เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 อัรฟาน ดอเลาะ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไท (The Children and Youth Council of Thailand) พร้อมคณะเข้าพบ สส. พรรคเพื่อไทย นำโดย ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ วรวงศ์ วรปัญญา สส.ลพบุรี เพื่อหารือถึงแนวทางการผลักดันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนขึ้นบ่อยครั้ง สร้างความกังวลให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา เพื่อลดปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา รวมไปถึงการหารือถึงโอกาสในการเข้าร่วมผลักดันการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติมองว่าฝ่ายนิติบัญญัติมีบทบาทสำคัญ
ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมองเห็นความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน และตระหนักถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งนำมาสู่ผลกระทบต่อจิตใจและร่างกายของนักเรียนและบุคคลากรทางการศึกษา ซึ่งข้อเสนอของสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติที่อยากให้หน่วยงานเกี่ยวกับสุขภาพทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเสริมงานด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของทุกคนในโรงเรียน ป้องกันและบรรเทาปัญหาความรุนแรงต่าง ๆ เป็นเรี่องที่น่าสนใจ หากมีโอกาสก็จะพิจารณาในการผลักดันในส่วนนี้ รวมทั้งอาจมีการปรับหลักสูตรและวิธีการสอนให้เน้นความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน สร้างความตระหนักให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาถึงวิธีการฟังอย่างลึกซึ้ง การเคารพตนเอง เคารพซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างการลดปัญหาความรุนแรงในสังคมต่อไปด้วย ในส่วนของการผลักดันการลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครองด้านต่าง ๆ การลดภาระของครู เพื่อส่งเสริมให้ครูได้ทำหน้าที่ในการสอนอย่างเต็มที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและกำลังดำเนินการอยู่ในหลายด้าน ซึ่งล่าสุดในเรื่องการลดภาระเรื่องครูเวรก็เป็นส่วนหนึ่ง
ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาความเท่าเทียมด้านการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญที่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลให้ความสำคัญมาตลอด อีกทั้งตระหนักถึงปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพและปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ จึงเห็นควรที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาสภาพแวดล้อมของการจัดการศึกษาให้เป็นการศึกษาของทุกคน เป็นการศึกษาที่เข้าถึงได้จริง ไม่สร้างภาระให้ผู้เรียนและผู้ปกครอง ที่สำคัญคือเข้ามาแล้วจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่มีความรุนแรง ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิภาพ คนที่เคยหลุดออกจากระบบการศึกษาจะสามารถกลับมาได้และไม่มีใครหลุดออกไปอีก โดยการพัฒนาสภาพแวดล้อมของการจัดการศึกษานี้จะต้องครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบโรงเรียน รวมถึงการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อส่งเสริมให้เกิด การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ด้วย