทยได้ ‘สมหวัง’ สักครั้ง เพื่อเติมเต็มฝันแลนด์สไลด์ 310+ จะเป็นไปได้หรือไม่ 


รวมไทยสร้างชาติ : ‘ประยุทธ์’ เจิม ‘เยาวราช’ ดึงอดีตคน ‘เพื่อไทย’ เสริมทัพ 

ในวันที่ ‘ลุงตู่’ เลิกอึกอักแทงกั๊กก็สลัดคราบนายกฯ ที่นิ่งขรึม มาสู่นักการเมืองที่ใกล้ชิดกับประชาชน เห็นได้จากการลงพื้นที่เยาวราชด้วยความมุ่งหวังที่ว่าต้องได้ 25 เสียงรวมกับ ส.ว. ภายใต้ความคิด “2 ปีก็เอาวะ…” หรือจะไปแก้รัฐธรรมนูญอะไรก็แล้วแต่ 

แต่การลงพื้นที่ในวันที่ 22 ม.ค. ครั้งนั้น ถือเป็นการลงพื้นที่นอกเวลาราชการ ไม่มีรถนำขบวน และพลขับประจำ ส.ร.1 มีเพียงแต่รถยนต์เมอร์ซิเดส-เบ็นซ์ รุ่น S600 ทะเบียน ญค-1881 ที่คนขับพาหลงจึงทำให้เดินทางมาช้ากว่ากำหนด ก่อนที่จะเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนเดินอุ้มลูกอุ้มหลานของอาม่า อาอึ้มในพื้นที่ท่ามกลางเสียง “ลุงตู่อยู่ต่อ” สลับ “ตู่ออกไป”

ประยุทธ์ เยาวราช

แม้ว่า รวมไทยสร้างชาติจะเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ ไม่เคยมี ส.ส. ในพื้นที่เขต 1 แต่ในแง่ของมิติทางการเมืองระหว่างรัฐบาล ‘ไทย-จีน’ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่เป็นรองใคร

ไม่ว่าจะเป็น ‘การทูตวัคซีน’ ที่มีการนำเข้าสองวัคซีนจากแดงมังกรอย่าง ‘ซิโนแวค-ซิโนฟาร์ม’ ซึ่งเป็นวัคซีนตัวหลักที่รัฐบาลจัดสรรให้คนไทยในระยะหนึ่ง ซึ่งในช่วงปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีของสองประเทศจะเข้มแข็งขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 เบาบางลง เปรียบเสมือนการโอนอ่อนต่อ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ด้านการสาธารณสุขของจีน ที่มาพร้อมกับยุทธศาสตร์การขยายเขตแดนในเรื่องเศรษฐกิจที่จีนต้องการต่อสู้กับสหรัฐฯ ภายหลังถูกกีดกันทางการค้าด้านเทคโนโลยี

ส่วนความสัมพันธ์ทางด้านกองทัพภายหลัง พล.ประยุทธ์ เข้าสู่อำนาจเมื่อปี 2557 หลังจากนั้นเป็นต้นมาในทุกๆ ปี สหรัฐฯ ได้ประกาศลดขนาดซ้อมรบคอบร้าโกลด์ ทำให้กองทัพไทยต้องหันไปพึ่งจึนมากขึ้นภายใต้เงื่อนไขการเมืองที่ไม่เป็นที่ยอมรับ 

ประกอบกับช่วงการประชุมเอเปค 2022 ที่ไร้การเข้าร่วมของ ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังลงทุนหนุนงบทำป้ายต้อนรับ ‘สี จิ้นผิง’ และเปิดบ้านนรสิงห์ ทำเนียบรัฐบาลต้อนรับการมาเยือนของผู้นำจีนในรอบ 11 ปี หรือจะเป็นการขึ้นหน้า 1 ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2566 ที่เป็นรูป พล.อ.ประยุทธ์ จับมือกับ สี จิ้นผิง พร้อมข้อความ “สานความสัมพันธ์ 48 ปี ไทย-จีน” 

สีจิ้นผิง ประยุทธ์ จีน เอเปค 2022  9FA-9A0CD2B31435.jpeg

กลับมาที่การวางตัวผู้สมัคร คราวนี้รวมไทยสร้างชาติเล่นแสบ ! คว้าข้ามขั้วดึง ‘พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์’ อดีตว่าที่ผู้สมัครซึ่งเพื่อไทยวางตัวไว้ว่าจะให้ลงชิงชัย แต่เมื่อ ‘กานต์กนิษฐ์’ มา ‘พลัฏฐ์’ ก็ต้องหลบ เป็นเรื่องปกติของการเมือง 

สนามการเมืองในพื้นที่ กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติจะยังคงไม่เห็นเค้าลาง เพราะส่วนใหญ่ ส.ส. ที่ย้ายมานั้นมักจะเป็น ส.ส. ในพื้นที่ภาคใต้จากพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน แต่ในแง่ของมิติทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำตัวใกล้ชิดกับจีน ถือว่ามีความเกาะเกี่ยวกันทางอำนาจที่ไม่สามารถแยกจากกันได้

อีกทั้งการคุม กทม. รอบนี้ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ อยู่ในบังเหียนของ ‘ขิง-เอกนัฎ พร้อมพันธุ์’ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตโฆษก กปปส. ที่ย้ำนักย้ำหนาว่า ต้องการสลัดคราบ ‘ประชาธิปัตย์ 2’ ออกจากรวมไทยสร้างชาติ อาจเพราะกลัวซ้ำรอยเดิมที่สังกัดเก่าชวดที่นั่ง ส.ส. ในกทม. ทั้งหมด 


ก้าวไกล : ยุทธการปูมหลัง ‘ลูกหลานคนจีน’ ใกล้ชิดพื้นที่ 

หากเทียบจำนวนผู้มีสิทธิออกมาใช้เสียงเลือกตั้งในเขต 1 ปี 2554 จำนวน 107,531 คน ปี 2562 จำนวน 124,830 จะเห็นว่าในระยะเวลา 8 ปี เพิ่มขึ้นมากว่า 17,000 คน พรรคน้องใหม่มาแรงในการเลือกตั้ง 2562 อย่างพรรคอนาคตใหม่ มาแรงอย่างฉุดไม่อยู่จนได้ไปถึงที่ 2 ในการเลือกตั้ง 

มาวันนี้ก้าวไกลเปิดตัว ‘จาง กวง หมิง’ หรือ ‘บูม-ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์’ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เพื่อหวังคว้าที่ 1 หลัง ‘นพมาศ การุญ’ อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ในเขตนี้พุ่งแซงหน้าเพื่อไทยจนคว้าชัยที่ 2 

แม้ว่าเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา ทางก้าวไกลซึ่งนำโดย ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรค จะลงพื้นที่พบปะประชาชนในย่านเยาวราช แต่ก็ยังไม่วายที่จะมาประชันหน้ากับขบวนของ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ตรงบริเวณทางเข้าวัดเล่งเน่ยยี่ 

พิธา ปารเมศ ก้าวไกล ตรุษจีน F7405E26E5.jpeg

งานนี้ทำเอา ‘พิธา’ เล่นบทหน้านิ่ง แต่ ‘พิจารณ์’ รองหัวหน้าพรรค ก็ตะโกนสู้ “ฝากพรรคก้าวไกลไว้กับประชาชน” พร้อมด้วยซือเจ๊ตัวฟาดอย่าง ‘อมรัตน์’ ก็เดินตรงไม่ทักทายปลีก ‘พีระพันธุ์’ หัวเรือรวมไทยสร้างชาติที่ยืนยิ้มสู้ ก่อนที่จะมีเสียงตะโกน “รวมไทยสร้างชาติๆ” ตามมาเป็นระลอก ก่อนที่ ‘ปารเมศ’ จะรีบจ้ำเอ้าให้พ้นขบวน

แต่ถึงอย่างนั้นตัวตนของ ‘ปารเมศ’ ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นทั้งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. คนรุ่นใหม่ตามสไตล์พรรคก้าวไกล ดีกรีอดีตนักเรียนกฎหมายภาคภาษาจีน จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น กรุงเซี่ยงไฮ้ โดยมีเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นชาว ‘เยาวราช’ โดยตรง เพราะอากงอาศัยอยู่ตรอกโรงหมู และเป็นลูกหลานคนจีนซัวเถา แซ่เตีย รุ่นที่ 3 อีกทั้งเป็นคณะทำงานวิเทศสัมพันธ์ ไทย-จีน ของพรรคก้าวไกล 

จากท่าที และสถานการณ์ของการเผชิญหน้ากันโดยบังเอิญที่เยาวราชของทั้ง ‘ก้าวไกล-รวมไทยสร้างชาติ’ อาจเป็นการขับเคี่ยวอย่างเมามันของก้าวไกลก็เป็นได้ เพราะทาง หัวหน้าพรรคก็ประกาศชัดว่าจะไม่ร่วมจับมือ หรือสังฆกรรมกับพรรคทหารในนาม ‘ประชารัฐ-รวมไทยฯ’ 

น่าเสียดายอย่างเดียวตรงที่ ‘เยาวราช’ ในช่วงที่ ‘ก้าวไกล-รวมไทยสร้างชาติ’ มาเจอกันพอดี ไร้เงาของ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ศัตรูตัวฉกาจของสวนส้มที่มัวแต่หลงทางจนมาไม่ทันกำหนดการ 

 

พลังประชารัฐ : ‘ป้อม-มือ-ปาด’ กวาดคะแนนเสียงเรียบ ? 

ไปไม่บอก ไม่กล่าว ไร้กล้อง ไร้ไมค์ ไร้คำถาม 

สำหรับ ‘พล.อ.ประวิตร’ พี่ใหญ่ 3 ป. ที่ย่องเงียบไปเยาวราชในช่วงบ่ายของวันที่ 22 ม.ค. ซึ่งเป็นกำหนดการที่ไม่แจ้งให้สื่อมวลชนทราบ โดยที่เจ้าตัวต้องการจะไปแบบส่วนตัวเป็นกันเองกับประชาชน แต่กลับมี ‘ธิชดล สกุลนำ’ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ เดินประกบข้างด้วย 

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ ‘พี่ป้อม’ แซงหน้า ‘น้องตู่’ ที่มีกำหนดไปอยู่แล้วเพียง 3 ชั่วโมงเศษ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ก็มีหลายครั้งที่ สองพี่น้อง แอบหยิกหลังกันไปมาผ่านการลงพื้นที่ 

ประวิตร เยาวราช ตรุษจีน -3E56-4BBE-986E-6D5C6F182A06.jpeg

เอาอย่างใกล้สุดคือวันที่ 17 ม.ค. พล.อ.ประวิตร ลาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนจะไปโผล่อีกทีอยู่ที่ ‘ราชบุรี’ เพื่อไปพูดคุยกับ ‘วิวัฒน์ นิติกาญจนา’ นายก อบจ.ราชบุรี สามีของ ‘บุญยิ่ง นิติกาญจนา’ ส.ส.ราชบุรี พลังประชารัฐ โดยมี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐติดสอยห้อยตามไปด้วย โดยเป็นการพูดคุยเชิง ‘ดึงรั้ง’ ให้บ้านใหญ่เมืองโอ่งอยู่พลังประชารัฐต่อ 

แต่ในเขต 1 ‘พลังประชารัฐ’ กลับเสีย ‘กานต์กนิษฐ์’ ที่ตอนนี้พลิกขั้วไปทางพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย แต่ทั้งนี้ก็คงต้องจับตาดูว่า ‘บิ๊กป้อม’ จะเดินเกมส์อย่างไรต่อไปในพื้นที่กทม. หลังจากที่ ‘จั้ม-สกลธี ภัททิยกุล’ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และ ‘อาจารย์แหม่ม-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ คัมแบ็คมาคุมพื้นที่ กทม. พร้อมเปิดตัวนโยบาย ‘บ้านประชารัฐ 360 องศา’ และเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ก็ยังได้คุมทัพนำปราศรัยใหญ่เปิดตัวขุนพล กทม. ที่ลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) 


ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ : สองเฉด ‘น้ำเงิน-ฟ้า’ นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว 

จะเรียกว่า ‘คลื่นใต้น้ำ’ ได้หรือไม่สำหรับสองพรรคนี้ เพราะในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาทั้ง ‘ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์’ ก็ไม่ได้ไปร่วมสักการะ หรือลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชน

ว่ากันที่ ‘ภูมิใจไทย’ ซึ่งดูด ส.ส. กทม. ของพลังประชารัฐ เสริมทัพด้วย ‘พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์’ ที่นั่งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเข้าเปิดตัวที่พรรคอย่างเป็นทางการ พร้อมหอบหิ้วทีมงาน ‘ภูมิใจไทย ภูมิใจกรุงเทพฯ’ และคนรุ่นใหม่ไปสมัครสมาชิกพรรคอีก 10 กว่าคน ด้วยความมุ่งหวังที่จะเจาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ ให้ได้ 

สำหรับพื้นที่นี้ในการเลือกตั้งปี 2562 คราวนั้นพรรคภูมิใจไทยส่ง ‘ทวีพร อนุตรพงษ์สกุล’ แต่ก็ไม่บรรลุเป้า ได้ไปเพียง 806 เสียง หรือเพียง 1% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น จึงถือเป็นงานยากที่ทางพรรคภูมิใจไทยก็ ‘เรื่อยๆ มาเรียงๆ’ สำหรับสนามเมืองกรุง 

ภูมิใจไทยS__1695877.jpg

แต่ในปี 2566 ภูมิใจไทยจะเล่นบท ‘เอาจริง’ เพราะคว้าตัว ‘สิริอร ม้ามณี’ เซเลปคนดังที่โดดมาเล่นการเมืองพร้อมมาเดินหน้าตอกเสาเข็มตามความหวังของว่าที่นายกฯ ‘หนู’ ด้วยนโยบายที่ต้องการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนเมืองกรุงฯ ดูแลแบบฟรีๆ 24 ชั่วโมง 7 วัน ยิ่งกว่าร้านสะดวกซื้อ 7-11

คงไม่อาจมองข้าม ‘ประชาธิปัตย์’ ซึ่งในเขตนี้ตัวประชาธิปัตย์เองสามารถรักษาเก้าอี้ได้ตั้งแต่ปีการเลือกตั้งปี 2548, 2550 และ 2554 ด้วยชื่อของ ‘เจิมมาศ จึงเลิศศิริ’ ก่อนจะมาหยุดที่ ‘กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ’ ในปี 2562 เป็นฝ่ายของพลังประชารัฐ 

ในสายตาคนนอกอาจมองว่าประชาธิปัตย์ประสบกับปัญหา ‘เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่แข็งแรง’ จนทำให้เกิดภาวะ ‘เลือดไหล’ อยู่หลายระลอก แต่หากวัดกันในกทม. ภายหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประชาธิปัตย์ก็ทำคะแนนไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยหักปากกาเซียนที่คาดกันตลอดว่า ‘ก้าวไกล’ มาเป็นที่ 2 

สุชัชวีร์ วทันยา ประชาธิปัตย์ 86B-FDE345106F52.jpeg

แต่ ‘เช้าวันใหม่’ ของประชาธิปัตย์ย่อมมีเสมอ เพราะ ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ในนามประชาธิปัตย์ ก็เข้าวินมาที่ 2 ด้วยคะแนน 254,723 เสียง เฉือนแซงหน้าตัวเต็งลำดับรองอย่าง ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ไปเพียง 758 เสียง 

และในการเลือกตั้ง 2566 นี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังได้ ‘เจิมมาศ จึงเลิศศิริ’ อดีต ส.ส. 3 สมัยกลับมาร่วมทัพเหมือนเดิม ภายใต้การนำของ ‘องอาจ คล้ามไพบูลย์’ ผสานกับ ‘มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค’ และ ‘พี่เอ้-สุชัชวีร์’ จึงดูเหมือนว่าตอนนี้หุ้นของประชาธิปัตย์กำลังจะกลับมาหรือไม่ ? 


ผลเลือกตั้ง ‘ส.ก.’ สะท้อนสกอร์ ‘ส.ส.’ : หรือ ‘ประชาธิปัตย์’ จะฟื้นคืนชีพ ?  

การแบ่งเขตการเลือกตั้ง ส.ก. และ ส.ส. นั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่ง ส.ก. จะแยกเป็นรายเขตตามการปกครอง โดยเขตที่อยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 คือ ‘พระนคร-ป้อมปราบศัตรูพ่าย-สัมพันธวงศ์-ดุสิต’ หากขยายผลเลือกตั้ง ส.ก. ในแต่ละเขตจะพบว่า 

  • เขตพระนคร ผู้ชนะคือ ‘ศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม’ พรรคก้าวไกล 
  • เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ผู้ชนะคือ ‘นิภาพรรณ จึงเลิศศิริ’ พรรคประชาธิปัตย์ 
  • เขตสัมพันธวงศ์ ผู้ชนะคือ ‘พินิจ กาญจนชูศักดิ์’ พรรคประชาธิปัตย์ 
  • เขตดุสิต ผู้ชนะคือ ‘ศิริพงศ์ ลิมปิชัย’ พรรคเพื่อไทย 

ข้อสังเกตคือ 1 ใน 4 เขตนี้ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ได้ชัยชนะไปถึง 2 ที่ อีกทั้งรองอันดับ 1 ของทุกเขตยังเป็น ‘พรรคก้าวไกล’ อีกด้วย จึงไม่แน่ว่า ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือน ‘ประชาธิปัตย์’ อาจจะรุกคืบกลับมาทวงพื้นที่หลัง ‘มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค’ เข้ามามีบทบาทในการทำพื้นที่กรุงเทพฯ มากขึ้น  

แต่ถึงอย่างนั้น ‘ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์’ หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์กับ ‘วอยซ์’ ถึงผลการเลือกตั้ง ส.ก. ว่า การเมืองของกรุงเทพฯ ในระดับชุมชน (ส.ก.) นั้น มีจำนวนไม่น้อยที่โวตเตอร์เน้นตัวบุคคลของผู้สมัคร และมีความชัดเจนว่า แพทเทิร์นของ ‘สีเสื้อ’ ในกรุงเทพฯ มันไม่ได้เปลี่ยน 

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

รวมถึง ผศ.ดร.พิชญ์ ยังระบุว่า แม้คนจะมองว่าประชาธิปัตย์อาจสูญพันธุ์ในกทม. ตลอดกาล แต่การได้ตัว ‘สุชัชวีร์’ มานั้น ถือเป็นความสำเร็จที่ไม่ต้องพึ่งพิง ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เพียงอย่างเดียว 

แม้ในกทม.จะไม่จำเป็นต้องพึ่งพิง ‘อภิสิทธิ์’ แต่ในการเมืองภาพรวมของประเทศที่เน้น ‘จุดยืน-อุดมการณ์’ การหวนคืนมาของ ‘นายกฯ มาร์ค’ ก็ดูท่าจะเป็นความหวังของประชาธิปัตย์ไม่น้อย เพราะในการประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ อภิสิทธิ์ ก็มาร่วมประชุมพรรค บวกกับกระแสการเมืองภายในพรรคที่ต้องการล้ม ‘จุรินทร์’ ก็มาแรงจนเกิดอาฟเตอร์ช็อกไประยะหนึ่ง 

นี่จึงเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการเลือกตั้งในเขต 1 ของกทม. ที่ไม่รู้แน่ชัดว่าหลังจากนี้อีก 2 เดือนเศษ ‘กระสุน’ พรรคไหนจะถูกเหลาจนแหลม และสามารถคว้าใจเอาชัยชนะเข้าสภาได้กันแน่ ของแบบนี้อยู่ที่ ‘ศักดิ์ศรี’ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชญ์’ วิเคราะห์ผลเลือกตั้งผู้ว่า - ส.ก.โยงการเลือกตั้งใหญ่ การตัดสินใจทางการเมือง 3 ระดับของผู้เลือกตั้ง

ทัตตพันธุ์ สว่างจันทร์
คนหาข่าวการเมืองประจำทำเนียบฯ-องค์กรอิสระ-กระทรวงมหาดไทย เนิร์ดเรื่องการเมืองวัฒนธรรม-วาทกรรมการเมือง-เบียร์
18Article
0Video
0Blog